ที่ประชุม ส.ส.พลังแม้ว ขีดเส้น ยื่นแก้ รธน.เข้าสภาปลายเมษา พร้อมตั้ง กมธ.รื้อ “มรดกเผด็จการ” ตั้งทีมโต้กลุ่มคัดค้าน คุยโวไม่มัดมือพรรคร่วมลงสัตยาบันในวันลงทุนเหมาภัตตาคารกล่อม โยน “หมัก” ชี้ขาดยุบสภาหากถูกยุบพรรค
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่พรรคพลังประชาชน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรค ว่า ในการประชุมพรรควันนี้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงรูปแบบวิธีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐสภา เพราะญัตติดังกล่าวต้องจัดทำเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเสนอต่อสภา โดย นายชัย ชิดชอบ ประธาน ส.ส.ในฐานะประธานที่ประชุม ได้แจ้งว่า จะสามารถนำเสนอญัตติได้ในปลายเดือนเมษายนนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ทั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเนื่องจากติดภารกิจ
ร.ท.กุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการแก้ไขนั้น จะใช้แนวทางการตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภาในการแก้ไข ไม่ว่าการแก้ไขในกระบวนการใดก็จะมีคณะกรรมาธิการ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดซึ่งหากจะมีการตั้ง ส.ส.ร.จะมีภายหลังการตั้งกรรมาธิการ โดยใช้วิธีการแก้ไขตามมาตรา 291 ให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการไปดำเนินการในวาระที่ 2และ 3 ซึ่งสิ้นสุดในกระบวนการรัฐสภา โดยที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ส.ร.“พรรคพลังประชาชนมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีเหตุผลหลักเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่พรรคหาเสียงที่ว่า หากมีเสียงข้างมากในสภาจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมรดกของเผด็จการ มีบทบัญญัตินำไปสู่วิกฤติทางการเมือง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนขณะนี้คณะทำงานได้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยพร้อมจะเสนอต่อรัฐสภาได้ภายในปลายเดือนเมษายนนี้” โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าว
ร.ท.กุเทพ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการรุกเป็นทอดและมีการหยิบยกการแก้ไขเพื่อประโยชน์เพื่อตัวเองของผู้ที่จะแก้ไข ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไข เน้นต้องการแก้ไขให้เกิดความราบรื่นทางการเมือง ไม่ให้มีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ จึงตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ชี้แจง ให้ข้อมูล อธิบายประเด็น ข้อกล่าวหาโจมตีต่างๆเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเจตนาในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ส.ส.ที่ลงพื้นที่ได้หยิบยกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้เข้าใจ ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำสัตยาบรรณร่วมกันหรือไม่ ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ เรื่องนี้ให้เป็นภาระของสภา ไม่ใช่ภาระของรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้อง ถึงขั้นทำสัตยบรรณร่วมกันในพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องลงมติรับร่างแก้ไขเหมือนกันทั้งหมด ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า การลงมติของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเป็นในแนวทางเดียวกันหมดและไม่เป็นห่วงว่าจะมี ส.ส.เข้าชื่อเสนอญัตติแล้ว จะมีการถอนชื่อภายหลัง
ส่วนหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ จะมีการประกาศยุบสภาหรือไม่ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในรายการสนทนาประสาสมัคร ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ไม่มีการพูดเรื่องนี้ แต่เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภาหรือไม่ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีข้อผูกมัดเป็นเงื่อนไขว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะมีการยุบสภา เพราะเชื่อว่า ส.ส.ในพรรค ไม่ต้องการให้มีการยุบสภาอย่างแน่นอน แต่ที่เร่งแก้ไขเพื่อให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนและประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ไม่ใช่เอารัฐธรรมนูญมาเอาเปรียบทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ละเว้นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลมีภารที่จะต้องแก้ไขปัญหาของประชาชน ปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าทำให้กฎหมายดีขึ้นจะทำให้การแก้ไขปัญหาดีได้ เกิดคาเชื่อมั่นกับต่างชาติ“หากไม่มีปัญหาทางการเมือง คงไม่มีการยุบสภา แต่หากรัฐบาลมีเสียงน้อยเกินไปก็อาจยุบสภาได้ หรือรัฐบาลทำงานดี เห็นว่าควรคืนอำนาจให้ประชาชน ตรงนี้อาจจะยุบสภาได้เหมือนกัน จึงไม่สามารถรับประกันได้เพราะอำนาจยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่ต้องหารือในคณะรัฐมนตรีและพรรค” ร.ท.กุเทพ กล่าว
สำหรับกรณีที่ ส.ว.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมเพื่อประโยชน์ของตัวเองจะส่งผลให้การแก้ไขสะดุดหรือไม่นั้น ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า คงไม่สะดุดเพราะไม่เกี่ยวกัน เรื่องนี้เป็นกระบวนการของศาล ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะต้องหยุดลง ถึงศาลจะรับพิจารณาก็ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศ จะชุมนุมหน้าสภา หากมีการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญสู่สภาโฆษกพรรคพลังประชาชนกล่าวว่าก็สามารถชุมนุมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย