อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
ที่ประชุม 6 หน.พรรคร่วมรัฐบาลวานนี้(7 พ.ค.) ทุกคนต่างลอยตัวอยู่เหนือปัญหาการเร่งแก้รัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า “เป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล” ทั้งที่ ส.ส.ของรัฐบาลเองที่ “เจ้ากี้เจ้าการ” รีบเร่ง-ลนลานจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เพื่อหนีคดียุบพรรคและตัดตอนคดีอื่นที่พวกตนและเจ้านายเก่าอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณถูก คตส.กล่าวโทษอยู่ ...ถ้าแกนนำ รบ.คิดว่า แค่โยนเผือกร้อน(เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ) ให้พ้นตัว ก็ช่วยพรางวาระซ่อนเร้นเรื่องแก้ รธน.หรือดับวิกฤตที่จะเกิดจากกระแสต้านการแก้รัฐธรรมนูญได้แล้วละก็ อาจต้องคิดใหม่ เพราะสังคมคงไม่ยอมให้ รบ.ขืนใจด้วยการ “รวบหัวรวบหาง” แก้รัฐธรรมนูญ-ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประชามติด้วยวิธีง่ายๆ แค่ใช้ “พวกมากลากไป” ในสภาฯ แน่
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
“สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต ...โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น คนไทยทุกข์ร้อนกับสภาพข้าวยากหมากแพง น้ำมันขึ้นราคา ผู้คนในสังคมต่างเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจแก้ปัญหาของแพงอย่างจริงจัง ...แต่นักการเมืองกลับสนใจแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้สาธารณชนเข้าใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนพ้นผิด ในฐานะของแพทย์อาวุโส ...รู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดินไปสู่ทางตัน หากนักการเมืองยังคงเดินหน้ารีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากผู้ปรารถนาดีและกลุ่มต่างๆ ในสังคม จะมีโอกาสนำไปสู่การเผชิญหน้าของแต่ละฝ่ายอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง...”
นั่นคือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์โดยเครือข่ายแพทย์อาวุโสที่นำโดย นพ.บรรลุ ศิริพานิช ซึ่งแสดงความห่วงกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลที่มิได้นำพาต่อการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน เพียงเพราะมุ่งที่จะแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก ทำให้ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ทางตันและเกิดวิกฤตอีกครั้ง เครือข่ายแพทย์อาวุโส จึงได้เสนอทางออกแก่รัฐบาลเพื่อดับวิกฤตครั้งนี้ โดยขอให้ทบทวนและชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม และหันมาเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องความทุกข์ยากของชาวบ้านในขณะนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ และบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และขอให้ศาลได้พิจารณาคดีความต่างๆ อย่างรวดเร็วและเที่ยงตรง โดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ
แต่รัฐบาลจะฟังหรือไม่? เพราะเริ่มมีรัฐมนตรีบางคนออกมาสวนกลับแพทย์อาวุโสบ้างแล้ว เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ออกมาชี้(6 พ.ค.)ว่า แพทย์อาวุโสพูดหาเรื่อง เพราะรัฐบาลทำงานหลายอย่างไปพร้อมกันอยู่แล้ว ทั้งแก้รัฐธรรมนูญทั้งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่ใช่ว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วหยุดบริหารประเทศเสียเมื่อไหร่ นายจักรภพ ยังพูดเชิงตำหนิแถลงการณ์ของแพทย์อาวุโสด้วยว่า หากฝ่ายหนึ่งจ้องทำให้เป็นเรื่อง มันก็ยากที่ทุกอย่างจะสงบ!?!
ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชาชนเอาแน่ที่จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถ้าจะพูดให้ตรงก็คือ “ล้มรัฐธรรมนูญ 2550” แล้วนำ “รัฐธรรมนูญ 2540” มาสวมแทน เพราะนอกจากจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการตัดมาตรา 237 และ 309 เพื่อหนีคดียุบพรรคและตัดตอนคดีต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ-111 ทรท.-แกนนำพรรคพลังประชาชนถูก คตส.กล่าวโทษแล้ว การนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ทั้งดุ้น ยังจะส่งผลดีต่อรัฐบาลพรรคพลังประชาชนให้สามารถแทรกแซงองค์กรอิสระได้อีกครั้งดังเช่นที่เคยเกิดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ได้ แถมพรรคพลังประชาชนยังจะเขียนในรัฐธรรมนูญใหม่ให้ลดอายุองค์กรอิสระอย่าง กกต.และ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันลง เพื่อสรรหาชุดใหม่ ซึ่งจะทำให้พรรคพลังประชาชนสามารถแทรกแซง-ผลักดันอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้บุคคลที่ตนต้องการมานั่งเป็นกรรมการใน กกต.-ป.ป.ช.
นอกจากนี้ พรรคพลังประชาชนยังจะใช้วิธี “รวบรัดตัดตอน” เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้วิธีแก้ไขผ่านสภา พูดง่ายๆ ก็คือ ตัวเองในฐานะนักการเมือง เป็น “ผู้ชงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ”เอง และเป็น “ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่” เอง โดยไม่สนว่าตัวเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งที่หลายฝ่าย แนะว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ต้องตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนทุกภาคส่วนเป็นผู้ยกร่าง ขนาด รธน.2550 ที่พรรคพลังประชาชนอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมาจากคณะรัฐประหาร ก็ยังให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถมยังมีการทำประชามติเป็นครั้งแรกของเมืองไทยว่าประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ กระทั่งปรากฏชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 14 ล้านเสียงเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้ง ไม่กล้าแม้แต่จะทำประชามติเพื่อถามประชาชนก่อนว่า จะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้หรือไม่? จึงยิ่งไม่ต้องคาดหวังว่า รัฐบาลที่ประชาธิปไตยแต่ปาก จะยอมให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ลองไปตรวจสอบความรู้สึกของหลายฝ่ายในสังคมว่า นาทีนี้ เขามองการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลอย่างไร?
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา บอกว่า ในบรรดา ส.ว.มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ โดยเห็นว่า น่าจะใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปสัก 2 ปี แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะแก้ไขตรงไหนอย่างไร แต่เมื่อรัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องทำหน้าที่ด้วยการเข้าชื่อ 1 ใน 5 เพื่อยื่นต่อสภาให้มีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ให้นักการเมืองเป็นผู้แก้รัฐธรรมนูญเอง
“ตอนนี้ก็เตรียมชื่อแล้ว คือถ้าพรรคพลังประชาชนยื่น(ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา) เราก็ยื่นทันที ถ้าเขาถอน สมมติเขาเกิดเปลี่ยนใจนะ โชคดีของประเทศไทย คือเกิดเปลี่ยนใจไม่ยื่น เราก็ไม่จำเป็นต้องยื่น คือความเห็นเราก็คือ ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ไปก่อนประมาณสัก 2 ปี แล้วก็มาศึกษากันจะปรับจะแก้ยังไง ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง นี่ใช้ยังไม่ถึง 3 เดือนเลย ก็จะมาแก้กันแล้ว เห็นๆ กันอยู่ว่าเป็นการแก้ไข โดยเริ่มต้นจากได้รับผลกระทบเพราะมาตรา 237 เริ่มต้นจากตนเองถูกกระทบ ก็เลยเคลื่อนไหวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นมันไม่ชอบธรรมในสายตาของสังคม ของนักนิติศาสตร์ ของอดีต ส.ส.ร. แพทย์อาวุโสก็ออกมาเตือนสติ ถ้าเขายังเดินหน้าที่จะขืนใจสังคมต่อไป เขาก็ต้องเดือดร้อนน่ะ”
