“สมเกียรติ” ซัดแหลกรัฐบาลไร้ยางอายหากยังดื้อดึงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง สวดยับ “หมัก-เหลิม” อย่าพยายามข่มขืนประเทศชาติ ด้าน “ประพันธ์” สันนิษฐานพวกโวยวายใช้ยาแรงจ้องโกงประเทศชาติ ขณะที่ “ไชยันต์” ตอกซ้ำ พปช.ไม่สำนึก กลับยกหาง “ยงยุทธ” ให้น่งเก้าอี้ประธานสภาฯ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเปิดประเด็นซักถามนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายประพันธ์ คูณมี อดีต สนช. และ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกรณีที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตรา 237 และมาตรา 309
โดย นายสมเกียรติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความจนตรอกของนักการเมือง ซึ่งดำรงชีพจากการกระทำผิดกฎหมายมาค่อนข้างมาก ซึ่งถือว่าตบหน้าประชาชน และข่มขืนประเทศ โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล ทำการโกหก เนื่องจากตอนที่ประกาศว่านโยบายเร่งด่วน 19 ข้อ ไม่มีข้อไหนที่ระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่ข้อเดียว ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเปิดให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งคนพวกนี้จะทำการข่มขืนรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว
“รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ไร้ยางอาย และเป็นรัฐบาลที่อัปยศอดสูที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมทั้งนายกฯ ยังดัดจริตว่าจะแก้ไขใน 4 ปี คือภายใน 3 เดือนสุดท้าย เหมือนกรณีการยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งคณะตุลาการ 9 เสียง ลงมติเอกฉันท์ว่าพรรคไทยรักไทยไม่เคารพยำเกรง และทำเพื่อให้ได้อำนาจมาปกครอง รวมทั้งไม่ปฏิบัติตามประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งพอมาถึงตอนนี้จะมีการยุบ 3 พรรคการเมือง ทำให้ไอ้พวกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เดือนร้อน จะเป็นจะตาย เพราะเป็นนักการเมืองซากเน่าที่ฝังตัวอยู่” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า รู้อยู่แล้วว่าทำผิดกฎหมาย แต่ก็ยังทำ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คนชั้นกลางจะยอมรับได้หรือไม่ ดีไม่ดีบทบัญญัติจะถูกรื้อ เพราะเขาต้องใช้แนวร่วมสูงขึ้น และพรรคการเมืองพวกนี้ไม่สร้างสรรค์ ทำให้ประชาชนเริ่มรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นนายสมัครและ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และคนอื่นๆ อย่าไปหลงว่าจะข่มขืนประเทศอย่างไรก็ได้ เพราะการล้มลงของทุกระบอบในอดีตก็มาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนสามารถพูดได้เลยว่าในอดีตเขาสามารถแทรกแซงองค์กรอิสระได้ จนมาถึงวันนี้เขาจึงพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงองค์กรอิสระ ตั้งแต่วุฒิสภา กกต. หรือแม้แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ป.ป.ช. จึงไม่แปลกใจที่เขาลุกขึ้นมาปกป้องนายยงยุทธ เป็นกรณีพิเศษ
ด้าน นายประพันธ์ กล่าวว่า ถ้าดูจากพฤติกรรมของคนในพรรคนี้ ซึ่งมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งคิดว่าเป็นวัฒนธรรมของเขาไปเสียแล้ว โดยจะไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์อะไรเลย โดยเฉพาะการไปเกณฑ์พรรคเล็กพรรคน้อยให้ไปลงเลือกตั้ง จนได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบ จนมาวันนี้ออกมาบอกว่ามีการวางยากัน หรือจะเอาให้ตาย ซึ่งตนก็คิดว่าถูกต้องแล้วสำหรับการกวาดล้างความชั่ว โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะไปฆ่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เขามีบทเรียนจากคดียุบพรรค ถ้าพรรคใดไม่สร้างสรรค์ และไม่มุ่งไปในทางปฏิรูปการเมือง และไม่มีลักษณะที่เป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นเขาจึงวางหลักเกณฑ์เอาไว้
“คำว่ายาแรงนั้น มันดีสำหรับคนที่มุ่งจะกระทำความผิด และมุ่งที่จะแสวงหาอำนาจ หรือผลประโยชน์ ซึ่งถ้าสุจริตชนพูด ก็จะบอกว่ากฎหมายข้อนี้ยังเบาเกินไป ถ้าทุกคนเคารพกฎหมายก็คงไม่ใช่ยาแรง ฉะนั้นถ้านักการเมืองที่ออกมาบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เป็นยาแรง ก็ให้สันนิษฐานไว้ได้เลยว่ากำลังจะโกงกินชาติบ้านเมือง” นายประพันธ์ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองบางพรรคยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง ก็มีหวังที่เราจะได้เห็นการยุบพรรคเกิดขึ้นอีก ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าไม่ควรลงโทษเหมายกเข่งนั้น อยากจะเรียนให้ทราบว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวเรื่องของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งมีแนวโน้มว่าถูกยุบพรรค แต่พรรคพลังประชาชนกลับนิ่งเฉย ไม่แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่รู้เห็นด้วย ซ้ำยังกลับสนับสนุนยกมือให้เป็นประธานสภาเสียอีก ทั้งๆ ที่ควรเอาคนของตัวเองเข้ากระบวนการยุติธรรม แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ร่วมมือกับประชาชนเลย
“กรณีนี้ไม่ต่างจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งไม่ได้แสดงอาการอะไรเลย กลับไปบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ใส่ร้ายป้ายสี ทั้งๆ ที่ควรจะแขวนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไว้ จริงๆ แล้วประชาชนอย่างเราก็สามารถไปตักเตือนนักการเมืองได้ และถ้านักการเมืองลงเลือกตั้งหาเสียงอย่างถูกต้อง ก็เท่ากับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงคะแนนของประชาชนไปด้วย สมมติว่าเขาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นจริงๆ สิ่งที่เราต้องการที่จะพบกันครึ่งทางก็คือ กรรมการบริหารพรรคทั้งพรรคต้องไปทั้งหมด” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว