“ปลื้ม” ไม่เลิกซ่า! หลังโดนถล่มหนัก กรณีเขียนวิจารณ์คนกรุงเทพฯที่ลงคะแนนเลือก “รสนา” เป็น ส.ว.ล่าสุด ใช้คอลัมน์ของตัวเองโจมตีพันธมิตรฯ อ้างสัมมนา 28 มี.ค.สร้างเงื่อนไขยึดอำนาจ-ทำความแตกแยก ซ้ำเหน็บแนมคนขึ้นเวทีเคยถูกศาลพิพากษาระวังทำผิดซ้ำ จน “สนธิ ลิ้มทองกุล” ต้องเขียนจดหมาย เรื่อง “ความเห็นที่น่าอดสูของ Anchorman” สอนความรู้ประชาธิปไตยและภาษาอังกฤษให้ลูกชายอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ
หลังจากข้อเขียนในคอลัมน์ Anchorman ของ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 13 มีนาคม 2551 ที่เขียนวิจารณ์คนกรุงเทพฯที่ลงคะแนนเลือก น.ส. รสนา โตสิตระกูล เป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าเป็นพวกที่ “ไม่ฉลาด” ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และเว็บไซต์อื่นๆ โดยมีการแสดงความคิดเห็นต่อสติปัญญาของผู้เขียนอย่างมากมาย
คอลัมน์ Anchorman วันที่ 20 มีนาคม 2551 ผู้เขียนระบุว่า ผู้ที่วิจารณ์เขาในเว็บนั้น พูดนอกประเด็น เขายังอ้างว่าบทความของเขาที่แปลเป็นภาษาไทยนั้นแปลผิดความหมาย ทำให้เขาถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม
ในข้อเขียนที่ตั้งชื่อว่า “Respecting The Majority Vote – Not only in Bangkok” ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เขียนว่า ถ้าคนกรุงเทพฯต้องการให้เขายอมรับในเสียงที่เลือก น.ส.รสนา เป็นวุฒิสมาชิก คนกรุงเทพฯก็ควรยอมรับการตัดสินใจของประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานด้วย
แต่เป้าหมายของข้อเขียนนี้ คือ โจมตีการจัดสัมมนาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเขาระบุว่า เป็นเจตนาสร้างเงื่อนไขให้มีการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง และกล่าวหาว่า การชุมนุมต่อต้านระบบทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นสาเหตุแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อีกทั้งผู้นำในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ยังเคยถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งหมายความถึง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ดังนั้น ผู้ที่ไปร่วมการสัมมนาในวันที่ 28 มีนาคมนี้ จะเป็นการทำผิดซ้ำสอง
ม.ล.ณัฎฐกรณ์ ยังเลือกใช้คำพิพากษาของศาลอาญาบางตอนมากล่าวหา นายสนธิ ว่า ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก
นายสนธิ จึงได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ว่าด้วยเรื่อง ความรู้ในเรื่องประชาธิปไตย และความรู้ภาษาอังกฤษ ของ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ ผ่านข้อเขียนชื่อ “A disgraceful exercise by Anchorman“ หรือ “ความเห็นที่น่าอดสูของ Anchorman” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 21 มีนาคม ในคอลัมน์ Post Bag
A disgraceful exercise by Anchorman โดย สนธิ ลิ้มทองกุล (จากคอลัมน์ Post Bag หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันที่ 21 มีนาคม 2551 หน้า 12) ข้อเขียนล่าสุดของ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล พาดพิงถึง และกล่าวหา ความคิดเห็นการกระทำบางอย่างของผม ม.ล.ณัฎฐกรณ์ ยกตัวว่า “รู้ภาษาอังกฤษ” และเป็นห่วงว่า ข้อเขียนของเขาจะถูกนำไปแปลอย่าง “ผิดความหมายและใช้สำนวนที่ยืดยาด” ทำให้ถูก “โจมตีอย่างไม่เป็นธรรม“ ในหนังสือพิมพ์ไทย ที่จริงแล้วผู้อ่านจะเข้าใจความคิดของเขาได้ง่ายขึ้น ถ้าเขารู้จักใช้ภาษาอังกฤษแบบที่คนรู้ภาษาอังกฤษเขาใช้กัน ถึงแม้ผมจะพยายามอย่างที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าถึงความหมายที่ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อเขียนที่ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ คิดว่าเป็นข้อเขียนที่ “เย้ยหยันมากเกินไป” ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เตือนคนกรุงเทพฯว่า กำลังเผชิญกับ “การทดสอบครั้งประวัติศาสตร์“ ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ “จะมีการชุมนุมของคนที่ผู้นำของพวกเขาถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลามากกว่า 6 ปี” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คดีหมิ่นประมาทที่ศาลตัดสินว่าผมผิด ซึ่ง ม.ล.ณัฎฐกรณ์ อ้างถึงนั้น อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ รู้ หรือควรจะรู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการพลิกคำพิพากษา และไม่สามารถถูกนำมาใช้ปิดกั้น สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของผมได้ ผมไม่อาจแสดงความเห็นต่อคำพิพากษาซึ่งอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ได้มากนัก แต่ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการปกป้อง “เศษซากที่ยังคงหลงเหลืออยู่” ของภาพลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยของไทย น่าจะถามตัวเองว่า มีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ไหนบ้างที่ถือว่าคดีหมิ่นประมาทอย่างที่ผมถูกกล่าวหานั้นเป็นคดีอาญา และแน่นอนว่า ไม่มีที่ไหนที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงที่การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจะถูกตั้งข้อสงสัย ยิ่งไปกว่านั้น มันตั้งแต่เมื่อไรที่คนที่เป็นคดีความ (ผมหมายถึงคดีที่ร้ายแรงกว่าคดีหมิ่นประมาทที่ผมถูกกล่าวหาซึ่งในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ถือเป็นคดีแพ่ง) ถูกห้ามไม่ให้พูดเพราะ แม้แต่คนบางคนก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ได้ ไม่ใช่หรือ? เนลสัน แมนเดลลา ติดคุกอยู่ถึง 27 ปี แล้วเขาควรถูกห้ามแสดงความเห็นทางการเมืองในประเทศของเขาไหมล่ะ? ผมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ และขอเรียกร้องให้ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ ยอมรับว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นเป็นกระดูกสันหลังที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตย การกล่าวหาผมหรือใครก็ตามที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญว่าเป็นพวกที่ทำให้เกิดการรัฐประหารหรือต้องการสร้างเงื่อนไขให้มีการยึดอำนาจอีกครั้ง ไม่เพียงแต่เป็นความโง่เขลาเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความเห็นอันน่าอดสู ของคนที่ได้เลือกข้างทางการเมืองแล้ว แต่เสแสร้งทำเป็นว่าเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย |
(หมายเหตุ : ข้อเขียน A disgraceful exercise by Anchorman โดย สนธิ ลิ้มทองกุล แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
กำหนดการ"ยามเฝ้าแผ่นดิน" ภาคพิเศษ 28 มี.ค.51