xs
xsm
sm
md
lg

‘สมชาย’หนุนแก้ ม.291‘เสรี’หวั่นยัดไส้ร่าง นปก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมชาย" ไม่เข้าใจการเมืองใหม่ แต่พร้อมหนุนแก้ ม.291 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.3 ระบุ ส.ส.ร.ควรมาจาก 2 ทาง "เลือกตั้งโดยตรง" และ "ตัวแทนกลุ่มอาชีพ" พร้อมปฏิเสธแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ "แม้ว" อ้างทำไม่ได้ประชาชนจับตามองอยู่ ด้าน "เสรี" หวั่นรัฐบาลลักไก่ยัดไส้ร่าง นปก. จุดชนวนวิกฤติ เช่นเดียวกับ "หมอชูชัย" ที่ห่วงมีการซุกแก้ ม.237,309 ,190 หนียุบพรรค อุ้ม"ทักษิณ"พ้นผิด ท้า "น้องเขยแม้ว" เจตนาดีต้องประกาศไม่แก้ 3 มาตรา เรียกร้อง 24 อธิการบดีช่วยชาติต่อ "หมอประเวศ" ขออยู่วงนอก ไม่ร่วม กก.ปฏิรูปการเมือง กลัวเหมือน กอส. ฝ่ายค้านจี้รัฐบาลประกาศจุดยืน สร้างความเชื่อมั่นให้สังคม

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงมติ ครม. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ครม.ไม่ได้ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนยืนยันเสมอว่า การปกครองของเราต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการพูดกันหลากหลาย มีความคิดแตกแยก แต่ตนไม่ค่อยเข้าใจ การเมืองใหม่เพราะไม่ได้มีการศึกษา แต่รู้แนวทางของเราต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างนี้ รวมถึงข้อเสนอจากหลายฝ่าย ทั้งข้อเสนอของอธิการบดี 24 สถาบัน แต่ว่าทุกคนพูดทำนองว่าเป็นการปรับปรุงการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากพูดเรื่องการเมืองมาก อยากทำงานเยอะๆ แต่ที่พูดเพราะกลัวว่าหลายฝ่ายจะไม่รู้แนวคิดรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร

นายกฯ เผย ส.ส.ร.3 มาจาก 2 ทาง

"เราเห็นวัตถุประสงค์ตรงกัน คือปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เพื่อดูว่า แนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นอย่างไรก็ว่าไป ความจริงรัฐธรรมนูญ บอกให้แก้ได้ แต่ไม่อยากพูดเพราะคิดว่ามันเลยเวลาที่จะพูดแล้ว ทีนี้ทุกฝ่าย อยากให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งความคิดของรัฐบาลไม่ได้คัดค้านให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่อยากให้ประชาชนทั้งประเทศ มีส่วนร่วมรวมถึงผู้สื่อข่าวด้วย"

นายสมชาย กล่าวว่า การที่ประชาชนมีส่วนร่วมต้องให้โอกาส โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ออกมาในภาพที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ ทั้งประเทศอย่างใน ปี 2540 หรือ 2550 มีคณะชุดหนึ่งมาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกลไก ชี้วิถีทางการเมือง ถ้าคิดว่าประชาชนทั้งประเทศเลือกตัวแทนของเขาขึ้นมาเพื่อดูแล ปรับปรุง อาจเลือกมาโดยตรงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงอาจจะ ซึ่งรายละเอียดจะยังไม่ชัดเจน แต่แนวทางจะเป็นอย่างนี้ นอกจากนั้นอาจเลือกมาจากลุ่มอาชีพ กลุ่มวิชาการ หรือเลือกมาจากกลุ่มตัวแทนประชาชนแปลว่าทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม

โยนให้สภาเป็นโต้โผใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะให้ใครเป็นโต้โผ นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุน แต่เรื่องทั้งหมดจะเป็นเรื่องของสภา ขณะนี้สภามีตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศมาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นส่วนหนึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่รับฟังความคิดเห็นของใครเลย แต่ถ้าเป็นความเห็นของประชาชนก็ต้องเป็นประชาชนที่มีสิทธิ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการแก้ไข มาตรา 291 แล้วจะให้กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฏร หยุดดำเนินการหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ขัดอะไรกัน ทางสภาดำเนินการไปได้ ตามที่ศึกษาอยู่แนวทางออกมาเป็นอย่างไร แม้ว่าจะออกมาไม่ตรงกันทีเดียว แต่ถ้าอยู่ในความรู้สึกที่ว่าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม คงต้องมีแนวไปอย่างนั้น เราเป็นรัฐบาลสนับสนุนแนวคิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางเดิมที่จะให้ ส.ส. และส.ว. เป็นคนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสภาฯพับไปแล้วใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่าไม่ใช่พับหรือไม่พับ แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เขียนไว้ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร แต่มีหลายฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญก็ว่ากันไป ไม่ว่าอะไรแต่เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ถ้าไม่อยากให้มีการแก้ในสภา แล้วมีความคิดหลากหลายขึ้นมา ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่แนวคิดรัฐบาลถ้าเป็นแบบนี้น่าจะให้การสนับสนุน เพราะเป็นระบอบประชาธิปไตยประชาชนมีสิทธิจะเลือก

ต่อข้อถามว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองโดยด่วนใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ด่วนหรอก แต่เป็นกระแสคิดจากประชาชนหลายฝ่าย ความคิด หลากหลายคิดว่าน่าจะปรังปรุงให้ดีขึ้น ส่วนรัฐบาลมีแนวคิดอย่างไร เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายสภาจะจัดการไป ส่วนหากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยแล้วออกมาเคลื่อนไหวโครงการนี้จะพับไปหรือไม่ นายสมชาย หัวเราะก่อนจะกล่าวว่า "ประชาชนซิครับ ที่พูดอยู่"

ยันแก้ รธน.ไม่เอื้อประโยชน์ใคร

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจพ่วงการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกการเมืองที่กำลังจะถูกยุบนั้น นายสมชาย กล่าวว่า มันเอื้อไม่ได้หรอก มันล้าสมัยไปแล้ว ประชาชนทั่วประเทศดำเนินการผ่านสภา เป็นไปไม่ได้ที่จะทำอะไรเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง คิดว่า มันไม่ใช่อยู่ๆทำได้ ตนมั่นใจว่าจะทำได้ เคารพในหลักกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รัฐสภา สิทธิเสรีภาพ และคะแนนเสียง หรือเสียงจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแนวคิดของ ส.ส.ร.ชุดใหม่แตกต่างไปจากที่นายกรัฐมนตรี พูดจะสนับสนุนหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด ต้องดูกรอบ นโยบายต่อไป เมื่อถามว่า เชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะหาทางออกทางการเมืองได้จริงๆ นายสมชายกล่าวว่า ถ้าเรามีเจตนารมย์ก็สามารถแก้ได้

ปักหมกเม็ด-ยืดอายุรัฐบาล

นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานทำหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.3 รัฐบาลไม่มีจุดประสงค์ที่จะหมกเม็ดหรือยึดอายุตัวเอง เพราะคนของรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องใน ส.ส.ร. ส่วนที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลทำเพื่อยืดอายุรัฐบาลนั้น ความจริงก็คือรัฐธรรมนูญกำหาดให้รัฐบาลอยุ่ครบ 4 ปี ตอนนี้เหลืออีก 3 ปี รัฐบาลยังคงอยู่ต่อไปได้ การเสนอให้ตั้งส.ส.ร. จึงเป็นการทำโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้การหมกเม็ดใดๆ ทั้งสิ้น

"นายกฯ ได้ประกาศไปแล้วว่าจะยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ควรมาจากทุกสาขาอาชีพ ผ่านกานสรรหาอย่างเป็นธรรม ขอยืนยันว่าสุดแล้วแต่สภาฯ จะพิจารณา รัฐบาลจะไม่เป็นผู้ริเริ่มในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่ามาตราใด รวมทั้ง 291 แต่รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่ง"

