กกต.ยันส่งเรื่องให้ที่ปรึกษากฎหมายช่วยตีความมาตรา 103 พ.ร.บ.เลือกตั้งกรณียุบพรรคชาติไทย-มัชฌิมาฯ เพื่อความชัดเจนไม่ใช่การหลงทาง ชี้ถ้ากรรมการบริหารพรรคได้รับใบแดงจะส่งให้ตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคโดยอัตโนมัติหรือไม่ อีกทั้งเพื่อสร้างบรรทัดฐานในอนาคตต่อไป
วันนี้ (20 มี.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนการยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ว่าขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้หารือถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร เพราะยังมีปัญหาด้านข้อกฎหมายที่ยังขัดกันอยู่ กกต.จึงให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ดูเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าบทบัญญัติมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. รวมทั้งมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่าข้อกฎหมายแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ซึ่ง กกต.จะรอคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายที่ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง ส่งความเห็นมา
“กกต.แต่ละคนก็ยังไม่ได้สรุปความเห็น ซึ่งประเด็นข้อกฎหมายต้องส่งให้ที่ปรึกษาตีความก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ” นายประพันธ์ระบุ
ส่วนกรณีที่ นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ระบุว่ากฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พิจารณา เพียงแต่ขอให้ที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาก่อน เพราะยังมีปัญหาการตีความข้อกฎหมายว่า กรรมการบริหารพรรคที่ถูกใบแดงจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคโดยอัตโนมัติเลยหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาจะเป็นบรรทัดฐานในเรื่องอื่นต่อไป ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้ กกต.ตีความอย่างหนึ่ง พออีกเรื่องหนึ่งตีความอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องดูอย่างระเอียดรอบคอบ และขอยืนยันว่า กกต.ดำเนินการอย่างรอบคอบแล้วและไม่ได้หลงประเด็นตามที่นักวิชาการหลายคนแสดงความเห็น
เมื่อถามว่า ขณะที่ยกร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมย์ต้องการให้ดำเนินการกับกรรมการบริหารพรรคทันทีใช่หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ตอนที่ร่างกฎหมายไม่มีคนใดคนหนึ่งสามารถดำเนินการได้คนเดียวเพราะความเห็นมันหลากหลาย และส่วนตัวเห็นว่ายังต้องตีความด้านกฎหมาย เพราะในบทบัญญัติมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. และ มาตรา 95 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 95 ยังมีความเห็นไม่ค่อยตรงกัน
ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า การแสดงความเห็นของนายสุเมธ กรณียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ถือเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่กดดันคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่กำลังจะมีการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมาย และยืนยันว่าขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้มีมติทางกับคณะอนุกรรมการสอบสวน แต่มีมติเพียงข้อกฎหมายมีปัญหา ที่ที่ปรึกษาจะต้องไปพิจารณา อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ปรึกษามีความเห็นและส่งเรื่องกลับมา ตนเชื่อว่า กกต.ก็จะนำข้อมูลที่มีทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา
/0110