xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” มาเหนือเมฆ แนะไม่ต้องแก้ รธน.50 เปลี่ยนมาใช้ฉบับปี 40 ทั้งฉบับเลยดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน” อดีตประธานวุฒิฯ อ้าง รธน.ปี40 ดีกว่าทุกอย่าง พร้อมเสนอให้ทำประชามติว่า ประชาชนจะเลือก รธน.ปี 40 หรือปี 50 – แขวะ กลุ่มการเมืองภาคประชาชน หากยังมีต่อไป อีกหน่อยคงมีทหาร และตุลาการภาคประชาชนด้วย

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ดร.อุกฤษ มงคลนาวินให้สัมภาษณ์ในรายการ กรองสถานการณ์

วานนี้ (17 เม.ย.) ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธาวุฒิสภา 5 สมัย และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการ กรองสถานการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ดำเนินรายการโดย นายอดิศักดิ์ ศรีสม เกี่ยวกับเการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการแก้ รธน. เพราะ รธน. ฉบับ 50 นี้ เป็น รธน. ที่ต้องการให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอ สร้างขึ้นมาด้วยความรังเกียจนักการเมือง ต้องการกำจัดนักการเมืองที่เขาเล่นการเมืองมาเป็นเวลานาน ทำประโยชน์ให้ประเทศมามาก ซึ่งถึงแม้เขาจะมีข้อเสียบ้าง แต่เราก็ต้องรู้ว่าเขาก็มีความดีช่วยประคับประคองบ้านเมืองมาได้จนถึงวันนี้

ถึงแม้จะอ้างว่า รธน.ฉบับนี้ได้ลงประชามติแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับ แต่อย่าลืมว่าตอนนั้นเคยมีการบอกกันว่า ให้รับ ๆ ไปเถอะมีอะไรค่อยมาแก้ไขกัน จะได้เลือกตั้งไปก่อน ดังนั้นคนที่เขายอมรับก็ไม่ได้หมายว่าเขายอมรับ รธน.จริง ๆ อีกทั้งเมื่อตอนที่ลงประชามติมีการใช้อำนาจรัฐ ให้ข้อมูลด้านเดียว อีกทั้งยังส่งคนลงคุมการลงประชามติจึงได้ผลออกมาเช่นนี้

นายอุกฤษยังกล่าวด้วยว่า ข้อกฎหมายของ รธน.50 นั้นมีหลายมาตรา ที่ขัดต่อหลักนิติธรรมยกตัวอย่างเช่น มาตรา 309 ที่ระบุว่าองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาโดยคณะปฏิวัตินั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีความผิด ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต และวุฒิสมาชิก ของ รธน.50 นี้มีที่มาจาก 2 ส่วน คือประชาชนเป็นคนเลือกจังหวัดละ 1 คน อีกส่วนหนึ่งแต่งตั้งขึ้นมาโดยการแต่งตั้งของใครก็ไม่รู้ ที่มีอำนาจมาจากระบบเผด็จการ และคนเหล่านี้ก็มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ซึ่งนักการเมืองคือคนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม เขาก็ได้รับเลือกมาจากประชาชน

นายอุกฤษเห็นว่า รธน.ปี 40 มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่มาก ตนจึงอยากเสนอว่าให้เอา รธน.ปี 40 มาใช้ทั้งฉบับไปเลย และหากข้อใดคิดว่า รธน.ปี 40 ไม่ดีก็แก้เสีย หรือหากว่าอยากให้มีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ก็เสนออีกว่า ควรนำ รธน.ปี 40 และ รธน.ปี 50 มาให้ประชาชนลงประชามติเป็นผู้เลือกว่าประชาชนจะเลือกใช้ฉบับไหน แล้วยกฉบับนั้นขึ้นมาทั้งฉบับแล้วนำมาปรับปรุง และเมื่อผลของประชามติคราวนี้ออกมาแล้วทุกฝ่ายต้องยอมรับให้ได้ และตนคิดว่าถึงแม้การลงประชามติจะใช้เงิน 2,000 ล้าน แต่ตนก็คิดว่าคุ้ม เพราะมันจะตัดสินอนาคตประเทศไทยทั้งประเทศ ไม่อย่างนั้นประเทศอาจเกิดความเสียหายเป็นแสนล้านเลยก็ได้

