ยังไม่มีคำแถลงชัดเจนจาก กกต.ว่า เมื่อผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย (ชท.) ถอนคำร้องคัดค้าน นายยงยุทธ กรณีทุจริตที่เชียงรายแล้ว กกต.จะมีมติยกคดีนี้ หรือจะเดินหน้าสอบความจริงให้ปรากฏ หากผิดจริงก็ต้องถูกลงโทษ จะโดนใบแดงหรือถึงขั้นยุบพรรคก็ว่าไป ...ท่ามกลางความไม่ชัดเจนดังกล่าว หลายฝ่ายในสังคมมองว่า แม้ผู้ร้องจะถอนเรื่อง ก็ไม่สามารถหยุดกระบวนการตรวจสอบทุจริตเลือกตั้งที่เชียงรายได้ เพราะนี่ถือเป็น “ความผิดอาญาแผ่นดิน” แถมการสอบก็ดำเนินมาจนปรากฏหลักฐานความผิดต่อสายตาสาธารณชนแล้ว ขณะที่พฤติกรรมการถอนเรื่องของผู้สมัครพรรค ชท.ครั้งนี้ ที่ถูกมองว่า มีขึ้นเพื่อแลกกับการเข้าร่วม รบ.ก็ยิ่งตอกย้ำความเสื่อมศรัทธาต่อพรรคนี้ให้เพิ่มขึ้นทวีคูณ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
กรณีทุจริตเลือกตั้งที่เชียงรายที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน (พปช.) ถูกผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 3 พรรคชาติไทย ดร.วิจิตร ยอดสุวรรณ ร้องคัดค้านต่อ กกต.ไม่ให้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งแก่ นายยงยุทธ โดยกล่าวหาว่านายยงยุทธ ซื้อเสียงเลือกตั้งผ่านกำนัน โดย นายยงยุทธ ให้หัวคะแนนพากำนัน อ.แม่จัน 10 คน นั่งเครื่องบินมาพบที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.
หลังการร้องคัดค้านดังกล่าว กกต.กลาง ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นผู้สอบเรื่องนี้ แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ทำไม่ไหว เพราะอิทธิพลในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ กกต.กลาง ต้องขอร้องให้ทางตำรวจสันติบาลช่วยมาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตเชียงราย หลังสอบสวนเรียบร้อยแล้ว มีพยานหลักฐานทั้งเอกสารและวีซีดี ที่ยืนยันได้ว่า กำนันทั้ง 10 คนเดินทางมาพบนายยงยุทธ ที่กรุงเทพฯ จริง รวมทั้งมีการขอให้กำนันช่วยเหลือด้วยการเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน และมีการจ่ายเงินเบื้องต้นให้กำนันทุกคนๆ ละ 2 หมื่นบาท
โดยสำนวนของทางสันติบาลที่ให้ กกต.พิจารณา ระบุรายละเอียดไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้รับการติดต่อจาก ด.ต.เทพรัตน์ เขื่อนคุณา ซึ่งเป็นคนสนิทของ นายยงยุทธ ให้ประสานกำนันทุกตำบลของ อ.แม่จัน เดินทางไปพบนายยงยุทธ ที่กรุงเทพฯ จากนั้น นายชัยวัฒน์ ได้ประสานกำนัน 9 คน รวมตัวเองเป็น 10 คน แล้ว นายชัยวัฒน์ ก็เป็นคนไปซื้อตั๋วเครื่องบินที่ หจก.นอร์ทเทิร์น ไทยทราเวล คอนเนคชั่น โดย นายชัยวัฒน์ สำรองจ่ายไปก่อน 38,300 บาท แล้วจะได้เงินคืนจากนายยงยุทธที่กรุงเทพฯ
