“จักรภพ” ชักจะเพี้ยน โวยข้าราชการตั้งสหภาพ ลั่นไม่ใช่ยุคอำมาตยาธิปไตย กร่างถึงขั้นประกาศสงครามฝ่ายการเมือง เย้ยพลัง ขรก.ไม่ใช่เจ้าของประเทศ
วันนี้ (5 มี.ค.) นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย จะขอออก พ.ร.ฎ.ขอจัดตั้งสหภาพข้าราชการนั้น เป็นสิทธิของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ต้องติงกันไว้นิดหนึ่ง ว่า ประเทศนี้ไม่ใช่ของข้าราชการ แต่ประเทศนี้เป็นของประชาชนที่ไม่ได้รับราชการ และไม่ได้มีญาติพี่น้องที่อยู่ในตระกูลรับราชการ เพราะฉะนั้นการทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นประเด็นระดับชาติขึ้นมาต้องคิดให้ดี ว่า ในปัจจุบันนี้ประเทศไม่ได้อยู่ในระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
“แต่ของย้ำว่า เป็นสิทธิของท่าน (นายจาดุร อภิชาติบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ในการรวมกลุ่มกันได้ แต่ไม่ควรนำเรื่องการโยกย้ายข้าราชการเข้ามาพูดในภาพรวม เพราะกรณีที่เกิดขึ้นใน ดีเอสไอ อย.และในกรมประชาสัมพันธ์ และใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุผลคนละกรณีกันทั้งสิ้น แต่เกิดขึ้นในคนละห้วงกรณีเท่านั้น”
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับการเคลื่อนไหวของ นายจาดุร นายจักรภพ กล่าวว่าไม่มีอะไร แต่ขอให้ท่านได้ช่วยเหลือข้าราชการด้วยการดูว่าข้าราชการจะต้องไม่เล่นการเมือง ข้าราชการจะต้องไม่คิดที่จะได้รับประโยชน์จากการอิงแอบตนเองเข้ากับรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ในยุคเผด็จการ หรือ ยุคประชาธิปไตย ตรงนี้สมาคมข้าราชการพลเรือน สามารถเข้ามาดูแลได้เป็นอย่างดี กล่าวโดยสรุปคือ ช่วยกันกรองข้าราชการให้เหลือแต่ข้าราชการที่ดีให้มีจำนวนมาก เพื่อรับใช้สังคม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีปัญหาเฉพาะตัวบุคคลบางคนเท่านั้น
เมื่อถามว่า แนวทางในการออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสหภาพ ถูกต้องหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ไปไกลเกินไป เพราะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ ภายใต้รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่ต้องมีกฎหมายใดๆ เพื่อนำมากำหนดความสมพันธ์ระหว่างกัน แปลว่า แย่แล้ว เพราะฉะนั้นแนวความคิดในการจะสื่อสารต่อสังคม เกิดสงครามขึ้นแล้วระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายราชการ จึงไม่ควรสื่อสารแบบนั้น แต่หากจะหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อจะได้มาคุยกันอย่างสงบสันติ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีสหภาพ เพราะคิดว่าคงไม่มีใครจะมีความคิดผิดเพี้ยนถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่าอาจจะกล่าวด้วยอารมณ์ความรู้สึก และคิดว่าข้าราชการใหญ่กว่าทุกคน ซึ่งเรื่องนี้คิดผิดให้คิดผิดใหม่ได้ ต้องดูก่อนว่าจะไปไกลถึงขั้นไหน แต่ประเด็นคือ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในสังคมไทย คือ หากไม่พอใจการแต่งตั้งโยกย้ายก็ควรจะใช้ช่องทางปกติในการปรึกษาหารือกันดีกว่า