xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” ผวาพังยอมถอยทำประชามติแก้ รธน.ใช้งบ 2 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมัคร สุนทรเวช
“หมัก” รู้ทางลม ผ่อนกระแสต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยอมให้ลงประชามติถามประชาชนให้แก้ไขหรือไม่ เตรียมเสนอของบประมาณวันอังคารหน้า คาดใช้งบประมาณ 2 พันล้าน

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง สมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์

วันนี้ (21 พ.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนยื่นร่างแก้ไขต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า ตนมีแอ็คชั่นแน่นอน ขอบอกเสียวันนี้ว่าวันอังคาร (27 พ.ค.) จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะยอมเสียเงินสัก 2 พันล้านทำประชามติ แต่นายชัย ชิดชอบ ประสภาผู้แทนราษฎรตอนนี้ก็เก็บไว้ก่อนอย่าเพิ่งบรรจุ ตนจะใช้เวลา 45 วันให้หาเสียงและต้นเดือนกรกฎาคมก็ลงคะแนนว่า เอาหรือไม่เอา ถึงตอนนั้นแล้ว จะได้ปิดปากกันเสียที คือถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องแก้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยจะแก้ จะได้หมดเรื่องกันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถามประชาชนแก้ในรายมาตราหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ปัดโธ่ บอกหยกๆ ว่าจะถามว่าแก้หรือไม่แก้เท่านั้นเอง เมื่อถามว่า การลงประชามติเนื่องจากมีกระแสต่อต้านใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ไม่ใช่กระแสต่อต้าน ตนรำคาญ เมื่อถามว่า รำคาญใคร นายสมัคร กล่าวว่า ไม่บอก แต่ตนมีวิธีการ

เมื่อถามว่า จะมีปัญหาหรือไม่ที่ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของตน บอกแล้วว่าส.ส.เป็นคนจัดการแก้ตนอยู่ฝ่ายบริหารแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เขาแก้กฎหมายแบ่งงานกันแล้ว เขามีตุลาการ มีฝ่ายนิติบัญญัติ มีฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารบังเอิญมีอำนาจที่จะเป็นคนขอให้มีการทำประชามติได้ ตนจะใช้สิทธิอันนี้

เมื่อถามว่า จะใช้เงินซื้อความรำคาญใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ไม่ใช่ซื้อความรำคาญเฉยๆ ซื้อความพอใจของคนในบ้านเมืองนี้จะได้แบ่งข้างกันได้ชัดเจนว่าใครอยากจะแก้ไข ใครไม่อยากแก้

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำพูดดังกล่าวของนายสมัครเกิดขึ้นภายหลังจากที่มี ส.ส.พรรคพลังประชาชนกลุ่มหนึ่งยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเปิดสภาสมัยวิสามัญในเดือนหน้า และในท่ามกลางเสียงคัดค้านที่เริ่มลุกลามออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีวาระซ่อนเร้น ทำเพื่อผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพวกพ้อง ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในตอนนี้ และหากแก้ไขต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และที่สำคัญต้องลงประชามติถามประชาชนก่อน

/0110

กำลังโหลดความคิดเห็น