จากนั้นกำนันทั้ง 10 คนก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับนายบรรจง ยงยืน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันจว้า ซึ่งเป็นหัวคะแนนและคนสนิทของนายยงยุทธ โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เมื่อวันที่ 28 ต.ค.เมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงบ่าย นายบรรจง ได้เช่ารถตู้(ทะเบียน อว-39 กรุงเทพมหานคร) พากำนันทั้ง 10 คน ไปยังพรรคพลังประชาชน เพื่อพบนายยงยุทธ แต่รอจนเย็น ก็ยังไม่ได้พบ เพราะนายยงยุทธยังทำธุระอยู่ นายบรรจง จึงได้พากำนันทั้งหมดขึ้นรถตู้ (ทะเบียน ออ-1660 กรุงเทพมหานคร) ซึ่งเป็นรถของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่รถมีข้อความว่า“ใช้ในราชการเท่านั้น” โดยนายบรรจง ได้พากำนันทั้ง 10 คน ไปยังโรงแรมเอสซีปาร์ค (โรงแรมที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ถือหุ้นใหญ่) จากนั้นทั้งหมดได้แยกย้ายเข้าห้องพัก
หลังจากนั้นไม่นาน นายบรรจง ก็ได้เรียกกำนันทั้ง 10 คน มาร่วมรับประทานอาหาร กับนายยงยุทธ ที่ห้องรับรองพิเศษของโรงแรม หลังจากพูดทักทายกันแล้ว นายยงยุทธ ได้ขอร้องให้กำนันช่วยเหลือผู้สมัครพรรคพลังประชาชนในระบบแบ่งเขต คือ น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาวของ นายยงยุทธ และนายอิทธิเดช แก้วหลวง รวมทั้งให้ช่วยลงคะแนนให้พรรคพลังประชาชนในระบบสัดส่วน
อย่างไรก็ตาม 1 ในกำนัน คือ นายอดิศร เรือนคำ กำนันตำบลศรีค้ำ ในฐานะประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.แม่จัน บอกว่า จะช่วยสนับสนุนพรรคพลังประชาชนในระบบสัดส่วน แต่ระบบแบ่งเขตกลุ่มกำนันจะช่วยเหลือเฉพาะ น.ส.ละออง ติยะไพรัช เท่านั้น ไม่ประสงค์จะสนับสนุน นายอิทธิเดช แก้วหลวง เพราะ นายอิทธิเดช ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เป็นคน อ.แม่สาย
จากนั้น นายชัยวัฒน์ ได้สอบถามนายยงยุทธเกี่ยวกับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างถนนสายทรายมูล-แท่นทอง ซึ่งนายชูชาติ จันทวลย์ ที่ปรึกษาของนายยงยุทธติดค้างอยู่จำนวน 250,000 บาท ซึ่งนายยงยุทธ ตอบว่า ให้ช่วยเหลือเรื่องการเลือกตั้งของตน และพรรคพลังประชาชนเสร็จสิ้นก่อน แล้วจะให้นายชูชาตินำเงินมาใช้คืนให้ จากนั้นกำนันคนอื่นๆ ก็ได้ทวงถามนายยงยุทธเกี่ยวกับเงินค่ารับเหมาที่นายชูชาติค้างอยู่เช่นกัน ซึ่งนายยงยุทธ ก็ให้คำตอบเหมือนเดิม คือ ให้ช่วยเหลือเรื่องเลือกตั้งให้เสร็จก่อน หลังพูดคุยกันประมาณครึ่งชั่วโมง นายยงยุทธ ก็เดินออกจากห้องไป โดยนายบรรจงเดินตามไปส่ง
ครู่ต่อมา นายบรรจง เดินกลับมา แล้วได้มอบซองบรรจุเงินสดซองละ 20,000 บาท ให้แก่ นายชัยวัฒน์ พร้อมกับพูดว่า “นายให้เอาเงินมาให้พรรคพวกคนละซอง” นายชัยวัฒน์ จึงได้แจกให้กับกำนันทุกคนๆ ละซอง นอกจากนี้ นายบรรจง ยังได้มอบเงินสดจำนวน 40,000 บาท ให้แก่นายชัยวัฒน์ เป็นค่าตั๋วเครื่องบินที่นายชัยวัฒน์ได้สำรองจ่ายไปก่อนด้วย
ทั้งหมดนั้นคือรายละเอียดสำนวนคดีทุจริตเชียงรายที่ตำรวจสันติบาลได้จากพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากพอ กกต.กลาง จึงได้พิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายยงยุทธ และให้โอกาสเจ้าตัวได้ชี้แจง ก่อนพิจารณาว่าจะให้ใบเหลือง-ใบแดงนายยงยุทธหรือไม่? รวมทั้งจะพิจารณาว่าความผิดดังกล่าวจะถึงขั้นเสนอยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่? เพราะนายยงยุทธเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งนายยงยุทธ ยอมรับว่า ได้พบกำนันดังกล่าวจริง แต่อ้างว่ามีคนบงการจัดฉากให้ตนพบกับกำนันดังกล่าว
