สศช.ประเมินคุณภาพการศึกษาเด็กไทยในยุค “รัฐบาลแม้ว” เน้นด้านทุนแต่คุณภาพต่ำ ขณะเดียวกัน ค่านิยมต่อสถาบันกวดวิชายังคงสูงลิ่ว เฉพาะปี 50 มีมูลค่าถึง 6 พันล้านบาท ด้านสถิติอาชญากรรมต่อในชีวิตและทรัพย์สินกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
วันนี้ (10 มี.ค.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงไตรมาสที่สี่และภาพรวมภาวะสังคมไทยปี 2550 ว่า มิติด้านคุณภาพคน : ในไตรมาสที่สี่และโดยภาพรวมมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ว่างงานลดลงคิดเป็นร้อยละ 1.1 โดยผู้ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าได้รับการบรรจุน้อยกว่าระดับการศึกษาอื่น ส่วนด้านสุขภาพของประชาชน จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง 11 โรค เพิ่มสูงขึ้นได้แก่ ไข้เลือดออก โรคมือ เท้า ปาก และอหิวาตกโรค รวมทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ติดต่อที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและแบบแผนการดำเนินชีวิต
มิติด้านความมั่นคงทางสังคม : คนไทยมีหลักประกันทางสังคมเพิ่มขึ้น แต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง เด็กและเยาวชนกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และยาเสพติดเพิ่มขึ้น อุบัติเหตุและความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางบกลดลง ส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.8 เนื่องจากการรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและตั้งจุดตรวจของตำรวจและหน่วยงานต่างๆ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด
ขณะที่มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน : ค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ด้วยการเลิกสูบที่ได้ผล คือ การใช้ยา และการบำบัดพฤติกรรม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเลิกบุหรี่ได้สูงถึง 2-4 เท่า เมื่อเทียบกับการเลิกด้วยความตั้งใจและหักดิบ สำหรับสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา สาเหตุหนึ่งมาจากกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตที่แข่งขันกันสร้างแบรนด์ใหม่ๆ ส่วนในเรื่องการร้องเรียนของผู้บริโภค ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการน้อยลง ในขณะที่มีความนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น
มิติด้านสิ่งแวดล้อม : มลพิษทางเสียงมีแนวโน้วสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาระที่กรุงเทพฯ และสระบุรี ด้านคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นและก๊าซโอโซนยังคงเกินมาตรฐาน รวมทั้งไฟป่าที่เพิ่มมลพิษในอากาศ ขณะที่ปริมาณขยะในเขตเมืองเพิ่มขึ้น และแหล่งน้ำมีคุณภาพลดลง อาทิ ลำตะคองตอนล่างมีความเสื่อมโทรมมาก
นายอำพน กล่าวว่า จากสถานการณ์ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในปี 50 ยังไม่ดีขึ้นเพราะมีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 255,688 คดี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 10.6% แยกเป็นคดียาเสพติดถึง 141,839 คดี เพิ่มขึ้น 27.9% ซึ่งภาครัฐต้องดำเนินมาตรการเฉียบขาดในการปราบปรามแหล่งผลิตและจำหน่ายยาเสพติด และต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ปัญหาลดน้อยลงและหมดสิ้นไปโดยเร็วที่สุด
ส่วนเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ยาเสพติด และคดีอื่นในปี 50 ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมีถึง 51,218 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 49 ที่มีจำนวน 48,218 คดี และเพิ่มขึ้นจากปี 48 ที่มีจำนวน 36,080 คดี ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ยาเสพติด ชีวิตและร่างกาย และเป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำ มีมากถึง 11.8% ของคดีที่จับกุมทั้งหมดในปี 49 และเพิ่มเป็น 12.9% ในปี 50 ส่วนใหญ่ผู้ทำผิดเป็นเพศชายถึง 91.1% แยกเป็นนักเรียนถึง 33% ไม่ได้ประกอบอาชีพ 30.7% และอาชีพรับจ้าง 27.5% สำหรับสาเหตุของการทำความผิดของเด็กและเยาวชน เกิดจากการคบเพื่อนสูงสุดที่ 39.5% รองลงมาคือความคึกคะนอง 15.3% และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 10.8%
นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแม้เด็กไทยจะได้โอกาสทางการศึกษามากขึ้นในทุกระดับการศึกษา แต่คุณภาพการศึกษากลับลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะผลการประเมินความรู้ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ขององค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ชี้ให้เห็นว่านักเรียนไทยวัยจบการศึกษาภาคบังคับอยู่ในระดับที่อ่อนมาก เพราะคะแนนเฉลี่ยทั้งวิทยาศาสตร์ การอ่านและคณิตศาสตร์ ลดลงอย่างต่อเนื่องและต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยหรือต่ำกว่า 500 ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียมีผลการประเมินที่สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยเกือบทุกประเทศ ยกเว้นไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงความรู้พื้นฐานของนักเรียนอย่างจริงจังและเร่งด่วน รวมทั้งต้องเพิ่มจำนวนครูที่มีคุณภาพให้เพียงพอ
นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาฯ สศช.กล่าวถึงเรื่องการกวดวิชากับระบบการศึกษาไทยว่า โรงเรียนกวดวิชายังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการเพิ่มความรู้ให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยชั้นนำ ส่งผลให้มีการขยายตัวของธุรกิจกวดวิชา โดยไทยประมาณค่าใช้จ่ายการเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย ในปี 2550 คิดเป็น 6,039 ล้านบาท โดยครัวเรือนในกทม.มีค่าใช้จ่ายสูงสุด
สำหรับเสียงสะท้อนของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักเรียน นักศึกษา ให้เหตุผลว่า ต้องการมีผลการเรียนดีขึ้นและเป็นการเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อ ส่วนผู้ปกครอง ครูที่สอนและสถาบันกวดวิชา ต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เด็กจำเป็นต้องกวดวิชา เพราะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในวิชาเรียนมากขึ้น ส่วนของผู้ปกครองแม้ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นในการส่งบุตรหลานเรียนกวดวิชาแต่คิดว่าคุ้มค่ากว่า ส่วนจุดอ่อนของระบบการศึกษา มีที่สำคัญ ดังนี้ คุณภาพครู เรื่องครูไม่จบระดับปริญญาตรีและสอนไม่ตรงวุฒิ หลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหามีมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับความรู้ที่ใช้ในการสอบคัดเลือกในระดับต่างๆ ทางออกสำหรับระบบการศึกษาไทย มีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญควบคู่กันดังนี้ พัฒนามาตรฐานด้านการเรียนการสอนโรงเรียน สร้างโอกาสและความมั่นใจให้แก่เด็กนักเรียน และกำกับดูแลมาตรฐานโรงเรียนกวดวิชา