ทีวีสาธารณะไทยคลอดผังรายการระยะแรก 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน เน้นรายการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อด้วยข่าวภาคค่ำ ต่อด้วยสารคดี-หนังสั้นมีสาระที่ไม่เคยโผล่จอฟรีทีวีทั่วไป เริ่มออกอากาศ 1 ก.พ.นี้
คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ประกอบด้วย นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานคณะกรรมการชั่วคราว ไทยพีบีเอส นายเทพชัย หย่อง รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นายอภิชาติ ทองอยู่ และ รศ.ณรงค์ ใจหาญ กรรมการชั่วคราวไทยพีบีเอส ได้ร่วมประชุมเพื่อวางกรอบนโยบาย โครงสร้างสถานี และผังรายการ ที่โรงแรมโรสการ์เด้น สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุด วันนี้ (20 ม.ค.) นายเทพชัย หย่อง รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ไทยพีบีเอส ได้ข้อยุติเรื่องของผังรายการในเฟสแรกที่จะเปิดสถานีอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้แล้ว โดยให้น้ำหนักในการออกอากาศช่วงค่ำก่อน เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคนดูเยอะที่สุด โดยจะเป็นรายการสำหรับเด็กและเยาวชน ต่อด้วยข่าวภาคค่ำ รายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ สารคดี และสุดท้าย อาจเป็นภาพยนตร์ หรือหนังสั้นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ไม่เคยได้รับพื้นที่ในการออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ทั่วไป
ส่วนผังรายการในช่วงอื่น คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า จะเริ่มในเฟสที่ 2 เนื่องจากความไม่พร้อมที่คณะกรรมการมีเวลาเตรียมตัวน้อย จึงคิดทำในส่วนที่ดีที่สุดก่อน และเป็นคำอธิบายว่าทำไมช่วงแรกถึงมีการรับพนักงานแค่ 150 คน แต่หากพ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้จะมีการรับพนักงานเพิ่ม เพื่อขยายเวลาในการออกอากาศจนครบ 24 ชั่วโมง
สำหรับโครงสร้างการบริหารงานทีพีบีเอสจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายข่าว ฝ่ายรายการ ฝ่ายผลิต และฝ่ายวิศวกรรม และอาจมีการตั้งฝ่ายสาธารณะสัมพันธ์ ขึ้นในภายหลัง
นายเทพชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดในตอนนี้ คือการถ่ายโอนทรัพย์สิน และพันธะต่างๆ จากทีไอทีวี ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะจัดการ เพราะทรัพย์สินของทีไอทีวีมีอยู่ทั่วประเทศ อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 หรือ 2 เดือน โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับทรัพย์สินเหล่านั้น
ด้าน นายขวัญสรวง กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวฯ จัดรายการลักษณะนี้ ถือเป็นการถามไถ่ หรือลองให้ชิม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านว่ารูปแบบและผังรายการลักษณะนี้จะใช้ได้หรือไม่ ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการต้องการของประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดกว้างและรับฟังความเห็นของประชาชน และตรงกับเจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะ
สำหรับการตั้งสภาผู้ชมที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและคณะกรรมการนโยบายฯ นั้น อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยจะเข้าไปพบกับตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ก่อนคัดเลือกเป็นตัวแทนของผู้ชมทั้งประเทศ ซึ่งช่วงแรกอาจจะมีแค่ 10 คน ก่อน เพราะตามกฎหมายระบุว่าต้องมีสภาผู้ชม แต่ไม่เกิน 50 คน
ในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค.) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการทั้ง 5 คน จะไปตรวจสอบสถานที่ และเครื่องมือที่อาคารชินวัตร 3 เพื่อใช้ในการออกอากาศ ก่อนที่เวลา 13.30 น. จะร่วมประชุมกับตัวแทนภาคประชาชนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย