“เชาวริน” แฉเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 เผยเป็นคนช่วย “ชวน-ดำรง” ไม่ให้ถูกประชาชนฆ่า ยัน “ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป.” ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ชี้ “หมัก” อาจอยู่คนละมุมจึงเห็นว่ามีคนตายเพียง 1 คน
วันนี้ (20 ก.พ.) ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่า ในขณะนั้น ตนเป็นนายตำรวจติดตาม นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ รมว.พาณิชย์ ซึ่งเหตุสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ตนได้พา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนีออกจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 เพราะวันที่ 5 ต.ค.ตนได้ฟังวิทยุจากสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งปลุกระดมประชาชน และเรียกร้องให้ลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมขับไล่รัฐมนตรี โดยมีการระบุชื่อ นายชวน นายดำรง และ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ ด้วย
“เมื่อถึงช่วงเช้าของวันที่ 6 ต.ค.2519 ผมไปรับ นายดำรง ที่บ้าน เพื่อไปส่งที่ทำเนียบรัฐบาล เสร็จแล้วจึงออกมาดูสถานการณ์ที่สนามไชย ลานพระบรมรูปทรงม้า เห็นว่า สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงกลับไปทำเนียบรัฐบาล จากนั้นช่วงเวลา 15.00 น.ครม.เลิกประชุมกันแล้ว ได้มีคลื่นประชาชนเดินขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเสียงของประชาชนร้องตะโกนกึกก้อง ว่า ฆ่ามันๆ มาตาม ถ.พิษณุโลก จนกระทั่งมาอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีป้ายสีขาวยาวประมาณ 10 เมตรข้อความว่า กำจัดรัฐมนตรีคอมมิวนิสต์ “ชวน-ดำรง-สุรินทร์” ร.ต.ท.เชาวริน กล่าว
ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวอีกว่า ตนจึงตัดสินใจไปห้องประชุม ครม.เพื่อเชิญ นายดำรง และนายสุรินทร์ แต่ไปรถคนละคันจึงพลัดหลงกัน โดยรถคันของตนมี นายดำรง และ นายชวน ซึ่งตัดสินใจไปที่บ้านของตน และพักอยู่หนึ่งคืน จากนั้นวันถัดมาก็ย้ายไปบ้านอีกหลังหนึ่ง ใช้วิธีนี้นานเป็นเดือน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้นอันตรายมาก ถ้าไม่หลบอาจถูกฆ่าตายได้
ส่วนกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวนั้น ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวว่า แต่ละคนอยู่คนละตำแหน่ง คนละจุดกัน จึงเห็นไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าจะจัดสัมมนาในเรื่อง 6 ตุลาฯ 19 เพื่อสังคายนาก็เห็นด้วย เพื่อจะได้รู้ข้อเท็จจริงให้กระจ่าง เพราะครั้งหนึ่ง นายอาคม มกรานนท์ ก็เป็นโฆษกในสถานีวิทยุ และพูดว่า นายชวน และ นายดำรง เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมาวันหนึ่ง นายอาคม ก็กลับมายกมือไหว้ขอโทษนายชวน เพราะได้ข้อมูลมาผิด เนื่องจากขณะนั้นมีความพยายาม ชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะรัฐมนตรี 3 คน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการบิดเบือน
“ยุคนั้น ใครไม่ชอบกันก็จะกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้เสียคน โดยขณะนั้นโหดร้ายมาก เรื่องเหล่านี้มันน่าที่จะเอาคุยกัน ส่วนเรื่องที่มีพุ่งเป้ากับนายกฯ นั้น ผมเฉยๆ เพราะบังเอิญนายกฯ อาจอยู่ในจุดที่มองเห็นคนตายคนเดียวจริงๆ เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และที่ก็ไม่น่าตำหนิท่าน เพราะท่านไม่ได้ขับรถตระเวนเหมือนผม ผมเอาอาจารย์ดำรง ท่านชวน ไปซ่อนที่บ้านแล้ว ผมยังเอารถออกมาตระเวนดู ฉะนั้นผมอาจจะเห็นมากกว่าคนอื่น” ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวทิ้งท้าย