xs
xsm
sm
md
lg

เสธ.อู้ แทงกั๊กนั่ง ปธ.วุฒิ ปัดสนิท “แม้ว” แค่คนเคยรู้จัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พล.อ.เลิศรัตน์” ยังไม่ด่วนตัดสินใจรับตำแหน่ง ปธ.วุฒิสภา แต่ระบุพร้อมทำหน้าที่ ชี้แม้จะมาจากสายทหารแต่ก็เป็นนักประชาธิปไตย มั่นใจ ส.ว.ไม่มีคำว่าแตกแยก อย่าโยงการเมืองสาย “แม้ว” ยันแค่อดีตผู้บังคับบัญชา

วันนี้ (4 มี.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา กล่าวถึงกรณีที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภาว่า ตนคิดว่า ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะสรุปว่าใครจะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภา ทั้งนี้ จะต้องรอ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยตามกระบวนการที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน ดังนั้น การประชุมวุฒิสภานัดแรกน่าจะใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ โดยเมื่อ ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้งมีโอกาสพบกันจึงน่าจะทราบว่าใครจะไปทำงานในส่วนไหน ตนคิดว่าตำแหน่งประธานวุฒิสภาเป็นตำแหน่งสำคัญที่เป็นผู้นำในการทำหน้าที่ของ ส.ว.

“ประธานเป็นตำแหน่งสำคัญที่เป็นด่านหน้า เป็นหัวหอก เหมือนเป็นผู้แทนของมวลสมาชิกทั้งหมด ตรงนี้ต้องดูว่าใครจะเหมาะสม และต้องถือเป็นการเสียสละด้วย เพราะการทำหน้าที่ต้องหนักว่าคนอื่นต้องรับความกดดันจากสื่อจากการเมือง ส่วนตัวผมไม่ได้มองตัวเองว่าเหมาะสมขนาดไหน”

เมื่อถามว่า หากได้รับการเสนอชื่อจะพร้อมทำหน้าที่ประธาน ส.ว.หรือไม่ พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสมาชิก ถ้าสมาชิกคิดว่าใครทำหน้าที่ได้ดีก็ต้องพร้อม เพราะเมื่อได้รับเลือกมาเป็น ส.ว.แล้วต้องถือว่าพร้อม ทั้งนี้ ส.ว.ยังมีงานที่ต้องทำอยู่แล้วอีกหลายเรื่อง ตนจึงอยากให้ผู้ที่พร้อมที่สุดมาทำหน้าที่ โดยการทำหน้าที่อาจมีการผลัดเปลี่ยนกันก็ได้ เพราะการทำหน้าที่ส.ว.มีวาระอยู่ในตำแหน่งอีกหลายปี

เมื่อถามว่า มีคนมองว่า เป็น ส.ว.สายทหาร จึงน่าจะได้รับเลือก พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มาจากทหาร เพราะเกษียณอายุราชการมาแล้วกว่า 5 เดือน จึงเป็นประชาชนเต็มขั้น ทหารมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบหรือไม่สวม วันนี้ตนไม่ได้สวมหมวกทิ้งไปตั้งนานแล้ว จริงๆ ตนไม่อยากมาเล่นการเมือง เพียงแต่ช่องทางการสรรหาไม่ต้องเสียเงินหาเสียง ไม่ต้องออกหาเสียง แต่คิดว่าเป็นช่องทางการทำงาน อีกทั้งเคยสัมผัสการเมือง และเคยทำงานมาหลายอย่าง รวมถึงเคยสัมผัสกับปัญหาของประชาชน เมื่อหน้าที่ ส.ว.สรรหามีวาระดำรงตำแหน่งแค่เพียง 3 ปี จึงตัดสินใจมาทำหน้าที่ ส.ว.ตนไม่ได้มาเป็น ส.ว. เพราะทหารส่งมาหรือพรรคการเมืองไหนส่งมาทั้งนั้น “ไม่มีใครมาบังคับผมได้”

เมื่อถามว่า ส.ว.ในครั้งนี้ มีทั้ง ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้งจะเกิดปัญหาความแตกแยกในการเลือกประธานวุฒิสภาหรือไม่ พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า อย่าไปคิดเช่นนั้นเลย ตำแหน่งประธาน ส.ว.ตนคิดว่าใครก็ได้ที่มีความเหมาะสม การทำหน้าที่ตรงนี้ต้องทำงานเป็นทีม เพราะส.ว.มีคนน้อยอยู่แล้ว โดยมีเพียง 150 คน จะมาแตกแยกกันไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกันที่จะทำงานตามหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล

“มันจะมาแตกแยกกันไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ต้องทุ่มเททำงานในบทบาทตรวจสอบความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ผม่ไม่เชื่อว่าจะมีความแตกแยก ทุกคนมีอุดมการณ์ที่จะมาทำงาน ส่วนจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้างในการลงมติผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ” พลเอกเลิศรัตน์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามว่ามีกระแสข่าวการแบ่งกลุ่ม ส.ว.ออกเป็น 3 กลุ่ม พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า ไม่มีครับข่าวที่ออกมา เป็นความคิดเห็นของแต่ละคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน เมื่อไปถามเข้าจึงมีการสะท้อนออกมา ตนคิดว่าถึงแม้จะมีก็ไม่แปลกในระบอบประชาธิปไตยมีการแข่งขันกัน แต่สุดท้ายก็จะเป็นพวกเดียวกัน จะให้ทุกฝ่ายคิดเหมือนกันคงไม่ได้ ถ้าคิดเหมือนกันจะไม่ใช่ประชาธิปไตย ตนเชื่อว่า ส.ว.ยังไม่มีการแตกแยกแบ่งเป็นกี่กลุ่ม

เมื่อถามต่อว่า มีกระแสข่าวว่า พลเอกเลิศรัตน์ เป็นแกนนำในการนัดหารือที่สโมสรทหารบก พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า ในการมารายงานตัววันแรกมีผู้อาสาว่าจะจัดให้ ส.ว.มีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกัน จึงไปทานข้าวด้วยกันกัน 41 คน และขอยืนยันว่า ไม่มีการล็อบบี้กันกันทั้งนั้น เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าส.วงเลือกตั้งจะเสนอชื่อน.ส. รสนา โตสิตระกูล เป็นประธานวุฒิสภา พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า เสนอเลยเสนอได้ทุกคน แล้วส.ว.ทั้ง 150 คน จะได้ช่วยกันลงคะแนน ตนเห็นว่ายิ่งมีการเสนอชื่อประธานหลายคนก็ยิ่งดีเพราะจะทำให้ผู้ที่ลงคะแนนสามารถแสดงความเห็นอย่างชัดเจน ส.ว.ทั้ง 150 คน เป็นคนที่มีความสามารถจึงได้รับเลือกมาจากส่วนต่างๆ จึงเป็นได้หมดทั้งประธานกรรมาธิการและประธานวุฒิสภา

“เรื่องปล่อยให้ที่ประชุมพิจารณา ผมเองก็อยากเสนอคนอื่นเลย แต่ต้องรอดูก่อนว่าจะเสนอใครดี” พลเอกเลิศรัตน์ กล่าว

ต่อข้อถามว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาควรมีคุณสมบัติอย่างไร พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า เมื่อมาเป็น ส.ว.มาแล้วคงเป็นประธานวุฒิสภาได้เกือบทุกคน ประธานวุฒิสภาต้องมีความเป็นผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถประสานงานกับต่างประเทศได้ ที่สำคัญต้อง สำหรับความเป็นกลางคงไม่ต้องพูด เพราะ ส.ว.ทุกคนมีความเป็นกลางอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า ตนขี้เกียจตอบเรื่องนี้แล้ว อาจเป็นเพราะชอบอ่านหนังสือพิมพ์กันมาก จึงมาถามเช่นนี้ ต้องถามว่าคำว่าสนิทคืออะไร กินข้าวด้วยกันตีกอล์ฟด้วยกันเรียกว่าสนิทหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของทาหารทุกคนก็จะต้องรู้จักทหารในกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว

“ความไว้วางใจในการทำงานต่อผมเอง อาจมีจากผู้บังคับบัญชาในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่านรัฐมนตรีหรือท่านนายกฯในวันนี้หรือในวันก่อนๆ เป็นเรื่องปกติที่ท่านนายกฯดูคนว่าคนไหนทำงานดีท่านก็พยายามที่จะให้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เช่นเดียวกับรัฐมนตรีกลาโหมหรือผบ.สูงสุดทุกคน ฝากสื่อนิดนึงว่าอย่าพยายามไปแยกพวกแยกคน ถ้าคิดแยกพรรคแยกพวกบ้านเมืองก็ไม่มีโอกาสสมานฉันท์ได้ อยากให้สื่อใช้ความเป็นกลางให้มาก ไม่มี ส.ว.พรรคการเมืองไหนจะมาสั่ง ส.ว.ได้ ตอนนี้มีการเขียนไปแล้วว่ามีพรรคการเมืองสั่ง ส.ว.ให้ลงคะแนนอย่างนั้นอย่างนี้ ผมอยากบอกว่า ส.ว.150 คน มาจาก 150 แห่ง ไม่มีใครคุมได้ ใครไม่ดีก็ต้องถูกถอดถอนได้ เชื่อได้เลยว่า ส.ว.150 จะไม่มีการแบ่งกลุ่มหรือไปสนับสนุนใครในทางที่ไม่ถูกต้อง ผมพูดวันนี้แล้วคอยดูกันไปถ้าสื่อเห็นว่าไม่ดีก็โจมตีกันได้ ผมามาตรงนี้ไม่ได้มีอะไรกดดัน ก็ไม่มีงานทำเห็นว่ามีงานตรงนี้ก็มาทำงาน” พลเอกเลิศรัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น