ปธ.สภาปชป.แจงปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์การเมืองหวั่นไหว เย้ย 2 ประมุขบริหาร-นิติบัญญัติล้วนมีปัญหา และมีคดีตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง มั่นใจหากทุกองค์กรทำในสิ่งที่ถูกต้อง จะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะประเทศมีหลักยึด
วันนี้ (15 เม.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า มี 2 ปัจจัยที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนเป็นรัฐบาล คือ ปัญหาความไม่แน่นอนของสถานภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช เกี่ยวกับคดีที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทและศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนมีรัฐบาล และปัญหาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ศาลฎีกากำลังพิจารณาในขณะนี้ โดยทั้งสองคนเป็นประมุขของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ พรรคประชาธิปัตย์เคยวิจารณ์เป็นการภายในว่าพรรคพลังประชาชนกล้าเสนอบุคคลที่มีปัญหา ทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย หากเกิดปัญหาในวันข้างหน้า ใครจะรับผิดชอบ เพราะไม่ใช่เป็นปัญหาภายหลังรับตำแหน่ง
ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ไม่แน่นอนและทำให้เกิดความหวั่นไหว คือ คดียุบพรรคที่มาจากการกระทำผิดเลือกตั้ง จนเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ 309 ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะลงเอยอย่างไร เพราะหากมีการยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยและชาติไทย ก็หนีไม่พ้นที่พรรคพลังประชาชนจะต้องอยู่ในชะตาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังต้องรอดูอีกหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้น เพราะมีอีกหลายคดีที่กำลังจะฟ้องร้องกันของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ โดยแต่ละเรื่องล้วนแต่มีเหตุทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เช่น การทุจริตโครงการจัดซื้อรถ เรือดับเพลิง หรือเรื่องของ กทม. ในสมัยที่นายสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่ลุกลามไปถึงคนอื่นด้วย ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดคดีจะลงเอยถึงขั้นทำให้คนเหล่านี้จำคุกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูวันข้างหน้า
“ขณะนี้สังคมให้ความหวังอย่างมากว่า การแก้ปัญหาวิกฤตในบ้านเมืองต้องหวังพึ่งสถาบันและองค์กรทั้งหลายที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดความถูก ความผิด ต้องมีความกล้าที่จะทำให้เรื่องผิดเป็นผิด เรื่องถูกเป็นถูก เพราะถ้าเป็นเหมือนในอดีต สามารถวิ่งเต้นกันได้ ในที่สุดสังคมก็จะไม่มีความคืบหน้าไปไหน จะจมอยู่ในวัฏจักรเดิม คือ คนกล้าทำผิดและไปวิ่งเต้น สามารถลบล้างได้ จนไม่มีใครคิดจะทำสิ่งที่ถูกต้อง” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวว่า หากคิดจะแก้มาตรา 237 ควรมีการหารือให้กว้าง นักการเมืองอย่าเป็นผู้ชี้ขาดแต่เพียงผู้เดียว ต้องเอาคนนอกเข้าร่วม และฟังความคิดของนักการเมืองด้วย และหากไม่มีมาตรา 237 จะมีมาตราใดทำให้การเมืองมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐบาล แต่อุปสรรคเกิดจากรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น ตั้งคณะกรรมาธิการไม่ได้ เพราะมีการแย่งตำแหน่งกัน กลัวการตรวจสอบ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ แต่สามารถมีจุดเริ่มต้นในการหารือโดยระดมคนจากหลายฝ่ายมาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งจะทำให้อนาคตการเมืองไทยเป็นไปในแนวทางที่ชอบธรรมมากขึ้น
ต่อข้อถามว่า ที่มีการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์จะสุกงอมในช่วงเดือนพฤษภาคม จนถึงขั้นมีการปะทะ หรือนองเลือด มองอย่างไร นายชวน กล่าวว่า เหตุการณ์จะเป็นไปตามลำดับ หากกระบวนการชี้ขาดของบรรดาสถาบันและองค์กรทั้งหลายมีความเด็ดขาด วิกฤตเกิดยากเพราะมีหลักอิง ประชาชนก็จะเชื่อมั่นว่าบ้านเมืองมีที่พึ่งพาได้ และความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องจะเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันประเทศชาติ ส่วนกรณีที่มีความพยายามปลุกระดมมวลชนขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบางคนนั้น นายชวน กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่จะขยายผลทำให้เกิดความรุนแรง เพราะมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อให้เป็นปฏิปักษ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง
“เช่นวันที่ผมไปรับหนังสือรับรองที่ กกต.ก็มีคนโห่ เห็นชัดเจนว่าเป็นคนจัดตั้ง และจ้างมา มีรายได้ประจำ รวมไปถึงคนที่โทรไปตามรายการวิทยุต่างๆ และส่งข้อความไปทางโทรทัศน์ ก็เป็นคนจัดตั้งทั้งนั้น แต่ที่คนนอกยังไม่รู้คือ มีวารสาร เอกสาร จดหมายที่ไม่ลงชื่อส่งไปตามสถานที่ต่าง ๆ โจมตีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน รวมทั้งองคมนตรี ซึ่งผมได้รับอยู่เกือบทุกอาทิตย์ กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เงิน คนธรรมดาทำไม่ได้ และสิ่งนี้เองที่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวเป็นความรุนแรง ถ้ายุติได้ทุกอย่างจะเบาลง” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีไปดูแลกระทรวงกลาโหม เท่าที่เห็นยังไม่มีปัญหาเรื่องการแทรกแซงกองทัพ หรือทำให้สูญเสียความเป็นสถาบัน แตกต่างจากสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เอาญาติ เอาพวกเข้ามา จนทำให้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตอนนั้นกองทัพมีปัญหามาก ทำให้ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น ถึงขนาดกลายเป็นแหล่งที่วางแผนการเลือกตั้ง แต่ช่วงหลังคิดว่ากองทัพก็คงทบทวนบทบาทตัวเอง ซึ่งก็ต้องระวังไม่ให้ย้อนกลับไปสู่ทิศทางนั้นอีก
ต่อข้อถามว่า มีการวิเคราะห์ว่าจะมีการทำรัฐประหารเงียบเพื่อล้างคดีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมองว่าความคิดที่จะแก้มาตรา 309 คือการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะบางเรื่องหลักฐานของ คตส. แน่นหนา ถ้าวิ่งเต้นไม่ได้เหมือนสมัยก่อน ทุกสถาบันตรงไปตรงมา แต่จะทำได้หรือไม่ต้องรอดู เพราะไม่คิดว่าสังคมจะยินยอมเรื่องนี้อย่างง่ายดาย เพราะรู้ดีว่าทำเพื่ออะไร แล้วจะมาใช้วิธีแบบพวกมากลากไป ถ้าไม่ชอบธรรมก็มีปัญหาอื่นตามมา เช่น การยอมรับของประชาชน