xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : (จักรภพ) แน่ใจหรือ “ปิดปากสื่อรัฐ”...จะป้องกัน “ปฏิวัติ” ได้!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ เตรียมออกกฎเหล็กห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวหนุนรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่เช่นนั้นจะโดนเล่นงานทางวินัย
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

หลังโชว์ผลงาน “แทรกแซงสื่อ” มาหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุด “จักรภพ เพ็ญแข” ไม่ใช่แค่ส่งสัญญาณว่าจะแทรกแซง-ละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อของรัฐอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังส่อหวังผลเพื่อป้องปราม-ป้องกัน “การปฏิวัติ” ด้วย หลังผู้นำ รบ.อย่าง “สมัคร สุนทรเวช” ออกอาการหวาดผวาราวกับถูก “ปฏิวัติหลอน” จนต้องออกมาปล่อยข่าวเป็นครั้งคราวว่ามีการเตรียมปฏิวัติ ...ลองมาดูกันว่า สังคมจะวิพากษ์ไอเดีย รมต.จักรภพที่จะออกกฎเหล็กห้ามสื่อรัฐเสนอข่าวหนุนปฏิวัติรัฐประหารว่าอย่างไร? และกฎเหล็กดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติได้จริงหรือ? ...บางคนบอกว่า นี่อาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่เขาจะได้อยู่ในตำแหน่ง รมต.ก็เป็นได้ เพราะเขาจะถูกยื่นถอดถอนอยู่รอมร่อแล้ว

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

คงยังไม่ลืมว่า ข่าวลือ-ข่าวลวงว่ามีความพยายามปฏิวัติรอบใหม่นั้น ออกมาจากปากผู้นำประเทศอย่างนายสมัคร สุนทรเวช ถึง 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรก-เมื่อ 28 มี.ค.นายสมัคร บอกว่า “วันนี้มันยังมีคนไม่เลิก วิ่งเต้นกันอยู่ ยังนัดประชุมกันอยู่ ยังคิดว่าปฏิวัติกันได้อยู่ แต่ผมไม่วิตกทุกข์ร้อน

แม้ปากจะบอกว่า ไม่วิตกทุกข์ร้อน แต่สังคมก็ได้เห็นนายสมัครหนีบ ผบ.ทบ. “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ไปเยือนต่างประเทศด้วยทุกครั้ง ราวกับเพื่อความอุ่นใจว่า จะไม่มีการปฏิวัติตอนที่ตนไปต่างประเทศ การออกมาปล่อยข่าวปฏิวัติของนายสมัครในครั้งนั้น ทำเอานักธุรกิจหลายคนออกมาโวยทำนองว่า นายกฯ พูดไม่คิด สร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนของไทย เช่น นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ชี้(29 มี.ค.)ว่า คำพูดของนายกฯ เรื่องเตรียมปฏิวัติอีกรอบ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และว่า “คำพูดที่ออกมาจากคนระดับนายกรัฐมนตรี แม้ว่าการปฏิวัติอาจจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ควรระวังคำพูดมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่จริง ประเทศก็มีแต่เสียกับเสีย

แต่คำเตือนดังกล่าวก็หาได้เข้าหูนายสมัครไม่ เพราะให้หลังแค่เดือนเศษ นายสมัครก็ออกมาพูดเรื่องปฏิวัติอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. โดยพูดทำนองว่า จะมีการปฏิวัติ และจับรัฐมนตรีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปรวมไว้ที่เดียวกัน หลังนายสมัครส่ออาการ “ปฏิวัติหลอน” เพราะพูดเรื่องปฏิวัติถึง 2 ครั้ง 2 คราแล้ว ปรากฏว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชนได้พยายามทำเหมือน “ปิดประตู” การปฏิวัติ เมื่อนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่รับผิดชอบกำกับดูแลสื่อของรัฐ ได้ประกาศระหว่างเปิดงานสัมมนาเรื่อง “บทบาทสื่อกับความเป็นกลางในยุคสังคมแตกแยก(ความคิด)” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ว่า ในสัปดาห์หน้า(ซึ่งก็คือสัปดาห์นี้) กรมประชาสัมพันธ์จะปรับกฎระเบียบกฎเกณฑ์ภายในกรมฯ ใหม่ว่าจะสนับสนุนการทำรัฐประหารไม่ได้ ดังนั้น นับแต่นี้ไปหากสื่อมวลชนภาครัฐเชียร์ให้มีการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม จะถือว่ามีความผิดทั้งทางตรงและทางวินัย

