สงครามเกษตรกรไม่จบ ส่งกฤษฎีกาตีความสรรหาเลขาฯกองทุนฟื้นฟู หลังกลุ่มผลประโยชน์ยื่นคัดค้าน ตั้ง “นคร ศรีพิพัฒน์” นั่งเลขาฯ ขณะที่ว่าที่เลขาฯ ยันไม่ขัดกฎหมาย ชี้ประธานมีอำนาจตั้ง คาดรอรัฐบาลชุด “สมัคร 1” ชี้ขาด
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรครั้งล่าสุด ได้มีการพิจารณาถึงกรณีที่กรรมการกองทุนฯ ส่วนหนึ่งได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ของนายนคร ศรีพิพัฒน์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากนายไพบูลย์ แทนนางจุฬารัตน์ นิรัศิยกุล ซึ่งรักษาการเลขาธิการฯ มานานเกือบ 2 ปี รวมกับตามสัญญาว่าจ้างอีก 4 ปี รวม เป็น 6 ปี ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แล้วนั้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายที่ตัวแทนผู้คัดค้านยื่นมา และตนได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วคาดว่าจะสามารถชี้ข้อกฎหมายได้ในรัฐบาลชุดหน้า
นอกจากนี้ยังยอมรับว่า ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ ในช่วงที่เขาเข้ามากำกับดูแลนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะผ่านไปได้ด้วยดีและสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาดังกล่าวสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลอย่างมาก
“กระบวนการสรรหาเลขาธิการคนใหม่จะต้องไปขอความชัดเจนจากกฤษฎีกา เนื่องจากมีกรรมการบางส่วนคัดค้าน”
ขณะที่ นายนคร ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว แม้นายไพบูลย์ซึ่งเป็นประธานกองทุนฯ จะเป็นผู้แต่งตั้งตัวเขา แต่ก็เป็นการดำเนินการตามหน้าที่ประธานกองทุนฯ ที่สามารถแต่งตั้งเขาได้ ซึ่งก็ไม่ขัดกับ พ.ร.บ.กองทุนฯ
โวย!! ฝ่ายการเมืองไม่กล้าให้ตัวแทนเกษตรกรบริหาร
รายงานข่าวแจ้งว่า ทั้งนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถือเป็นแหล่งที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มาหลายรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีแกนนำเกษตรกรเป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองใหญ่ ๆทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งการขัดแย้งในที่ประชุมกองทุนฟื้นฟูฯ ทำให้กรรมการบางส่วนฯ มองว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายการเมือง และฝ่ายเกษตรกร ในการสรรหาเลขาธิการ จนถึงกับพูดขึ้นกลางห้องประชุมว่า “ฝ่ายการเมืองไม่กล้าที่จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรมาบริหารกองทุนฯบ้างหรืออย่างไร” ขณะเดียวกัน หลังจากมีการแต่งตั้งนายนครไปก่อนหน้านี้ได้มีกลุ่มเกษตรกรที่อยู่คนละกลุ่มกับนายนคร ออกมาเคลื่อนไหวทันทีด้วย
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า กรรมการบางส่วนนี้ยังเคยยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายไพบูลย์ และนายกสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ยกเลิกการสรรหาเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยอ้างว่า มีความไม่โปร่งใสขัดต่อกฎหมาย โดยคณะกรรมการสรรหาหลายคนนั้น มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้สมัคร คือ นายนคร ศรีวิพัฒน์ รวมทั้งคุณสมบัติของนายนคร ก็ไม่ผ่านตามมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ จากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ได้แก่ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่จะปฏิบัติ งานให้แก่กองทุนได้ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม ที่ระบุถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนและผู้แทนเกษตรกรต้อง ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิก สภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานองค์กรของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากองทุนหรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กองทุนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
ผู้บริหารชุดใหม่ เตรียมแก้ระเบียบเปิดประชุม
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะเดียวกัน คณะผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ชุดใหม่ เตรียมผลักดันการแก้ไขระเบียบการเปิดประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อสางหนี้และแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรให้ทันท่วงที เพราะปัจจุบันเกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ถูกยึดที่ดินและทรัพย์สินให้กับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสหกรณ์ไปแล้วกว่า 500 ราย โดยทรัพย์สินทั้ง 500 รายก็ได้ตกไปยังมือที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนหมดแล้ว
ทั้งนี้ ปัญหาที่จะต้องแก้ไขระเบียบการประชุม เนื่องมาจากในอดีตที่รองนายกฯ ที่กำกับและเป็นประธานกองทุนฯ ไม่พยายามที่จะเปิดการประชุมตามที่สมาชิกเรียกร้องทำให้เกิดปัญหาการการถูกยึดทรัพย์สินและขายทรัพย์สินของเกษตรกรในที่สุด