ให้นำผลศึกษา กมธ.ไปพิจารณาด้วย

สำหรับความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายสุขุมพงษ์ กล่าวว่า พิจารณาเสร็จแล้วร้อยละ 90 เหลือพิจารณาอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 6 ต.ค.และ 13 ต.ค. โดยในวันที่ 15 ต.ค.จะทบทวนรายงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งรายงานทั้งหมดได้ทันกำหนดการทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 17 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตามหากมีการตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมา กรรมาธิการฯ คงไม่มีสิทธิ นำผลการศึกษาไปเสนอ ส.ส.ร.เพราะผลการศึกษาเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่เชื่อว่า ส.ส.ร.น่าจะนำผลการศึกษาของกรรมาธิการไปพิจารณาด้วย

"เสรี"หวั่นลักไก่-สอดไส้ร่าง นปก.

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม สสร.50 กล่าวว่าไม่แน่ใจว่า การปฏิรูปการเมืองด้วยการตั้ง ส.ส.ร.3 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะสถานการณ์ ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะจบแบบไหน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาพอสมควร แนวทางดังกล่าว เหมือนจะดูดี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ญัตติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยส.ส.รัฐบาล และกลุ่ม นปก.ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอเข้าสภา ยังค้างการพิจารณา ของสภาอยู่ อาจถูกนำมาปัดฝุ่นลักไก่นำไปพิจารณาแก้ไขรวมไปด้วย เพราะหากมีการนำญัตติที่ค้างไว้มาพิจารณารวมเข้าด้วยกัน ก็จะมีการแก้ไขในมาตรา 190 237 และ 309 ซึ่งยังเป็นปัญหาถกเถียงกันสังคมอยู่ อาจกลายเป็นวิกฤติขึ้นมาอีก

"หมอชูชัย"หนุนแนวคิด 24 อธิการ

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติให้แก้ไข มาตรา 291 ด้วยการตั้ง ส.ส.ร.3 นั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังนำสังคมไทยเข้าสู่ความรุนแรงอีกครั้ง เพราะมีเจตนาแฝง ที่ประชาชนต่างรู้ว่า รัฐบาลของพรรคพลังประชาชน พยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ,237 และ 309 เพื่อหนีการถูกยุบพรรค และช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากการติดคุก ซึ่งผู้นำรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น นายสมัคร สุนทรเวช หรือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่เคยกล้าที่จะประกาศตัวว่าไม่เป็นความจริง สังคมไทย จึงไม่มีความไว้วางใจรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน กลุ่มพันธมิตรฯจึงยังชุมนุมต่อไป

"การตั้ง ส.ส.ร.3 หากใช้กระบวนการแบบเดียวกับปี 2540 โดยเลือกกันเอง จากแต่ละจังหวัดให้ได้ 10 คน แล้วสภาคัดเลือก 1 คน สิ่งที่จะได้ก็คือ ส.ส.ร. ภายใต้ การควบคุมของพรรคพลังประชาชน และหากจะใช้วิธีการเดียวกับปี 2550 ก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลนี้มีทุนทางสังคมต่ำ ดังนั้นการหยิบข้อเสนอจากอธิการบดี 24 แห่ง มาพิจารณาสังคมจะยอมรับมากกว่า"

จี้ประกาศไม่แก้เพื่อตัวเอง-ช่วย"แม้ว"

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ 1.ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ,309 และ 190 เพื่อให้ตนและพวกพ้องพ้นผิด 2.ให้หลักประกันต่อ "คณะกรรมการอิสระต่อการปฏิรูปการเมือง การปกครอง" โดยผ่านกฎหมาย รองรับ คณะกรรมการอิสระชุดนี้ มีงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่ และให้ระบุว่า ให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการไปทำประชามติเพื่อนำผลประชามติไปสู่การปฏิรูปการเมือง การปกครองต่อไป