นายจักรภพ ยังบอกด้วยว่า ต้องเปิดพื้นที่สื่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่รักประชาธิปไตยได้เข้ามาในวงการสื่อมากขึ้น ไม่ใช่จำกัดอยู่ในชนกลุ่มน้อย เพราะวงการใดมีผู้เล่นน้อยราย ก็เกี้ยเซียะกัน จิตใจของประชาชนที่รักความเป็นธรรมอยากจะเห็นสื่อประเภทใหม่เกิดขึ้น คือ สื่อทางเลือกมาคานและถ่วงดุล ไม่ใช่ใครมีอำนาจถือไมค์พูดไม่สร้างสรรค์หยาบคาย มดเท็จก็พูดได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองบางพรรคเสนอยื่นถอดถอนตน

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้เตรียมยื่นถอดถอนนายจักรภพในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หลังเห็นว่านายจักรภพมีพฤติกรรมแทรกแซงสื่อหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดยังจะออกประกาศในลักษณะห้ามสื่อของรัฐทำข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหาร ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ยังไม่หยุดท้าทายและมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

โดยนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า คำสั่งของนายจักรภพที่จะห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวหนุนการรัฐประหารนั้น น่าจะมีวาระแฝงเร้น โดยอาจจะฉวยโอกาสปิดปากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่ให้เสนอความคิดเห็นที่แตกต่างผ่านทางสื่อของรัฐ โดยเหมารวมว่าความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนี้ ไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย เป็นพวก คมช.หรือพวกนิยมรัฐประหาร ซึ่งคนในรัฐบาลนี้ถนัดอยู่แล้วกับการเที่ยวเอาหมวกเผด็จการไปสวมให้ใครต่อใครที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอง

ทั้งนี้ ไม่เพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่เห็นว่า นายจักรภพทำไม่เหมาะสมที่จะมีการออกกฎห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหาร แต่หลายภาคส่วนในสังคมก็เห็นเช่นกันว่า พฤติกรรมนายจักรภพล่าสุดนี้ ถือว่าเข้าข่ายแทรกแซงและละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ

โดย อ.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) บอกว่า การที่รัฐมนตรีจะมาออกกฎระเบียบเพื่อที่จะควบคุมสื่อหรือจะมาสั่งห้ามนั้น ทำไม่ได้ เพราะขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และอาจถูกมองว่าเป็นการคุกคามสื่อได้ และว่า สื่อของรัฐไม่ใช่ของรัฐบาล จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลไม่ได้ และรัฐมนตรีก็ไม่ควรใช้อำนาจหรือแสดงอำนาจว่าตัวเองสามารถสั่งโน่นสั่งนี่ได้ หรือแสดงให้เห็นว่าใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลถือว่าผิด ดังนั้น รัฐบาลควรตระหนักว่าวิธีการแบบนี้ควรทำหรือไม่ และว่า รัฐบาลควรเอาเวลาไปปฏิรูปสื่อจะดีกว่า

ด้าน รศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันทน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็แสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกันที่นายจักรภพจะออกกฎห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวสนับสนุนการทำรัฐประหาร โดยชี้ว่า สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลที่แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยแต่ทำตัวประหนึ่งทรราชเหมือนกัน และว่า หากนายจักรภพไม่ให้สื่อของรัฐดำเนินการตามสิทธิเสรีภาพ ก็ถือว่าขัด รธน.มาตรา 46 ที่ผู้สื่อข่าวของรัฐต้องได้รับความคุ้มครองในการทำหน้าที่เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวของเอกชน อ.พิรงรอง ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไม่ว่าสื่อมวลชนจะยอมรับหรือนิ่งเงียบ ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะให้เกิดการปฏิวัติได้ แต่นายจักรภพ นายกฯ และ ครม.ควรทบทวนว่า ตัวเองได้สร้างเงื่อนไขอะไรที่นำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่มากกว่า

ขณะที่ อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เห็นเช่นกันว่า ถ้ารัฐมนตรีห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรัฐประหาร ก็ถือว่าหมิ่นเหม่ต่อการขัด รธน.มาตรา 46 และว่า จริงๆ แล้ว แทนที่รัฐมนตรีจะออกกฎมาคุมสื่อของรัฐไม่ให้เสนอข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร น่าจะออกกฎห้ามนายกฯ สมัคร สุนทรเวช พูดเรื่องปฏิวัติมากกว่า

