xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ลั่น 3 แนวต้านย่ำยี รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-พันธมิตรฯกำหนด 3 มาตรการเคลื่อนไหวต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ "ระบอบทักษิณ" และเครือข่าย ชี้ มีนัยซ่อนเร้นต้องการเปลี่ยนสถานะสังคมไทย กระทำการเหมือน "ฮิตเลอร์" ที่ใช้เสียงในสภาแก้ไขตามอำเภอใจ "สนธิ" เตือนสุดอันตราย ด้านนักวิชาการนิติศาสตร์ ชี้นักการเมืองจะปฎิเสธความรับผิดชอบ ส่วนหาดใหญ่โพล เผยชาวใต้เชื่อ พปช.แก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีความผิด

วานนี้ (2 เม.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,นายพิภพ ธงไชย ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน เข้าร่วมประชุม พร้อมได้แถลงจุดยืนของพันธมิตรฯต่อกรณีความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายสนธิ ได้สรุปมาตรการการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯอีกครั้ง ว่า มี 3 ขั้นตอนดังนี้ 1.จะยื่นเรื่องเสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อส่งต่อไปยังตุลาการรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของพรรคพลังประชาชน เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.การอาศัยสิทธิตามมาตรา 122 ในการล่ารายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภา ถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่ร่วมลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระทำความผิดเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่กฎหมายกำหนดห้ามเอาไว้ และ 3.ถ้ายังดึงดันก็จะประกาศเคลื่อนไหวเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศมาร่วมเคลื่อนไหวต่อไป

นายสนธิ ย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ไม่ร้ายเท่า มาตรา 309 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการฟอกความผิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบคัว และมิตรสหาย เนื่องจาก เมื่อมีการแก้ไขมาตรา309 แล้ว โทษต่างๆ การฟ้องร้องต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ทำ หรือขึ้นสู่ศาล ของอดีตนายกรัฐมนตรี ก็จะหมดไปโดยปริยาย ขณะที่ มาตรา 237 นั้น ถึงแม้จะมีการยุบพรรค แต่ด้วยเงินด้วยทองที่มี ด้วยเครือข่ายเก่าๆ ที่มี สามารถตั้งพรรคใหม่ พรรคไหนก็ได้

"หากพรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขจริงๆ ก็ต้องแสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้ง โดยการยุบสภา แล้วบอกกับประชาชน ว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง หรือใช้วิธีทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย พิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ทำรวบรัด หักดิบกันแบบนี้ "นายสนธิกล่าว และชี้ว่า การกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ คราวนี้ ส่อไปในทางรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง จนทำให้ นายสมัคร ทนไม่ไหวต้องออกมาปูดข่าวและขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 จนกระทั่งมีการส่งนายกุเทพ ใสกระจ่าง ซึ่งเป็นโฆษกพรรคพลังประชาชน ออกมาด่าหัวหน้าพรรคตัวเองที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี

"ตั้งแต่ผมอยู่ในวงการเมืองมา ศึกษาการเมือง ทำข่าวเกี่ยวกับการเมือง เพิ่งจะมีครั้งนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่โฆษกพรรคออกมาด่าหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นพิสูจน์ชัดเจนว่าใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของพรรคพลังประชาชน อันนี้ก็รวมไปจนถึงบรรดานักการเมืองปากกล้าทั้งหลายของพรรคพลังประชาชน ที่ออกมาด่าว่า พันธมิตรฯ กระแหนะกระแหนพันธมิตรฯ ทั้งหมดนี้ก็ทำตามคำสั่งของเจ้าของพรรค" นายสนธิกล่าว พร้อมยืนยันว่า

หากเรายอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ได้ นี่คือการยอมให้ความสามานย์เข้ามาในแผ่นดินไทย และยอมให้ความผิดนั้นปรากฏอยู่ในแผ่นดินไทย โดยที่พวกเราไม่ยอมทำอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว หากเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นประเทศไทยไม่ใช่ประเทศไทยที่เราเคยรู้จักมาก่อน ประเทศไทยนั้นจะถูกตั้งราคาด้วยเงิน ใครมีเงินมาก คนนั้นก็ซื้อเสียงเข้ามา เมื่อซื้อเสียงเข้ามาแล้วก็สามารถที่จะทำอะไรก็ได้

ที่สำคัญ นายสนธิ กล่าวว่า การนิ่งเฉยแล้วยอมรับความชั่วช้าสามานย์ใช้เสียงข้างมากแก้ไขแบบหักดิบ เรายอมไม่ได้ พร้อมทั้งระบุว่า "นัยยะที่ลึกซึ้งคาดไม่ถึง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามธรรมชาติต้องถามประชาชนและใช้เวลาพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย แต่รู้มาว่า จะมีการผลักดันแก้ไขให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ โดยใช้เสียงฝ่ายข้างมากที่ตัวเองมีอยู่ และต่อไปหากทำสำเร็จอาจนำไปสู่การแก้ไขในเรื่องระบบกษัตริย์ เปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดีก็เป็นได้ และถ้าหาก พ.ต.ท. ทักษิณ หลุดคดี ก็อาจจะมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทยก็ได้ "