“(ถาม-ผิดหวังกับพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคมั้ย?) ผิดหวังแน่ๆ เพราะพรรคชาติไทยเองก็มีสัญญา 5 ข้อ แต่ตอนนี้ก็มีท่าทีจะ “เกี้ยเซียะ” กับพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อแผ่นดินเองก็ตาม เพราะฉะนั้นเมื่อมีท่าทีแบบนี้ก็คงจะต้องให้สังคมเรียกร้องว่า คุณพูดยังไงไว้กับประชาชนคุณควรจะรักษาคำพูด เพราะฉะนั้น สิ่งที่มันวัดคุณธรรม หรือวัดความสามารถหรือวัดระดับจิตใจได้ดีที่สุดก็คือการปฏิบัติ ทำกับพูดมันต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่พูดอย่างหนึ่งเพื่อหาเสียง แล้วทำอีกอย่างหนึ่ง มันก็เท่ากับถูกตราหน้าว่า เป็น “คนกลับกลอก” เชื่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องรับผลด้วยตัวเองน่ะ เพราะมันมีบทเรียนมาแล้ว ปี’35 ที่ 5 พรรคนำโดยพรรคสามัคคีธรรมไปเกี้ยเซียะกัน แล้วก็เอา พล.อ.สุจินดา (คราประยูร) มาเป็นนายกฯ อันนั้นน่ะเสียงข้างมากนะ แต่แล้วก็อยู่ได้แค่ 45 วัน ก็ต้องออก เพราะสังคมไม่ยอม สังคมไทยพัฒนามากแล้ว และสังคมก็ไม่ยอมที่จะให้เสียงข้างมากไม่ชอบธรรม ดันทุรังต่อไป ทำให้สังคมไทยเดือดร้อน ก้าวไปสู่ความหายนะ และแพทย์อาวุโสหลายท่านก็ออกมาเตือน เพราะฉะนั้นเขาควรจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเขายังเล่นบทดันทุรัง”
นายประสาร ยังเชื่อด้วยว่า หากรัฐบาลยังดึงดันจะใช้เสียงข้างมากแก้รัฐธรรมนูญผ่านสภา จะไม่สามารถแก้ได้สำเร็จ เพราะเป็นการขืนใจสังคม และสังคมคงไม่ยอมให้รัฐบาลรวบหัวรวบหางแก้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจแน่ ส.ว.สรรหาผู้นี้ ยังยกคำพูดของท่านเจ้าคุณปยุต ปยุตโต พระพรหมคุณาภรณ์ วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม มาเป็นเครื่องเตือนสติรัฐบาลด้วยว่า “เสียงข้างมากตัดสินความต้องการได้ แต่ไม่สามารถตัดสินความถูกต้องได้” ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักค้ายาบ้าต้องการหาความชอบธรรมในการค้ายา หัวหน้ากลุ่มจึงเรียกประชุม แล้วถามว่า เราควรจะค้ายาบ้าดีหรือไม่ค้าดี ทุกคนในกลุ่มก็ต้องยกมือว่าค้าดี เพราะทุกคนเป็นนักค้ายาบ้า ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนกำลังหาความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการอ้างเสียงข้างมาก ซึ่งสามารถสนองตอบความต้องการของรัฐบาลได้ก็จริง แต่ไม่ใช่เครื่องชี้วัดความถูกต้องเสมอไป
ด้าน อ.จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม.และประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม บอกว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ด้วยวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตย โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคมมาเป็นผู้ยกร่าง ไม่ใช่ให้ ส.ส.เป็นผู้ยกร่างฯ
“ในความเห็นผม ควรจะใช้ ส.ส.ร.3 เพราะการแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันมันเป็นด้วยสมาชิกสภามุ่งแก้ไขเรื่องที่เป็นผลประโยชน์โดยตรงของพรรคการเมือง คือผมก็เห็นว่าการแก้ รธน. ผมเห็นด้วย แต่ต้องมาด้วยวิธีที่เป็นประชาธิปไตย ต้องเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการทางประชาธิปไตย (ถาม-คิดว่า เขากลัวว่ามันช้าไปหรืออะไร ถ้าตั้ง ส.ส.ร.?) มันชัดว่า การแก้(รัฐธรรมนูญ) ขณะนี้ พยายามจะเร่งแก้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายุบพรรค ผมเห็นว่าเรื่องนี้มันยังไม่ได้มีความแน่นอนว่า จะมีการยุบพรรค พูดตรงๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการยุบพรรคเท่าไหร่ มาตราที่เกี่ยวกับการยุบพรรค ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะผมคิดว่า การยุบพรรคง่ายๆ โดยคำสั่งศาล ในเมื่อประชาชนเลือก(พรรคนั้น)มา มันขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ผมอาจจะเห็นด้วยกับรัฐบาลที่บอกว่า ถ้ายุบพรรคแบบนี้มันไม่แฟร์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะมาแก้ รธน.เสียเอง การแก้ รธน.เป็นเรื่องใหญ่ และการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ควรจะแก้เยอะ คือควรจะแก้ในส่วนที่เป็นการปฏิรูปการเมืองให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น อันนี้มันต้องการคนภายนอกมาแก้ ไม่ใช่จะให้สมาชิกรัฐสภาแก้โดยลำพัง มันก็จะได้รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา แต่อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม”
อ.จอน ยังแสดงความไม่เห็นด้วย หากจะมีการนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับโดยไม่ปรับปรุงอะไรเลย และว่า ส่วนตัวแล้วอยากได้รัฐธรรมนูญที่มีทั้งส่วนดีของรัฐธรรมนูญ 2540 และส่วนดีของรัฐธรรมนูญ 2550 มากกว่า
ขณะที่ อ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ช่วยชี้ช่องการต่อสู้ของภาคประชาชน หากรัฐบาลเดินหน้าใช้เสียงข้างมากแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนว่า มีอยู่ช่องทางหนึ่ง ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คือ เข้าชื่อถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ผมว่ามันก็ต้องสู้กันไปตามเกมการเมือง ผมคิดว่า ประชาชนก็จะได้เรียนรู้ และผมคิดว่า มันก็ไม่ง่ายนะ แม้ว่าเขา(รัฐบาล) จะคุมเสียงครึ่งหนึ่งเนี่ย ผมยังเห็นประเด็นที่สำคัญคือ ถ้าในหลวงไม่เซ็นเนี่ย จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภา ก็จะแก้ยาก ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าอาจจะจำเป็นต้องถวายฎีกา เพื่อว่าให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภา(ยืนยันรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเนี่ย มันเป็นเรื่องสำคัญ บางประเทศเนี่ย เขาก็คิดว่าต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ไม่ใช่ใช้เสียงแค่ครึ่งหนึ่ง (ของสภา) ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีช่องทางเดียว ช่องที่ว่า ถ้าในหลวงไม่เซ็นกลับมา สภาก็ยืนยันได้ แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ถึงจะยืนยันได้ (ถาม-หมายถึง ปชช.ต้องเข้าชื่อและถวายฎีกาในหลวง ก่อนที่จะทรงลงพระปรมาภิไธย?) ใช่ ก็อาจจะเป็นช่องหนึ่งที่ทำได้ เพราะเสียงครึ่งหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลเขาคงหาได้นะ แต่ถ้าเสียง 2 ใน 3 นี่จะยากแล้ว (ถาม-อาจารย์คิดว่า อาจจะไม่เซ็นได้เลยเหรอ?) ผมว่าน่าจะได้นะ คือการไม่เซ็น ไม่ได้แปลว่าในหลวงไม่เห็นด้วยไง คือเราขอว่า ขอให้เป็นเสียง 2 ใน 3 เพราะเป็นกฎหมายสำคัญ และถ้าปล่อยไปอย่างนี้จะเกิดความแตกแยก เพราะฉะนั้นก็ถวายฎีกาว่า ท่านก็เฉยๆ น่ะ ไม่ต้องส่งเรื่องกลับมา ก็จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอีกมาตราหนึ่งที่ว่า สภาก็มีสิทธิจะยืนยัน แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 กรณีที่ในหลวงไม่ส่งกลับมา”
