xs
xsm
sm
md
lg

ธาตุแท้ “วรเจตน์” ป้อง “ระบอบแม้ว” สุดตัว ขวางพันธมิตรฯ ยื่นถอดถอน ส.ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดร.วรเจตน์” ชูมือหนุนแก้ รธน.50 ทั้งฉบับ เพราะหากแก้แค่บางมาตราจะมีปัญหาปะทุขึ้นไม่จบ ชี้ยิ่งแก้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ย้ำมาตรา 237 และ 309 สมควรแก้ อ้างแก้ที่หลักการ ส.ส.ที่ยื่นญัตติไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง พันธมิตรฯ ยื่นถอดถอนไม่ได้

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ถามจริง ตอบตรง

วันนี้ (7 เม.ย.) รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ถามจริง ตอบตรง” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ดำเนินรายการโดย นายจอม เพรชประดับ เกี่ยวประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ และควรจะมีการแก้ไขทั้งฉบับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ไขเฉพาะบางมาตราจะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาบางอย่างอาจจะไปปะทุขึ้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อย ๆ อีกทั้งการแก้เฉพาะบางมาตรา อาจจะมองได้ว่าเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง การแก้ทั้งฉบับจะเป็นการนำพาประเทศออกจากวิกฤติ

สำหรับการแก้นั้น ตนคิดว่าควรจะแก้ในตอนนี้เลย เพราะหากปล่อยเอาไว้ยิ่งช้าเท่าไหร่ความเสียหายก็จะยิ่งเกิดขึ้น ซึ่งถึงแม้จะบอกว่า ประเด็นการแก้ รธน.ตอนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนเลย แต่ตนมองว่าสาเหตุที่ต้องแก้ตอนนี้ก็เพราะหากเราไม่แก้ตอนนี้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลต่อสถานภาพความมั่นคงทางการเมืองและส่งผลต่อปากท้องของประชาชนในที่สุด และการแก้ทั้งฉบับ ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่าง รธน. ใหม่ทั้งฉบับ โดยเอาความเห็นจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่น่าจะมีใครคัดค้าน ซึ่งถึงแม้การแก้ทั้งฉบับอาจจะใช้เวลานาน แต่ตนก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ต่อคำถามว่า หากรัฐบาลคิดจะแก้เพียงมาตรา 237 มาตราเดียว อาจมองได้ว่าแก้เพื่อให้พรรคการเมืองของตัวเองพ้นผิดหรือไม่ ดร.วรเจตน์กล่าวว่า “ก็สามารถมองได้ ผมแต่อยากให้มองถึงระดับหลักการมากกว่า ผมเห็นว่ามาตรานี้ควรที่จะต้องแก้ไขแน่นอน เพราะหลักการนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งหากตีความตามถ้อยคำ ก็คือที่ผู้กระทำความผิดเพียงคนเดียว แต่กรรมการบริหารพรรคถึงแม้จะไม่ได้ทำผิดก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ด้วย รวมถึงการยุบพรรคด้วย ซึ่งผมคิดว่า กฎหมายข้อนี้จะตีความตามถ้อยคำไม่ได้ จะต้องตีความด้วยโดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมที่ควรจะเป็น”

ส่วนกรณี มาตรา 309 ที่มีการมองว่า หากแก้กฎหมายข้อนี้ จะเป็นการนิรโทษกรรม ให้กับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหรือไม่นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า คิดว่าไม่เกี่ยวกันเพราะ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งไปโดยตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงแม้ยกเลิกมาตรา309ไป ก็ยังมีผลในทางกฎหมายอยู่ ส่วนเรื่องของ คตส.นั้น ถึงแม้ยกเลิกมาตรา 309 ไป องค์กรนี้ก็ยังอยู่ต่อไป แต่หากยกเลิก จะมีผลตรงที่ว่า จากเดิมที่มีการรับรองการทำงานของ คตส.เอาไว้ทุกอย่างว่าชอบด้วยกฎหมายเสมอ จะถูกยกเลิกไป ซึ่งตนก็เห็นว่าหากกระทำที่ผ่านมาของ คตส.นั้นชอบด้วยกฎหมาย ผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระดำเนินการของ คตส. ก็ยังอยู่ แต่หากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งก็เป็นไปตามหลักความถูกต้องที่ควรจะเป็น ซึ่ง รธน.ไม่ควรไปเขียนเพื่อให้รองรับว่า ส่วนที่เค้าทำจะต้องถูกต้องเสมอ แต่การกระทำของ คตส. ควรจะต้องสามารถตรวจสอบได้

ส่วนกรณีที่มี กลุ่มต่อต้านการแก้ รธน. เช่นกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาบอกว่าจะใช้วิธีรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ส.ที่ยื่นญัตติแก้ไข รธน. โดยบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้(แก้ ม.237 เพื่อให้พ้นจากการยุบพรรค) เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขัดกันซึ่งผลประโยชน์นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะการที่ ส.ส. จะแก้กฎหมายอย่างไรก็ต้องมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่นหากจะตรากฎหมายภาษี ส.ส.เองก็ต้องเสียภาษี มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน ดังนั้นหากเอาบรรทัดฐานดังกล่าวมาวัด ก็จะไม่สามารถแก้ไขกฎหมายใด ๆ ได้เลย

“ผมเห็นว่าเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ เราควรพูดกันในระดับของหลักการ อย่าไปมองเพียงว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมคิดว่าหากทุกคนยอมถอยกันคนละก้าวแล้ว ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมันมีปัญหาตามหลักการจริง ๆ ก็น่าจะทำให้ปัญหาดังกล่าวมีทางออกได้”ดร.วรเจตน์กล่าว

อนึ่ง สำหรับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น 1 ใน 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศตัวสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากบทบาทที่ผ่านมาแม้จะประกาศตัวว่าเป็นกลาง แต่มักจะแสดงความคิดเห็นในทางที่เป็นประโยชน์ต่อระบอบทักษิณมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การออกมาคัดค้านบทบาทของตุลการภิวัฒน์ ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษ กกต.ยุค “3 หนา” และถือเป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในช่วงการลงประชามติ

ทั้งนี้ รายการ“ถามจริง ตอบตรง”เริ่มออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ด้วยการสัมภาษณ์นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และในวันที่ 2 เมษายน มีกำหนดจะสัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ได้มีการยกเลิกก่อนถึงเวลานัดเพียง 1 ชั่วโมง

กำลังโหลดความคิดเห็น