ผู้จัดการออนไลน์ – อดีต บก.บห.บีบีซี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมต.จักรภพ วอนกรุณาอย่านำพาประเทศชาติกลับสู่วงจรอุบาทว์อีกด้วยการแทรกแซงสื่อโทรทัศน์อีก ทั้งช่อง 9 ช่อง 11 รวมถึงช่อง Thai PBS ที่เพิ่งตั้งไข่
วันนี้ (11 ก.พ.) นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตบรรณาธิการบริหาร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บีบีซี ลอนดอน หนึ่งในผู้ผลักดันสถานีโทรทัศน์สาธารณะให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านสื่อมวลชน โดยร้องขอต่อนายจักรภพ รัฐมนตรีที่มีอำนาจในการกำกับดูแลสื่อสารมวลชน ที่ก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์ว่าจะดำเนินการจัดระเบียบสื่อมวลชน ซึ่งก็รวมถึงสถานีโทรทัศน์สาธารณะ Thai PBS ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นด้วย ดังคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า
“อย่าลืมนะว่าบ้านเมืองกลียุคที่ผ่านมา ก็เพราะว่าสื่อบางส่วนวางตัวไม่เป็นกลาง ผมไม่บอกว่าสื่อไหน เพราะพวกเราที่อยู่ที่ทำเนียบเราก็พยายามที่จะช่วยเหลือให้ข้อมูลจากภาครัฐ อันนี้ผมทราบดี เอาเป็นว่าสื่อบางส่วนที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็นแค่กิจกรรมประชาสัมพันธ์ของคนบางส่วนบางที่ ผมจะไม่รีรอเลยที่จะเข้าไปดำเนินการทั้งหมด” นายจักรภพกล่าวเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาหลังเข้ารับตำแหน่ง
ทั้งนี้ รายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกถึงนายจักรภพ เพ็ญแข ของนายสมชัย มีดังนี้
***************
จดหมายเปิดผนึกถึงคุณจักรภพ เพ็ญแข
สิ่งที่ท้าทายที่สุดของคุณก็คือการทำลายวงจรอุบาทว์นี้เสีย
10 กุมภาพันธ์ 2551
เรียน คุณจักรภพ
การให้สัมภาษณ์ของคุณเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการจัดระบบสื่อ ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกเป็นห่วงว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของคุณคืออะไร? เหมือนกับว่าพวกเราได้กลับไปเห็นภาพเดิมๆ อีกครั้ง
อดีตที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ที่อยู่สถานะเช่นคุณ มักจะฉวยโอกาสทำให้คนที่ทำสื่อวิทยุโทรทัศน์ (Broadcast Journalists) เกรงกลัว เพื่อที่จะทำให้สื่อของรัฐ กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่ละอายแก่ใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ รัฐมนตรีจะใช้ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ปิดกั้นความเห็นของบรรดานักวิจารณ์และฝ่ายค้าน แต่ครั้งนี้ เดิมพันสูงกว่าที่ผ่านๆ มา เมื่อคุณส่งสัญญาณว่าจะเข้าไปแทรกแซงสถานีโทรทัศน์สาธารณะ Thai PBS ที่เพิ่งก่อตั้ง
ปลายปีที่แล้ว ตอนที่คุณยังอยู่อีกฝากหนึ่งทางการเมือง (นปก.-บก.) คุณก็ได้ระบายความขมขื่นใจต่อการที่ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมจากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งคุณเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าในช่วงรัฐบาลที่แล้ว คนที่ทำงานทั้งกับกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท ต่างก็ต้องยอมละทิ้งความเป็นมืออาชีพ และยอมโอนอ่อนให้กับเสียงเรียกร้องต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งก็เหมือนกับตอนที่พรรคไทยรักไทยมีอำนาจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ไปช่วยฝึกอบรมผู้สื่อข่าว ทั้งของช่อง 9 และช่อง 11 ซึ่งเป็นโครงการที่บีบีซีให้การสนับสนุน ผู้ที่เข้าอบรมส่วนใหญ่สะท้อนว่าเป็นการยากที่จะทำงานให้ได้ตามหลักของการเป็นสื่อที่มุ่งมั่นรับใช้ประชาชน (Public service editorial code) อาทิ ความถูกต้อง ความเที่ยงธรรม ความเป็นกลาง และ ความยุติธรรม ทั้งนี้เนื่องมาจากอิทธิพลจาก ‘มือที่มองไม่เห็น’
สาเหตุที่ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นก็เพราะเห็นว่าครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นสื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จ และตอนนี้คุณอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการทำลายวงจรอุบาทว์นี้เสีย เพื่อที่จะปลดปล่อยสื่อวิทยุและโทรทัศน์ให้เป็นอิสระ คุณสามารถที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่เป็นธรรมขึ้นมาได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้นำฝ่ายค้านได้แสดงความคิดเห็น หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้พูดออกอากาศไปแล้วทุกสัปดาห์ ซึ่งนี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปของสื่อวิทยุโทรทัศน์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ
สิ่งที่ท้าทายคุณอีกประการหนึ่งก็คือ การยอมให้หลักของการเป็นสื่อที่มุ่งมั่นรับใช้ประชาชนได้ฝังรากลึกลงไปในช่อง 9 และช่อง 11 และต่อต้านแรงกดดันต่าง ๆ ที่จะมาจากคณะรัฐมนตรีโดยที่พวกเขาจะใช้ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ชี้นำข่าวและรายการที่เกี่ยวกับข่าว คุณควรจะปล่อยให้คนทำสื่อและผู้บริหารในแต่ละองค์กรได้ทำงานของเขาไปอย่างมืออาชีพ โดยไม่ต้องกลัวเกรงเสียงขู่ว่าจะตกงาน ผมได้เคยมอบคู่มือ หลักการทำงานของบีบีซี ให้กับ คุณปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท
หากคุณแสดงท่าทีว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในองค์กรทั้งสอง จะเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในหมู่องค์กรที่เฝ้าติดตามการทำงานและเสรีภาพของสื่อในระดับสากลได้อย่างมาก
กระนั้น ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณก็คือ การต้านทานแรงกระตุ้นทั้งหลายที่จะเข้าไปแทรกแซงสถานีโทรทัศน์สาธารณะ หรือ Thai PBS การที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสื่อมวลชนจำนวนมากสูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน มีคำกล่าวที่ว่า “สื่อที่เลวย่อมให้กำเนิดการเมืองที่เลว” หรือหากจะกล่าวในทางกลับกันก็คงได้ Thai PBS มีต้นแบบมาจาก บีบีซี ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นสื่อที่เชื่อถือได้มากที่สุด ผมเชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี พ.ศ. 2535 หากประเทศไทยมีบริการโทรทัศน์สาธารณะเกิดขึ้นจริง ๆ เราอาจสามารถหลีกเลี่ยงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้
ผมยังเชื่อด้วยว่า คุณคือนักการเมืองที่น่านับถือและซื่อสัตย์ แต่คุณพร้อมสำหรับความท้าทายข้างต้นหรือยัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวคุณ
ด้วยความเคารพ
สมชัย สุวรรณบรรณ
เอสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ
Email: somchaiuk@googlemail.com