ด้าน รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 41 อาจารย์สายนิติศาสตร์จาก 9 สถาบันที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ รธน.มาตรา 237 ก่อนหน้านี้(เพราะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ซึ่งหากแก้ได้ จะทำให้ระบบกฎหมายของประเทศพังทลาย) ก็ยังคงยืนยันว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่รัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญโดยหวังผลเพื่อแก้ไขเรื่องที่ตนเองทำผิดไปแล้ว หากรัฐบาลยืนยันจะแก้ให้ได้ อาจสร้างความปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมืองได้
อ.อุดม ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ ไม่เรียกว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญแต่ถือเป็นการ “ล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิม” ซึ่งปกติแล้ว หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.สามารถทำโดยสภาได้ แต่ถ้าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วจะให้สภาชุดนี้ซึ่งเกิดมาจาก รธน.2550 เป็นผู้กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 เสียเอง ไม่สามารถทำได้ เปรียบเหมือน “ลูก” ไม่สามารถฆ่า “แม่” ได้
“ถ้ามองในแง่ของความเหมาะความควร หรือผลที่จะเกิดขึ้นจากการแก้รัฐธรรมนูญว่าหวังผลที่จะแก้ไขอะไรในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว(หนียุบพรรค) มันคงเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นมาได้ ผมคิดในแง่นั้น เพราะอย่างที่เราเคยออกแถลงการณ์กับพวกอาจารย์นิติศาสตร์ว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการแก้มาตรา 237 ก็เห็นว่า ปัจจุบันมันมีเรื่องที่จะต้องพิจารณากันในศาลอยู่แล้ว(คดียุบพรรค) ถ้าหากว่าจะมาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ผลของบทบัญญัติที่มีอยู่แล้วเปลี่ยนแปลงไป มันก็ไปกระทบถึงเรื่องสิทธิหน้าที่ของแต่ละฝ่าย มันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีและมีผลมาก ...จริงๆ สิ่งที่เขา(พปช.)จะแก้เนี่ย เกือบจะไม่ได้เป็นการแก้หรอก มันเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั่นแหละ ถ้าภาษาแรงๆ ก็อาจจะบอกว่า เป็นการล้ม รธน.เดิม “ล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิม” จะด้วยข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญ 50 มาจากทหารหรืออะไรก็แล้วแต่ คือปกติการแก้ไขเพิ่มเติม(รธน.)ก็คงจะต้องมาดูกันว่า มันแก้ไขในเรื่องใหญ่มั้ย นักกฎหมายมหาชนถึงต้องมาดูกันว่า สิ่งที่แก้ มันคือการล้มล้าง รธน.ฉบับเดิม หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ถ้าแก้เล็กๆ น้อย เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความชัดเจนยิ่งขึ้นสมบูรณ์มากขึ้น อย่างนี้ถือว่าแก้ไขเพิ่มเติมและทำโดยสภาตามปกติได้ แต่ถ้าถึงขนาดล้มล้างรัฐธรรมนูญเนี่ย สภาซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนั้นล้มไม่ได้นะ เพราะเขาถือว่าลูกจะไปฆ่าแม่ไม่ได้ คือทำให้แม่ดีขึ้นเนี่ย โอเคไม่มีปัญหา แต่ถ้าถึงขนาดไปเปลี่ยนแปลงโฉมของแม่เลยเนี่ย ทำไม่ได้”
อ.อุดม ยังบอกด้วยว่า เป็นเรื่องที่ประเมินยากว่า รัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายไม่อยากให้มีการเผชิญหน้าหรือเกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ความรู้สึกของสังคมหรือมติของสาธารณะน่าจะมีผลไม่น้อยต่อการกดดันการทำอะไรของรัฐบาลในสภา และว่า จริงอยู่ที่รัฐบาลอาจอ้างว่า รัฐบาลไม่ได้ “ถือปืน” มากดดันเพื่อทำในสิ่งที่ตนต้องการอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ แต่การที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงคนทั้งประเทศเลย ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “ขืนใจ” ประชาชนเพียงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ตนต้องการเท่านั้น!!