ระวังภัยพิบัติล้มระบอบประเทศ

สมเกียรติ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของพรรคการเมือง และตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ดังนั้น มวลชนส่วนใหญ่จึงไม่ขานรับและสนับสนุน แทบไม่มีองค์กรใดของภาคประชาชนขานรับการแก้ไขปัญหาฟอกตัวเองเลย กลับตรงกันข้าม ได้เกิดองค์กรมากมาย มากกว่า 10 องค์กร ผนึกกำลังกันที่จะสนับสนุนและหนุนช่วยพันธมิตรฯ รวมทั้งองค์กรเครือข่าย เพื่อยกระดับการต่อสู้เข้าไปสู่การคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่า ประชาชนจะใช้ช่องตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด แม้กระทั่งมาตรา 70 ที่ปกป้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การเข้าชื่อ 20,000 คน เราจะเห็นแนวรบภาคประชาชนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยเฉพาะการเข้าชื่อ 20,000 คน จะเป็นการโหมกำลังของคนทั้งประเทศ ที่เป็นพลังทางศีลธรรม ตื่นขึ้นโดยมโนธรรมสำนึกของพวกเขาเองที่จะลุกขึ้นมาปกป้องชาติบ้านเมือง "

อย่าใช้อำนาจข่มขืน รธน.

นายสุริยะใส กล่าวถึงขั้นตอนการเคลื่อนไหว ว่า ถ้ามีการยื่นญัตติทันที ก็ปรากฎว่าพฤติกรรมต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2 มาตราเกิดขึ้นทันที คือ มาตรา 68 การได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 122 คือ การกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้น กระบวนการการเริ่มต้นล่า 20,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีความชอบธรรมทันที และมีผลในทางกฎหมายทันที
 
"กระบวนการล่ารายชื่อจะแจ้งให้ทราบอีกที ตอนนี้อยู่ระหว่างการยกคำร้อง อาจจะใช้วิธีรณรงค์ตามเครือข่ายทั่วประเทศ และในหัวเมืองใหญ่ รวมทั้งในกรุงเทพฯ เช่น ไปตั้งโต๊ะในจุดชุมชนสำคัญๆ ซึ่งอันนี้จะเป็นกิจกรรมที่จะแจ้งให้ทราบอีกทีหนึ่ง ทันทีที่ญัตตินี้เข้าสู่สภาอย่างเป็นทางการ"นายสุริยะใส กล่าว

นายพิภพ ย้ำว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯจะดำเนินการอย่างสงบและสันติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการดำเนินการของพรรคพลังประชาชนในคราวนี้ มีลักษณะเหมือนกับในสมัย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ใช้เสียงข้างมากในสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ตัวเองต้องการ โดยเชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯจะมีหลายองค์กรเห็นด้วย

นายสมเกียรติ มั่นใจว่า ประชาชนจะรู้ทันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว เท่านั้น ทำให้ไม่มีใครขานรับ พร้อมทั้งเปิดเผยว่าขณะนี้มีกว่า 10 องค์กรที่ตอบรับมาร่วมประชุมหารือกันเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในกลางเดือนเมษายน เพื่อยกระดับการคัดค้าน โดยจะเริ่มจากวันเสาร์ที่ 5 เมษายน นี้ ที่สวนลุมพินี เพื่อต่อต้านภัยจากนักการเมือง

เกิดเหตุวุ่นวายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

พล.ต.จำลอง กล่าวถึงการก่อกวนของกลุ่มอันธพาล ว่า วัตถุประสงค์ของพวกก่อกวนเพื่อต้องการให้เกิดความท้อถอย พร้อมย้ำว่าบ้านเมืองเกิดความวิกฤตกว่าทุกครั้ง เพราะไม่มีการเคารพกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

นายสมศักดิ กล่าวว่า หากความวุ่นวายในบ้านเมืองถ้าเกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ เพราะต้องมีหน้าที่รักษาความสงบ เพราะพันธมิตรฯได้ชุมนุมตามกรอบของกฎหมาย

นักวิชาการชี้นักการเมืองเอาตัวรอด

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณาจารย์นิติศาสตร์ อีก 9 คน ออกแถลงการณ์ เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 มีใจความสรุปว่า มาตรา 237 เป็นบทบัญญัติที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พรรคการเมืองมักปฏิเสธความรับผิดจากการดำเนินงานของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้การเมืองวนเวียนกับการทุจริตอย่างไม่มีทางแก้ไข

หาดใหญ่โพลชี้ พปช.แก้ รธน.เพื่อหนีความผิด

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,100 ตัวอย่างดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 51 โดยผลการสำรวจในประเด็นการยุบพรรคการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่ 55.7% เห็นด้วยกับมติของที่ปรึกษากกต.เกี่ยวกับการยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และ 43.3% ไม่เห็นด้วยกับมติของที่ปรึกษา กกต.เกี่ยวกับการยุบพรรค 2 พรรคดังกล่าว มีเพียง 1% ไม่แสดงความคิดเห็น

และจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า ประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ 52.3% เห็นว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้พ้นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ กกต.และศาล และ44.2 % เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับความผิดที่เกิดจากการเลือกตั้ง มีเพียง 3.5 % ไม่แสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ เห็นว่าไม่ควรแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ 50 ในทุกมาตรา และเรียงตามลำดับที่ไม่ควรแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ มาตรา 237 (63.7%) มาตรา 309 (57.8% )มาตรา 265 (56.4% ) มาตรา 266 (51.6% ) มาตรา 261 (49% ) และมาตรา 190 (45.3% )
กำลังโหลดความคิดเห็น