50 ส.ว.ผนึกกำลังต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฟอกมาร” ยันต้องใช้ไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อย 1 ปี เพื่อศึกษาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง อย่างไรก็ดี หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขต้องให้ผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียมาดำเนินการ เปรียบเสมือนผู้รับเหมาจะขอแก้สเปกให้ได้งานถือว่าใช้ไม่ได้ ย้ำใช้ช่องการกฎหมายขวางทุกวิถีทาง
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา กลุ่ม ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้ง จำนวนกว่า 50 คน นำโดย นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์, นายสมชาย แสวงการ, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายอนุศักดิ์ คงมาลัย, นายธนู กุลชล เป็นต้น ได้ร่วมกันแถลงถึงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดย นางพรพันธุ์ กล่าวว่า กลุ่ม ส.ว.ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมาจากปัญหาซึ่งเกิดกับประเทศชาติ และประชาชนส่วนใหญ่ แต่การความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้เพราะเกิดปัญหาของบุคคลและพรรคการเมือง ไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความผิดดังกล่าว กลุ่มส.ว.จึงรับไม่ได้
ส.ว.กลุ่มนี้ ระบุว่า ที่มีการอ้างว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหานั้นควรติดตามผลการใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่ง จึงจะสรุปว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ผ่านการทำประชามติในทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดเคยทำมาก่อน กลุ่ม ส.ว.จึงเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“จุดยืนของเราตอนนี้ คือ ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไข หากจะแก้ไขควรมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนอย่างน้อย 1 ปี เพื่อศึกษาถึงผลการใช้รัฐธรรมนูญ และหากจะแก้ไขจะดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในบังคับใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง โดยควรมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) ขึ้นมาดำเนินการภายหลังจากมีการศึกษาผลการใช้รัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบแล้ว”นางพรพันธุ์ กล่าวและว่า ได้หารือกับ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯแล้วโดยเบื้องต้นก็เห็นด้วยกับจุดยืนที่ยังไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้เช่นกัน
ด้าน นายสมชาย กล่าวถึงกรณี ส.ว.บางส่วนได้เปลี่ยนท่าทีว่าควรยื่นญัตติตั้ง ส.ส.ร.ว่า พวกเรายืนยันว่า ไม่เคยเปลี่ยนท่าที ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยรัฐธรรมนูญต้องใช้ไปจนถึงเวลาที่เหมาะสมก่อน จากนั้นจึงตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา โดยอาจให้สถาบันพระปกเกล้า หรือผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ศึกษาเพื่อหาข้อบกพร่องก่อน ดังนั้นหากมีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภากลุ่ม ส.ว.จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย
ขณะที่ นายคำนูณ กล่าวว่า หากมีญัตติยื่นเข้ามามีช่องทางในการยับยั้งช่องทางใดทำได้ก็จะทำ ทั้งนี้ มีผู้เสนอให้ใช้มาตรา 122 เรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ ซึ่ง ส.ว.จะศึกษาว่าการใช้ช่องทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงช่องทางอื่นในรัฐธรรมนูญที่จะยับยังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่จะไม่ใช่การถอดถอน
ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากญัตติเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ส.ว.จะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลรวบหัวรวบหางใช้เสียงข้างมาก ทำนองเป็นผู้รับเหมาแก้ไขสเป็กของตนเองเพื่อให้ได้งานนั้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่การแก้ไขจึงไม่ใช่ให้คนไม่กี่คนมาแก้ และจะปฏิเสธคะแนนเสียงประชามติ 14 ล้านเสียงที่รับรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เรื่องนี้ชัดเจนว่า หากไม่มีคดียุบพรรคจ่อคอจะไม่เกิด
/0110