xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯ ส่อวุ่นไม่จบ-เกษตรกร ชร.นัดปิดศาลากลาง 17 มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ – กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรส่อเค้าวุ่น หลัง “เสธ.หนั่น” นั่งประธานฯ มือดีบีบว่าที่เลขาธิการพ้นตำแหน่ง ก่อกระแสม็อบเกษตรกรฟุ้งทุกจังหวัด ด้านกลุ่มรายย่อยเชียงรายเตรียมตัวปิดศาลากลาง 17 มีนาคม 51 นี้ จี้พ่อเมืองใช้ อชก.ทำงาน ดันสหกรณ์ขายหนี้ให้กองทุนฯ ขณะที่เครือข่ายหนี้สินฯ จ้องก่อหวอดทั่วภาคเหนือ

หลังรัฐบาลที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ารับหน้าที่บริหารประเทศส่งผลให้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถเคลื่อนไหวอีกครั้ง ซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประธานบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ ตกไปอยู่ในมือของพรรคชาติไทย ที่เข้ามาบริหารงานเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ โดยกำหนดให้ เสธ.หนั่น หรือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เข้ามาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งล่าสุดนั้นคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายนคร ศรีวิพัฒน์ ทำหน้าที่เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต่อจากนางจุฬารัตน์ เสรีเชษฐพงศ์

หลังจากมติของคณะกรรมการดังกล่าวออกมา มีกระแสต่อต้าน และมีผู้คัดค้านโดยระบุว่านายนคร ศรีวิพัฒน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุนฯดังกล่าวมีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการบริหารกองทุน ทำให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องยื่นให้กฤษฎีกาตีความคุณสมบัติของนายนคร ก่อน

จากปัญหาดังกล่าว มีการตั้งนายเสริมศักดิ์ ชื่นเจริญ ขึ้นมารักษาการณ์แทนในตำแหน่งเลขาธิการไปก่อน ถ้าผลการตีความออกมาว่า คุณสมบัติของนายนคร ไม่ขัดต่อระเบียบกองทุน ก็จะมีการแต่งตั้งทำงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในกองทุนฟื้นฟูยังคงไม่จบลงง่ายๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ถึงแม้ปัญหาในองค์กรเกษตรกรแห่งนี้ยังคุกลุ่น แต่การจัดการกองทุนก็นามารถทำงานได้อย่างน่าพอใจระดับหนึ่ง โดยล่าสุดมีการอนุมัติงบประมาณให้เปล่าเป็นการหนุนช่วยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ และเปิดให้มีการซื้อหนี้ของเกษตรกรสมาชิกเข้ามาอยู่ในกองทุนบ้างแล้ว

ล่าสุดกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 800 กลุ่ม กำลังประสบปัญหาการเจรจาซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเข้ามาอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ และอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (อชก.) ยังคงใช้เกียร์ว่างถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม ทำให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดเชียงรายมีมติจะรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงรายในวันที่ 17 มีนาคม 51นี้

เบื้องต้นจะนำตัวแทนสมาชิกกองทุนจำนวน 200 คนเข้าไปชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธาน อชก.จังหวัดเชียงราย จี้ให้ อชก.ทำงานช่วยเหลือเกษตรกรเสียที และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทำหน้าที่เจรจาต่อสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเชียงราย ที่ไม่ยอมขายหนี้สินของเกษตรกรมาอยู่ที่กองทุนฯ ทั้งๆ ที่สถาบันการเงินอื่นๆ ยินยอมปฏิบัติตามกันหมดแล้ว

นายประนอม เชิมชัยภูมิ แกนนำเกษตรกรรายย่อย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนฟื้นฟูฯถึงแม้จะมีปัญหาการเมืองไม่รู้จบสิ้น แต่ด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทำให้มีการทำงานที่รุดหน้าไปอย่างน่าพอใจในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหายากจนและเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต มีการเปิดให้สามารถถ่ายโอนหนี้สินจากสถาบันการเงินอื่นๆ ไปอยู่ในกองทุน เพื่อแก้ปัญหาดอกเบี้ยแพง และนำไปสู่การฟื้นฟู ปลดเปลี้องหนี้ได้ต้วยตัวของเกษตรกรเอง โดยมีการจัดทำแผนร่วมกันในชุมชน มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นสถาบันที่เข้าไปหนุนช่วย

มาตรการการถ่ายโอนหนี้เกษตรกรไปอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการซื้อหนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินทั่วไปยินยอมทำตามข้อตกลง หรือเอ็มโอยูร่วมกัน แต่ปรากฏว่าสถาบันการเงินที่อยู่ใกล้ตัวเกษตรกรที่สุดและใกล้ชิดกองทุนที่สุด คือสหกรณ์การเกษตรในอำเภอต่างๆ ยังคงมีปัญหาไม่ยอมให้เกษตรกรไถ่ถอนหนี้สินออกจากสหกรณ์

ตามข้อตกลงทำให้เกษตรกรประสบปัญหา ซึ่งเรื่องนี้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (อชก.) จ.เชียงราย แทนที่จะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสานให้เกิดความมร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร แต่ก็ยังทำนิ่งเฉย ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสของเกษตรกรในการแก้ปัญหาของตนเอง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นให้มีการชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงรายในวันที่ 17 มีนาคมนี้อย่างแน่นอน

ในเบื้องต้นยังคงมีแกนนำในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนเท่านั้นที่ไปร่วมชุมนุม ถ้าไม่เป็นผลอาจต้องรวมตัวเกษตรกรในจังหวัดทั้งหมด และอาจต้องใช้กำลังเกษตรกรในภาคหนือเข้าร่วม ถ้ารัฐยังเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่เพียงการประท้วงของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายเท่านั้น เครือข่ายหนี้สินเกษตรกรภาคเหนือ ก็จะออกมาชุมนุมประท้วงในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน
นายสมศักดิ์ โยธินชัย ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า กระแสการชุมนุมประท้วงของเครือข่ายหนี้สินดังกล่าวน่าจะยังไม่มีการชุมนุมแต่อย่างใด ซึ่งถ้าจะมีการชุมนุมก็คงไม่ใช่เรื่องของกองทุนฟื้นฟูฯ เช่นที่จังหวัดเชียงราย เป็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐนิ่งเฉยต่อการแก้ปัญหาตามพระชาชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ มากกว่า

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงหลังการทำงานของกองทุนฯสามารถดำเนินการรุดหน้าไปอย่างน่าพอใจ กองทุนได้ทำการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรสมาชิกซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการกระบวนการจัดทำแผนของเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เชื่อว่าหลังสงกรานต์กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่จะสามารถทำโครงการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อทำการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมของตนเองได้แล้ว หลังจากที่มีการจัดการหนี้สินผ่านไป ส่วนปัญหาการเมืองที่มีนักการเมืองเข้ามากำกับดูแล เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหามากนักถ้ากลุ่มเกษตรกรสามารถรวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น