“เราจะเห็นในระยะเวลาที่ผ่านมา คนที่ให้ข่าวเรื่องของการปฏิวัติ คือ “คุณสมัคร สุนทรเวช” เพราะฉะนั้นผมว่า ถ้าจะลงโทษพนักงานลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ คุณจักรภพก็ควรที่จะบอกว่า ควรจะออกกฎหมายไปเลยว่า ห้ามนายกฯ ให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ มิฉะนั้นก็ให้ปลดจากตำแหน่งของนายกฯ อะไรอย่างนี้ เพราะถ้าหากว่ารัฐมนตรีไม่ให้ข่าวสาร ผมคิดว่า ในเรื่องของรัฐเอง ผมคิดว่าก็ไม่รู้จะเอาข่าวสารจากไหน แต่ที่ผ่านมามันออกจากช่องของเอ็นบีที (ช่อง 11 เดิม) ที่คุณสมัครมีการพูดเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิวัติ แล้วคุณจักรภพให้ออกได้อย่างไร”

“และเมื่อรู้ว่าจะมีการปฏิวัติ ในฐานะที่เป็นนายกฯ ทำไมไม่ดำเนินการ มาออกข่าวทำไม แล้วการที่สื่อ เมื่อได้รับข่าวสารมาแล้ว และจะนำไปเสนอผ่านสื่อเนี่ย ผมว่าตรงนี้มันคือสิทธิและเสรีภาพของสื่อ อยู่ในดุลพินิจของคนที่ทำงานด้านสื่อว่าจะนำเสนอข่าวสารออกว่าอย่างไร ทีนี้เมื่อมันมีข่าวเกิดขึ้นมา มันก็ต้องนำข่าวสารเนี่ยมาออก จะตีความว่าเป็นการสนับสนุนรัฐประหารหรือไม่ ผมคิดว่าคงไม่ใช่ ผมคิดว่าเป็นการนำเสนอข่าวสารปกติเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่ไม่ให้สื่อของรัฐให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องของการรัฐประหาร ถ้าหากจะมีรัฐประหารจริง มันคงไม่ใช่ เพราะสาเหตุของการรัฐประหารเนี่ย ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น มันเกิดขึ้นจากรัฐบาลแทบทั้งสิ้น รัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงของประชาชน รัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับสื่อทั้งสิ้น นี่คือสาเหตุของการรัฐประหารในระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าไม่มีชนวนมาจากรัฐ รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าหากว่ารัฐปกครองแผ่นดินโดยธรรม ไม่มีการคอร์รัปชั่น ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรย้อนกลับไปดูตัวเองว่า ไอ้ที่ทำกันมาทุกวันนี้ เป็นการที่คุณจักรภพพูดมาตลอดนั้น มันคือชนวนหนึ่งที่จะก่อให้เกิดรัฐประหารหรือไม่ ผมคิดว่าตรงนี้ รัฐบาลควรที่จะทบทวนตัวเองดู”

ด้านนายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ก็ตั้งข้อสังเกตว่า หน้าที่ของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อ ก็คือ การปฏิรูปสื่อ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น กลับยังไม่ได้ทำ เช่น การปฏิรูปในภาพรวมด้วยการผลักดันให้เกิดองค์กรที่จะมาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จใน 180 วันนับแต่วันที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่จนบัดนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ดำเนินการ กลับดำเนินการในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ คือ แทรกแซงสื่อ ทั้งสื่อของรัฐและวิทยุชุมชน กระทั่งล่าสุด จะลงมาควบคุมเนื้อหาในสื่อของรัฐโดยห้ามพูดเรื่องการรัฐประหาร ดังนั้นบางทีเรื่องนี้อาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย”ของรัฐมนตรีจักรภพก็เป็นได้

“ระเบียบนั้น(ที่จักรภพบอกจะห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหาร) คงเป็นระเบียบของเจ้าหน้าที่หรือของส่วนราชการที่จะมาใช้บังคับสื่อมวลชนของราชการ ซึ่งหมายความว่า ก็จะละเมิดต่อ รธน.มาตรา 45 อยู่ดี มาตรา 45-46 อยู่ดี ซึ่งนั่นคงยิ่งตอกย้ำเรื่องของการแทรกแซง การฟ้องร้องต่างๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย สำทับไปมากกว่าการตรวจสอบโดยฝ่ายค้านที่จะมีการยื่นถอดถอนคุณจักรภพเอง ขณะนี้ทางสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครือข่ายของประชาชนเอง ที่มีสถานีวิทยุชุมชนอยู่ไม่เกิน 200 สถานี มีการดำเนินการในลักษณะนี้ มีการหารือกันพูดคุยกันถึงท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ได้แสดงความจริงใจในการปฏิรูปสื่อ แต่กลับมาใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการที่จะมาแทรกแซงสื่อ ไม่ว่าจะเริ่มจากในกรณีรายการของ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เองนะ วิสดอมเรดิโอ หรือกรณีต่อมากรณีที่วิทยุขนาดเล็กที่เกิดขึ้นและอยู่ระหว่างสุญญากาศ พยายามชักจูงให้มาอยู่ในเครือข่ายของรัฐบาล ส่วนท้ายที่สุดนี่ กรณีเอ็นบีทีด้วยก็เช่นเดียวกัน แม้เป็นหน่วยงานราชการเองก็ต้องมีอิสระมีเสรีภาพที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในฐานะของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน ท้ายสุดการกำกับด้วยนโยบายของรัฐบาลเองในเรื่องของการควบคุมเนื้อหาการพูดถึงเรื่องการรัฐประหารเนี่ย ก็อาจจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับกรณีคุณจักรภพเองก็ได้”