"ผมขอเรียกร้องให้อธิการบดีทั้ง 24 แห่ง แสดงบทบาทนำทางสังคมต่อไป โดยเปิดพื้นที่หรือเวทีสาธารณะทั่วประเทศให้ประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ นักวิชาการ นักธุรกิจมาร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยร่วมกันพิจารณาว่าจะปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างไร เช่น วางกฎกติกา วิธีการให้ได้นักการเมืองที่โกงน้อยที่สุด สามารถถูกตรวจสอบได้ง่าย จะปฏิรูปการปกครองให้รวดเร็ว เที่ยงธรรมอย่างไร โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ อัยการ ข้อเสนอเหล่านี้สามารถนำไปเสนอต่อคณะกรรมการอิสระ หากทำเช่นนี้สังคมไทยจะก้าวพ้นวิกฤติ และเกิดการปฏิรูปในทุกด้าน"

"หมอประเวศ"ขออยู่วงนอก

นายวิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลังจากที่อธิการบดี 24 สถาบัน ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่เป็นคนกลาง มาแก้ปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้งในสังคม ทางกลุ่มอาจารย์ ได้เข้าพบ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เพื่อทาบทามให้เป็นประธานกรรมการ แต่นพ.ประเวศ มองว่า แม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่จะได้ผลยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้รัฐบาลแต่งตั้ง เกรงจะเป็นเหมือนสมัยที่ได้ไปร่วมงานกับ กอส. ที่ทำอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายรัฐบาลไม่รับไปปฎิบัติ ท่านจึงบอกว่า ขออยู่ข้างนอกเขียนบทความ คอยให้คำปรึกษา ดีกว่าเข้าไปอยู่ข้างใน

นอกจากนี้ นพ.ประเวศ ยังแนะนำ ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดสัมมนาระดมสมอง ในเรื่องการเมืองใหม่ เพราะคิดว่า ปล่อยให้พันธมิตรฯทำฝ่ายเดียว จะไม่รอบด้าน

"อภิสิทธิ์"แนะรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล สิ่งสำคัญต้องมีการสร้างความ เชื่อมั่นว่าการปฎิรูปการเมืองโดยเชิญทุกฝ่ายเข้ามาร่วมได้อย่างไร แม้รัฐบาล ไม่ต้องการเป็นเจ้าภาพ แต่ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะช่วยให้เกิดความสำเร็จ ได้อย่างไร และที่สำคัญในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯจะต้องไม่ใช้เสียงข้างมากเบี่ยงเบนกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งหากไม่มีคำตอบ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็คงไม่ทำให้สถานการณ์ในบ้านเมืองดีขึ้น เพราะเชื่อว่าขณะนี้หลายคนต้องการเห็นความชัดเจนและอาจจะมีความสงสัยในความจริงใจ ของฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลคิดว่าจะแถลงนโยบายโดยมีเรื่อง ปฏิรูปการเมืองให้เพียงผ่านไปเฉย ๆ ก็คงไม่ได้ผลอะไร

"ผมอยากจะได้ฟังรัฐบาลในการแถลงนโยบาย ให้ท่านตอบให้ชัดว่า จุดยืนของรัฐบาลคืออะไร ถ้าจุดยืนชัด และมีวัตถุประสงค์ที่จะปฏิรูปการเมืองกันจริง ๆ ก็น่าจะเข้าสู่ขั้นตอนในการหาเจ้าภาพที่จะเชิญทุกฝ่ายมาร่วมกัน ซึ่งอาจจะไปตกลงกันตรงนั้นอีกที แต่ทั้งหมดไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบเท่ากับความตั้งใจของฝ่ายการเมือง เพราะที่สุด ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหน เสียงข้างมากของรัฐสภา ก็ต้องเป็นคนที่เปิดโอกาส ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นผู้มีอำนาจในการลงมติเรื่องรัฐธรรมนูญ"

ต้องเคลียร์ให้ชัดขจัดวาระซ่อนเร้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เคยบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา แต่วันนี้กลายเป็นนโยบาย ของรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งการตั้ง ส.ส.ร.3 ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ทราบว่าการแก้ไขจะมีวาระซ่อนเร้นเพื่อตัวเองหรือไม่

