xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ปัดได้ประโยชน์หากมียุบพรรครัฐบาล-ต้านแก้เพื่อตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันไม่ได้ประโยชน์หากเกิดการยุบพรรคร่วมรัฐบาล ระบุหากมีการยุบจริง ส.ส.สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้และยังมีเสียงข้างมากอยู่เหมือนเดิม ย้ำเพราะเป็นการแก้ไขมาตรา 237 เพื่อตัวเอง

วันนี้(7 เมษายน) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความพยายามออกมาชี้ให้เห็นว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านนั้น เพื่อหวังให้บางพรรคการเมืองถูกยุบพรรค และได้จัดตั้งรัฐบาล ว่า ตนอยากเรียนว่าการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 237 นั้นเพราะเห็นว่าเป็นการเสนอแนวคิดให้แก้ไขเพราะหวังผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม และที่สำคัญพรรคเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีการแก้ไขมาตรานี้ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง ที่นำไปสู่การยุบพรรคควรเป็นไปตามครรลองของการพิจารณา

นายองอาจ กล่าวว่า การพิจารณายุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญคงจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง โดยหากมีการยุบพรรคการเมืองจริง ช่วงเวลานั้นจะทำให้ส.ส.ในพรรคสามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่หรือตั้งพรรคการเมืองสำรองได้ ภายใน 60 วัน ซึ่งหลายคนก็ทราบกันดีว่ามีหลายพรรคที่เตรียมไปจัดตั้งพรรคการเมืองสำรองเอาไว้แล้ว เพื่อให้ส.ส.จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคไปสังกัดพรรคการเมืองนั้น ดังนั้น บุคคลที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินยุบพรรค ก็จะมีกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีส่วนหนึ่งและส.ส.ส่วนหนึ่ง ประมาณ 60 กว่าคน จะเห็นได้ว่าจำนวนนี้จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่แทนคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

นายองอาจ กล่าวว่า ถ้าดูแนวโน้มการเลือกตั้งรอบใหม่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่าส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลมักจะได้รับเลือกกลับเข้ามาอีก ด้วยเหตุนี้โครงสร้างของรัฐบาลและส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาลจึงไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก และพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังสามารถเป็นรัฐบาลต่อไปได้เหมือนเดิม โดยมีเสียงส.ส.สนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ไม่ได้ประโยชน์ว่าเราจะกลับมาเป็นรัฐบาล แต่เราเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ และเพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยุบพรรค ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ รัฐบาลต้องชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการพิจารณาตัดสินว่าจะยุบพรรคหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์โดยกลับมาเป็นรัฐบาลจึงออกมาคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่เป็นความจริงแต่เราคัดค้านเพราะต้องการเห็นหลักการที่ถูกต้องเกิดขึ้นในบ้านเมือง ไ ม่ต้องการเห็นการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ในระยะเวลาที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มจากมาตรา 237 ต่อมาก็เป็นมาตรา 309 และก็เป็นอีกบางมาตรา ท้ายที่สุดส่วนหนึ่งพรรคแกนนำรัฐบาลก็ประกาศว่าประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายในเวลาอันรวดเร็ว ในส่วนของพรรคมองว่า ขณะนี้พรรคแกนนำรัฐบาลหยิบยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับขึ้นมาเพื่ออำพรางจุดประสงค์ที่แท้จริงเพื่อต้องการแก้ไขรับธรรมนูญมาตรา 237 และ 309 เป็นหลัก ส่วนมาตราอื่นนั้น หรือ ที่บอกว่าจะแก้ไขทั้งฉบับเพื่ออำพรางมากกว่า ทำไมจึงเอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาอำพรางทั้งที่จุดประสงค์หลักต้องการแก้มาตรา 237 และ 309 เพราะรัฐบาลรู้ดีว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญสองมาตรานี้สำเร็จ

“สิ่งที่เห็นที่ชัดเจนก็คือ เป็นการแก้เพื่อเปิดช่องให้ยกประเด็นข้อกฎหมาย ขึ้นมาต่อสู้ในการพิจารณาคดีต่างๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล ขณะที่ประเด็นข้อเท็จจริงแต่ละกรณีแทบจะไม่มีช่องทางที่จะมาหักล้างได้เลย เพราะมีข้อมูลหลักฐานเป็นประจักษ์พยานว่าเกิดเหตุการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญว่าทำไมต้องแก้มาตรา 237 และ309 โดยใช้การแก้ทั้งฉบับมาบังหน้า อำพรางมาตราเหล่านี้เพื่อให้สังคมตายใจและมีความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้แก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตาดูว่าทำเพื่อประโยชน์ของใคร”

นายองอาจ กล่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เคยพูดชัดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนหมดวาระ แต่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลกลับออกมาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งรีบ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา และเจตนารมย์การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติจริงตามที่นายกฯประกาศหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า การที่นายกฯไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พรรคเห็นว่านายกฯควรรับฟังความเห็นที่แตกต่างแล้วนำมาใช้ปรับปรุงในการทำงาน ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวรัฐบาลและประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยมองว่าเป็นเสียงที่น่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย รัฐบาลก็จะเดินไปสู่การทำงานที่ไม่ถูกต้อง และผลกระทบก็ตกอยู่ที่ประชาชนและประเทศ และรัฐบาลก็สามารถกลั่นกรองความคิดเห็นต่างๆได้ ซึ่งสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็ควรรับฟัง แต่อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องสนใจ

“การไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นอาจนำอันตรายที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคมที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ มาสู่รัฐบาลเอง และเมื่อประชาชนมีความขัดแย้งกันสูง โอกาสที่จะใช้ความรุนแรงก็มีมากขึ้นกว่าการใช้เหตุผล อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองเราขณะนี้ยังให้โอกาสและอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่องมากกว่าที่จะเห็นการทำงานของรัฐบาลสะดุดหยุดลง”นายองอาจ กล่าว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาข้าว ว่า จากการที่รัฐบาลส่งสัญญาณที่ผิดว่าราคาข้าวจะขึ้นไปอยู่ที่ตันละ 30,000 บาท ทำให้มีการกักตุนข้าวจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่ชาวนา แต่ตกอยู่ที่พ่อค้า ดังนั้น พรรคขอเรียกร้องให้รัฐบาลระมัดระวังการนำเสนอนโยบายที่อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาที่อาจยากที่จะแก้ไข

ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลควรทำคือ 1.เร่งแก้ไขปัญหาการกักตุนข้าว 2.ควรเข้าบริหารจัดการสต๊อกข้าวจำนวน 2.1 ล้านตันให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด 3.ควรเข้าไปจัดการกับการตกเขียวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยมีพ่อค้าข้าวบางรายได้นำปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับชาวนาไปก่อนแล้วให้ชาวนาส่งข้าวมาใช้คืน ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลไม่รีบเข้าไปแก้ไข ราคาข้าวที่สูงขึ้นก็จะไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับชาวนา แต่จะตกอยู่ที่คนกลุ่มอื่นมากกว่า 4.ควรเข้าไปดูแลราคาข้าวสารที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าสูงขึ้นเพียง 2-3 บาท แต่ที่จริงแล้วในต่างจังหวัดราคาสูงกว่าปกติค่อนข้างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น