ขณะที่นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นักจัดรายการชื่อดัง ที่รายการถูกถอดออกจากผังของช่อง 11 ก่อนเปลี่ยนเป็นเอ็นบีที และเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นรายย่อยบริษัท อสมท ที่ออกมาคัดค้านความพยายามมุบมิบตั้งบอร์ด อสมท ใหม่ 5 คนตามรายชื่อที่มีข่าวว่ารัฐมนตรีจักรภพเป็นผู้เสนอ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยที่นายจักรภพจะออกกฎห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหาร เพราะการออกกฎเช่นนี้ นอกจากจะไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่มีการปฏิวัติแล้ว ยังถือเป็นการแทรกแซงสื่อ ที่นายจักรภพได้แทรกแซงมาหลายครั้งแล้ว

“ขณะนี้คุณจักรภพกำลังทำหลายสิ่งหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการแทรกแซงสื่อ ครอบงำสื่อ และใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาบงการ เข้ามาสั่งการ ชี้นิ้วสื่อ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง รวมทั้งทัศนคติของคุณจักรภพที่คิดว่า ตัวเองมีอำนาจ และจะสั่งโน่นสั่งนี่ ความจริงตัวเองก็เคยเป็นสื่อมาก่อน น่าจะรู้ว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ ปชต.เขาไม่มายุ่งอะไรกับสื่อแบบนี้ คือคุณควรจะเอาเวลาไปทำงานรับใช้ ปชช.ให้มากยิ่งขึ้นจะดีกว่า (ถาม-คิดว่าถ้าสื่อรัฐไม่เสนอข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติแล้ว จะทำให้ไม่เกิดการปฏิวัติได้เหรอ?) มันก็ไม่มีหลักประกันใดใดหรอก คุณจักรภพเขากลัวว่าจะมีการไขข่าวหรือแพร่ข่าวอะไรต่างๆ แต่ความจริงแล้วก็ไม่หรอก คือสื่อเองก็รู้ว่า ถ้าข่าวไหนที่มันไม่ยืนยัน เราก็ไม่เสนออยู่แล้ว แต่ถ้าคุณออกระเบียบมา มันจะยิ่งสะท้อนถึงการที่รัฐบาลเข้ามาควบคุมกำกับสื่อ แล้วมันจะยิ่งทำให้กลไกการบริหารสื่อมันพิกลพิการมากยิ่งขึ้นไปอีก และในท้ายที่สุด มันจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี และคุณก็ป้องกันไม่ได้อยู่ดี เพราะข่าวมันไม่ได้มาจากทีวี-วิทยุของหน่วยราชการเท่านั้น มันมาจากภาคเอกชนด้วย และจากหลายฝ่าย ยิ่งคุณมาทำแบบนี้มันก็ยิ่งทำให้สื่อของรัฐก็ยิ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองมากเกินไป ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม”

ด้านนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้ว่า การที่นายจักรภพจะออกกฎห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติ สะท้อนว่า รัฐบาลนี้ไม่มีวุฒิภาวะและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่ “ปาก” ของนายกฯ ที่เป็นผู้ปล่อยข่าวเรื่องปฏิวัติ จึงต้องไปห้ามนายกฯ ไม่ใช่มาห้ามผู้สื่อข่าว และว่า ชนวนเหตุที่จะนำไปสู่การเกิดปฏิวัตินั้น ไม่ได้อยู่ที่สื่อ แต่อยู่ที่รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องตรวจสอบตัวเองว่า ได้กระทำการอันเป็นเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การปฏิวัติหรือไม่

