ที่ประชุม ส.ว.มีความเห็นชะลอพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้ง คกก.ป.ป.ท. หลังสมาชิกเสนอส่งเรื่อง สภาลงมติเห็นชอบ ป.ป.ท.ไม่ครบองค์ประชุม ให้ศาล รธน.วินิจฉัย
วันนี้ (24 ต.ค.) ในการประชุมวุฒิสภามีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาวาระการให้ความเห็นชอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยนายประสพสุข แจ้งว่า หลังจากวุฒิสภามีมติให้ ครม.ไปตรวจสอบการลงมติเห็นชอบในชั้นสภาผู้แทนราษฎรที่มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ครม.ได้ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว และทำหนังสือแจ้งมายังวุฒิสภาว่า สภาผู้แทนฯลงคะแนนถูกต้อง เนื่องจากมีการแจกซองลงคะแนนไป 428 ซอง เพียงแต่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในที่ประชุมไม่ใช้สิทธิ์
จากนั้น นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ท.ชี้แจงว่า การตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการพบว่า สภาผู้แทนฯ ลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 126 วรรคหนึ่ง คณะกรรมาธิการจึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมวุฒิสภา และที่ประชุมก็ได้มีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ ครม.ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งเมื่อ ครม.ตรวจสอบแล้วยืนยันความถูกต้องกลับมาจึงเป็นประเด็นความขัดแย้งทางบทบัญญัติระหว่างองค์กร จึงเสนอว่าควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
จากนั้นสมาชิกหลายคน เช่น นายวรินทร์ เทียมจรัส นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบของสำนักงานเลขาธิการสภา เพราะวุฒิสภาถือหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าองค์ประชุมหมายถึงคะแนนที่ลงมติจริง และสนับสนุนให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ ด้าน ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว.สรรหา เสนอว่า ควรเชิญเลขาธิการสภามาชี้แจง ส่วนนายประสิทธิ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี กล่าวว่า การรับซองบัตรลงคะแนนลับ เข้าใจว่าต้องเซ็นชื่อรับ ก็น่าจะเป็นองค์ประชุม ฉะนั้น สภาผู้แทนฯ น่าจะทำถูกต้องแล้ว
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ หากวุฒิสภาจะมีมติเรื่องอื่นต้องให้รัฐสภาเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคสี่บัญญัติ จึงเสนอให้ประธานหารือกับประธานรัฐสภาให้บรรจุเป็นเรื่องด่วนในการประชุมรัฐสภาวันที่ 28 ตุลาคม หรือชะลอการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปจนถึงการประชุมสมัยสามัญทั่วไป จากนั้นนายประสพสุขสรุปว่ายังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายในการการส่งศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปก่อน