กรณีที่มีผู้มองว่า การแก้มาตรา 237 เพื่อหนีการยุบพรรค และแก้มาตรา 309 ที่ต้องการแก้เพื่อช่วยอดีตนายกทักษิณนั้น หากทำตามที่ตนแนะนำคือการนำ รธน.ปี 40 มาใช้ ก็ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องมาตรา 237 และ 309 อีก เพราะใน รธน.ปี40 นั้นไม่มีระบุข้อกฎหมายทั้ง 2 มาตรานั้นไว้ ก็ไม่ต้องกังวลตรงนั้นอีก

นายอุกฤษยังกล่าวถึงกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในนามของภาคประชาชนด้วยว่า “บ้านเมืองของเรามีภาคการเมือง ครบทุกส่วนแล้ว ทั้ง ส.ส., ส.ว. , องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่นครบถ้วนอยู่แล้ว ทำไมคนที่สนใจการเมืองถึงไม่เข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ต่อไปหากการเมืองภาคประชาชนยังคงอยู่ ผมขอเสนอให้มีทหารทั้งของภาครัฐ และทหารภาคประชาชน ตุลาการภาครัฐ และตุลาการภาคของประชาชนไปเลย ซึ่งคงวุ่นวายกันใหญ่ แต่หากการเมืองภาคประชาชนยังจะมีอยู่ ผู้ที่ดำเนินการทางการเมืองภาคประชาชน จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของตนด้วย จะทำได้ไหม”

อนึ่ง สำหรับนายอุกฤษนั้น แม้จะเคยเป็นถึงคณะบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แต่กถูกมองว่าแอบอิงเผด็จการและได้ดิบได้ดีในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบมาโดยตลอด เพราะการเป็นประธานวุฒิสภาทั้ง 5 ครั้งนั้น ล้วนเป็นวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ความเคารพในฐานะอาจารย์ และในช่วงรัฐบาลทักษิณ นายอุกฤษได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรม และเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้(กอ.ยส.จชต.) ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

ส่วยการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนายอุกฤษในช่วงที่ผ่านมา ล้วนเข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น ตั้งแต่การออมาวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย โดยอ้างว่าที่มาของตุลาการไม่ชอบธรรมเพราะมาจากการแต่งตั้งของ คมช.ต่างจากตุลาการรัฐธรรมนูญในยุคของเขาที่ประธานวุฒิสภาได้เป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง และไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่ากรรมการบริหารพรรคกระทำผิดแล้วต้องรับผิดชอบทั้งพรรค หลังจากนั้นในช่วงการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 นายอุกฤษก็ไม่เห็นด้วยการรับร่างฯ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม คำให้สัมภาษณ์ของนายอุกฤษในคอลัมน์ "บนความเคลื่อนไหว" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ที่ว่า “นักการเมืองที่เป็นผู้แทนราษฎรได้ อาจจะไม่ใช่คนมีคุณธรรมมากมายนัก เพราะในสนามเลือกตั้งมีการแข่งขันกันสูง แต่พวกเขาก็ไม่ใช่คนเลว เดี๋ยวนี้เรากลับมองผู้แทนราษฎรเป็นคนเลว ทั้งๆ ที่ผู้แทนราษฎเป็นผู้ที่สัมผัสประชาชนมากที่สุด และรู้เรื่องบ้านเมืองดีที่สุด แต่เรากลับไปสกัดเขาออกไป เปรียบเหมือนผู้แทนเป็นปลาอยู่ในน้ำ รู้หมดว่าในน้ำมีอะไร แต่คนที่นั่งบนตลิ่งบอกว่าปลาพวกนี้ใช้ไม่ได้ ให้เอาออกไป แล้วกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ ผมอยากเตือนว่าอย่าไปดูถูกผู้แทนราษฎร” ย่อมวัดระดับคุณธรรมทางการเมืองของอดีตประธานวุฒิ 5 สมัยคนนี้ได้เป็นอย่างนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น