xs
xsm
sm
md
lg

“เพ็ญ” ส่อพิรุธเอื้อฮั้วประมูล NBT “อลงกรณ์” เตรียมส่ง ดีเอสไอ-สตง.ฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อลงกรณ์” เปิดแผล “เพ็ญ” เอื้อเอกชนฮั้วประมูล NBT ส่อพิรุธ 2 บริษัทคู่ประมูล มีที่ตั้งอยู่เลขที่เดียวกัน เตรียมส่ง ดีเอสไอ-สตง.เชือด ด้าน “เพ็ญ” แจงปากสั่น มีบริษัทเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 9 บริษัท ไม่ใช่แค่ 2 บริษัท ยันไม่รู้จัก ส่วน 2 บริษัทเช่าตึกเดียวกันทำธุรกิจปัดไม่เคยไปตรวจสอบ ลั่นหากมีการฮั้วจริงพร้อมตั้งกรรมการตรวจสอบ

วันนี้ (10 เม.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีวาระการพิจารณากระทู้ถามสด เรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือ ช่อง 11 โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถาม นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดย นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตลอด 1 เดือนในการบริหารงานหายใจเข้าออกเป็นเรื่องสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถือเป็นผลงานของรัฐมนตรีก็ได้ แต่จากการตรวจสอบได้พบความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้าง

โดยเห็นว่า รัฐมนตรีน่าจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยการเปิดประมูลให้บริษัทเข้ามาดำเนินการในสถานีนี้ มีเพียง 2 บริษัทเข้ามาเสนอราคา คือ บริษัท ดิจิตอลมีเดีย โพรดักซ์ ที่เสนอให้ค่าตอบแทนปีละ 36 ล้านบาท และบริษัท เคแอลมีเดียโพรดักซ์ ที่เสนอราคา 30 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดรัฐมนตรีได้เลือกบริษัท ดิจิตอลฯ เป็นบริษัทร่วมผลิตรายการกับกรมประชาสัมพันธ์ มีการลงนามเซ็นสัญญาในวันที่ 7 มี.ค.2551

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้ลงนามในสัญญาแล้ว บริษัท ดิจิตอลฯ ได้เพิ่มวงเงินค่าตอบแทนให้กับกรมประชาสัมพันธ์เป็น 40.5 ล้านบาท โดยมีการคาดการณ์รายได้จากการร่วมงาน บริษัท ดิจิตอลฯ จะได้เงินจากการหารายได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดจากอัตราค่าโฆษณาชั่วโมงละ 7 นาที จำนวน 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคิดเป็นเวลามากกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศตลอดทั้งวัน ซึ่งอย่างน้อยกรมประชาสัมพันธ์ควรจะได้รายได้จากการร่วมงานครั้งนี้ ไม่น้อยกว่า 750 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้ที่รัฐควรจะได้รับ

“จากการตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัท ดิจิตอลฯ เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ 5-6 เดือน และมีการเขียนข้อเสนอสัญญาเหมือนบริษัทจะรู้ล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐมนตรีเข้าไปร่วมเขียนการเสนอรายละเอียดการประมูลด้วยหรือไม่ ขณะที่บริษัท เคแอลเอ็มฯ นั้น ก็ทำธุรกิจรถเช่ามาก่อน ไม่ทราบทำไมรัฐบาลจึงไม่เลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ หรือว่าเป็นบริษัทที่ผลิตสื่อโดยตรง นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตว่า ทั้ง 2 บริษัท มีเลขที่ตั้งบริษัทอยู่ที่เดียวกัน คือ เลขที่ 731 ถนนอโศกดินแดง เขตดินแดง และมีเบอร์โทรศัพท์เบอร์เดียวกัน หากเรื่องนี้ถือเป็นความบังเอิญก็ถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก ที่ทั้ง 2 บริษัทจะมีที่ตั้งอยู่ในบ้านเลขที่เดียวกัน” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ที่รัฐมนตรีบอกว่า คัดเลือกบริษัทที่มีคุณภาพนั้น ไม่ทราบว่าใช้มาตรฐานอะไร เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีการใช้สื่อของรัฐและงบประมาณของรัฐ ไปในเรื่องที่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างการถ่ายทอดสดการเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นเอ็นบีที ก็มีการเสนอรายการ เด็กฉลาดชาติเจริญ ของมูลนิธิไทยคม รวมทั้งมีการจัดรถโอบีถ่ายทอดการเปิดตัวหนังสือของอดีตนายกฯ

ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ทำความชัดเจน ไม่ใช่ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เช่นนั้นบ้นเมืองจะไม่พ้นวิกฤต บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หากรัฐมนตรียังปฏิบัติเช่นนี้จะเกิดความสงสัยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ เพราะดูเหมือนจะตั้งหน้าตั้งตาบริหารแต่เอ็นบีทีอย่างเดียว และตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติ

โดยเฉพาะกรณีที่ผู้นำฝ่ายค้าน และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเชิญไปสนทนาเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พอถึงเวลากลับมีการเลื่อนออกไป ซึ่งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่จะสรุปส่งให้ดีเอสไอ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบต่อไป เพราะพฤติกรรมที่พบเข้าข่ายการฮั้วประมูล ซึ่งมีความผิดเข้าข่ายกฎหมายอาญา

ด้าน นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวชี้แจงว่า การเข้าร่วมประมูลทำรายการข่าวตามที่ถูกกล่าวหา มีบริษัทเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 9 บริษัท ไม่ใช่มีเพียง 2 บริษัทตามที่กล่าวหา ซึ่ง 7 บริษัทที่ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะการเสนอรายการเข้ามาส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเสนอเรื่องการผลิตข่าวซึ่งเป็นนโยบายหลักของสถานี เหมือน 2 บริษัท ที่ผ่านการพิจารณารอบแรก

อีกทั้งการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท ดิจิตอลฯ ได้เสนอรายได้ในรอบแรก 36 ล้านบาท ส่วนบริษีท เคแอลเอ็มฯ เสนอ 30 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการได้เลือกบริษัท ดิจิตอลฯ เข้ามาร่วมงานกับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อต่อรองเรื่องรายได้ที่จะให้กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งคณะกรรมการสามารถเรียกร้องรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

นายจักรภพ กล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยเรื่องที่ตั้งของทั้ง 2 บริษัทอยู่เลขที่เดียวกันนั้น ขอชี้แจงว่าสถานที่ตั้งดังกล่าวอยู่ที่อาคาร ทีเอ็มทาวเวอร์ ซึ่งอาคารดังกล่าวเปิดให้บริษัทต่างๆ เช่าจำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัทสื่อต่างๆ มักจะชอบเช่าอาคารอยู่บริเวณเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนอุปกรณ์และเทคโนโลยีระหว่างกัน แต่หากพบว่ามีการฮั้วทางธุรกิจในกรณีนี้จริง ก็ถือเป็นความผิดที่รัฐมนตรีต้องรู้และรับผิดชอบ

แต่ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยรู้จักและไม่ได้ไปตรวจสอบถึงที่ตั้งของบริษัท แต่หากมีข้อเท็จจริงตามที่สมาชิกอ้าง คงไม่มีปัญหาในการตั้งกรรมการสอบสวน พร้อมให้ตรวจสอบ แต่จะต้องตรวจสอบย้อนหลังไปถึงการทำสัญญาให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมผลิตรายการในอดีตด้วย ส่วนที่มีการถอดรายการที่มีผู้นำฝ่ายค้านและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนไม่ทราบว่ามีการเลื่อนรายการจริงหรือไม่ แต่รับจะไปตรวจสอบ หากทำจริงก็ถือว่าผิดนโยบายที่ทางเอ็นบีทีให้ไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น