"การตั้ง ส.ส.ร.3 เป็นข้อแคลงใจอยู่ ฉะนั้นรัฐบาลต้องออกมาประกาศให้จัดว่า 1. การตั้ง ส.ส.ร.3 จะเป็นประตูไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองหรือไม่ รัฐบาลต้องเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดก่อน เพื่อให้คลายข้อกังขาของปาระชาชน 2. ถ้าจำเป็นต้องมี ส.ส.ร.3 ต้องดูว่าความคิดของรัฐบาลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม ่ หากไม่เป็นที่ยอมรับก็อาจกลายเป็นความเห็นของรัฐบาลฝ่ายเดียว และในที่สุดก็ไม่สามารถแก้วิกฤติให้กับประเทศได้ หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีประโยชน์"

ส่วนที่พรรคพลังประชาชนระบุว่าจะตั้งคนกลางโดยปราศจาก ส.ส.ของรัฐบาลจะไว้ใจได้หรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องปรากฎออกมาเป็นรูปธรรมก่อน เพราะ ส.ส.ร.ถือว่ามีความสำคัญ หากประกอบไปด้วยคนของรัฐบาลหรือคนที่รัฐบาลแอบหนุนอยู่ข้างหลังก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่ารัฐบาลควรแสดงท่าทีอย่างไรเพื่อทำให้เกิดความชัดเจน นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่มีผลย้อนหลังในการช่วยเหลือคดียุบพรรค คดีทุจริตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยส่งผลให้การพิจารณาคดีของ คตส. กลายเป็นโมฆะ

ส่วนที่หลายฝ่ายมีแนวคิดว่าไม่ควรให้พันธมิตรฯหรือรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม ในการตั้ง ส.ส.ร. 3 นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นรายละเอียดและรูปแบบของ ส.ส.ร.3 เท่านั้น ซึ่งต้องคอยดูกันไปเพราะจุดนี้ถือเป็นเพียงการเริ่มต้น ความเป็นจริง ของการตั้ง ส.ส.ร.3 ต้องมาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องของใคร คนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การไม่ยอมรับของสังคม

ชี้ข้อเสนอ "24 อธิการ" เหมาะสุด

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธาน วิปพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นเพียงปลายทางของการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขปัญหาของความขัดแย้งเท่านั้น ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้ต้องเริ่มจากท่าทีของรัฐบาลก่อน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ควรต้องทำควบคู่กันไปกับแนวคิดของคณะกรรมการอิสระด้วย เพราะข้อเสนอของ อธิการบดีมหาวิทยาลัย 24 แห่งทั่วประเทศมีความตั้งใจที่จะเอาปัญหามาคุยกันก่อนแล้วนำไปสู่การทำประชามติ แต่ถ้ารัฐบาลยังยืนยันที่จะแก้ไขมาตรา 291 จะเป็นปัญหาว่า ส.ส.ร.มีที่มาอย่างไรและจะปราศจากการครอบงำโดยเสียงข้างมากในสภาหรือไม่ รวมทั้งตัวเนื้อหาที่จะมีการแก้ไขด้วยและหากจะดำเนินการจริงก็ต้องกำหนดเวลาด้วย เพราะถ้าไม่มีท่าทีอื่นมาเกี่ยวข้องด้วยก็เหมือนสร้างเงื่อนไขมายืดอายุรัฐบาล ที่สุดปัญหาจะขยายวงไปอีก การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา

"รัฐบาลควรทบทวนว่าต้นตอวิกฤติความขัดแย้งเกิดจากอะไรและต้องปรับท่าทีของรัฐบาล รวมทั้งการเมืองภาคประชาชนก็ต้องปรับท่าทีเช่นกัน นอกจากนั้นรัฐบาลจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติมและถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาดู เนื้อหาคืออะไรแล้วจึงมาพูดเรื่องแก้มาตรา 291 เป็นเรื่องสุดท้าย ความจริงแล้ว แนวคิดกรรมการอิสระปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องที่ดีที่เอาคนที่เป็นกลางจริง มารับฟังปัญหาขัดแย้ง ซึ่งนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสมีความเหมาะสม แต่ไม่รู้ว่าท่านจะรับหรือไม่ แต่ก็ยังคนอื่นที่เหมาะสมอีกหลายคน"
กำลังโหลดความคิดเห็น