“คือถ้าเป็นข่าวเนี่ย ห้ามไม่ได้ แต่การปล่อยข่าวลือนี่ห้ามได้ ซึ่งต้องไปห้ามนายสมัครก่อนเพื่อนเลย เพราะเป็นคนปล่อยข่าวเรื่องนี้ถึง 2 ครั้งแล้ว (ถาม-อย่างนี้สะท้อนว่าอะไร?) สะท้อนว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีวุฒิภาวะ สะท้อนว่าแก้ปัญหาที่ไม่ตรงเรื่องตรงราว ที่ไม่มีวุฒิภาวะก็เพราะการปล่อยข่าวแบบนี้มันเกิดความเสียหายทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ นักลงทุน เสียหายหมด ขาดความเชื่อมั่นหมด ทุกอย่างหยุดชะงักหมด และบ้านเมืองเกิดความหวาดระแวง ปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด ที่ว่าเกิดความเสียหายนี่ เป็นเรื่องร้ายแรงมาก แล้วถ้าจะแก้ไข เป็นผู้บริหารก็ต้องดูต้นเหตุหรือมีเหตุปัจจัยให้เกิดการปฏิวัติหรือไม่ ก็ต้องระงับเหตุตรงนั้น เช่น การแก้ รธน.อันนี้ทำให้เกิดวิกฤตในชาติบ้านเมือง ก็ต้องหยุดการสร้างสถานการณ์นั้นเสีย หรือปล่อยให้อันธพาลมาเกะกะระรานคนทั้งบ้านทั้งเมืองเนี่ย มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ก็ต้องหยุดอันนั้นเสีย หรือการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ก็ต้องหยุดอันนั้นเสีย การจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะบ่อนทำลาย ก็เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ก็ต้องกำจัดเหตุอันนั้นเสีย ไม่ใช่มาปล่อยข่าว (ถาม-แสดงว่าชนวนที่จะนำไปสู่การปฏิวัติ มาจากรัฐบาลไม่ใช่สื่อ?) รัฐบาลครับ สื่อมีหน้าที่รายงานข่าวตามความเป็นจริง การที่ไปห้ามเขาไม่ให้รายงานอย่างโน้น ห้ามไม่ให้ทำอย่างนี้ เป็นการแทรกแซงสื่อ ผิด รธน.นะนี่ ถ้าเป็นข่าวแล้ว สื่อมีสิทธิที่จะรายงาน และเมื่อคนระดับนายกฯ พูดเนี่ย เขาก็ต้องรายงานข่าว แต่ถ้าข่าวนั้นเป็นแค่การปล่อยข่าวโดยไม่มีมูลความจริง นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ...เรื่องเกิดอยู่ที่ “ปากนายกฯ” กลับมาห้ามผู้สื่อข่าว มันถูกที่ไหน”

นายไพศาล ยังกล่าวถึงโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ด้วยว่า ขึ้นอยู่กับว่ามีเหตุปัจจัยหรือไม่ ซึ่งหากดูจากประวัติศาสตร์ เหตุปัจจัยที่ว่า ได้แก่ 1.การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2.การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.การประพฤติปฏิบัติมิชอบจนเกิดความฉิบหายระส่ำระสายในบ้านเมือง หรือแม้แต่การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนจนไม่อาจจะแก้ไขโดยทางอื่นได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาว่า ขณะนี้มีเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่? ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ต่อให้อยากเกิดการรัฐประหาร มันก็ไม่เกิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัย ต่อให้ไม่มีใครอยากให้เกิด มันก็ต้องเกิด!!
สมัคร สุนทรเวช นายกฯ และหัวหน้าพรรค พปช.บอก ไม่วิตกเรื่องปฏิวัติ แต่ออกมาปล่อยข่าวเรื่องปฏิวัติ 2 ครั้งแล้ว
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ออกมาติงนายสมัคร ที่ออกมาปล่อยข่าวเรื่องปฏิวัติก่อนหน้านี้(29 มี.ค.)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรค ปชป.เตรียมทำ นส.ถึงนายกฯ ให้จัดการ จักรภพ ฐานมีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อสถาบันจากกรณีที่ไปพูดกับสโมสรผู้สื่อข่าว ตปท.ฯ พร้อมกันนี้ พรรคฯ ยังเตรียมยื่นถอดถอนจักรภพ 15 พ.ค.นี้
อ.สุรัตน์ เมธีกุล ปธ.สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่ง ปทท. ชี้ สื่อของรัฐ ไม่ใช่ของ รบ.จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือของ รบ.ไม่ได้
อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ ชนวนของการรัฐประหารเกิดจาก รบ.ไม่ใช่สื่อ ดังนั้น แทนที่จะห้ามสื่อเสนอข่าวปฏิวัติ ควรห้ามนายกฯ พูดเรื่องปฏิวัติมากกว่า
ไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ ถ้ามีเหตุปัจจัยให้เกิดการปฏิวัติ ต่อให้ไม่มีใครอยากให้เกิด มันก็ต้องเกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น