ไม่แค่นั้น นายยงยุทธ ยังร้องให้ กกต.เปลี่ยนตัวอนุกรรมการสอบทุจริตเชียงราย โดยอ้างว่า พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล รอง ผบช.ตำรวจสันติบาล ที่รับผิดชอบคดีนี้ ไม่เป็นกลาง เพราะสนิทกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคพลังประชาชน กระทั่ง กกต.ก็รับลูก ด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ของ กกต.เองขึ้นมาสอบ โดยมี นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ที่เป็นเสียงข้างน้อยคดีซุกหุ้น 1 ที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิด และเป็นเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ต้องโมฆะ) เป็นประธาน โดยมีการส่งมอบสำนวนสอบและพยานหลักฐานต่างๆ ของอนุกรรมการชุดเก่าให้อนุฯ ชุดใหม่เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา
แต่ยังไม่ทันไร แค่ 3 วันให้หลัง (14 ม.ค.) ดร.วิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 3 พรรคชาติไทย ก็ชิงถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธ ต่อ กกต.เชียงราย เสียก่อน โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง พร้อมหายตัวเข้ากลีบเมฆ ไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวติดต่อสัมภาษณ์แต่อย่างใด
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การถอนคำร้องดังกล่าว มีขึ้นก่อนหน้าที่พรรคชาติไทยจะประกาศเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนใน 2-3 วันนี้ ขณะที่แกนนำพรรคชาติไทยต่างปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้ไม่เห็นกับการถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธ ของ ดร.วิจิตร เพราะเป็นสิทธิส่วนตัว!?!
ไม่เพียงการกระทำของผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย ในครั้งนี้ จะสร้างความเสื่อมศรัทธาต่อพรรคชาติไทย แต่ยังเกิดความหวาดหวั่นตามมาด้วยว่า กกต.จะหยุดสอบคดีทุจริตเชียงราย เพียงเพราะผู้ร้องถอนเรื่องหรือไม่?
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน บอกว่า เรื่องทุจริตเลือกตั้ง ต่อให้ผู้ร้องถอนเรื่อง ก็ไม่สามารถหยุดกระบวนการตรวจสอบตรงนี้ได้ เพราะ กกต.กลาง ตั้งอนุกรรมการสอบเรื่องนี้แล้ว และรายละเอียดการทุจริตที่สันติบาลสอบมาได้ ก็มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว หาก กกต.ไม่ดำเนินการต่อ ตนจะร้องต่อ กกต.เอง
“ผมอยากดูว่า กกต.จะว่าอย่างไร กกต.จะดำเนินการต่อมั้ย? เพราะเรื่องนี้ กกต.ได้ดำเนินการตั้งอนุกรรมการขึ้นไต่สวนแล้ว เรื่องนี้มันเป็นเรื่องการทุจริต ต่อให้มีผู้ร้องมายื่นถอนคำร้องภายหลัง ในความเห็นของผม ผมคิดว่าก็ไม่สามารถหยุดกระบวนการตรวจสอบได้ เพราะกรณีนี้มันได้เปิดเผยออกมาแล้ว และอีกอย่างหนึ่ง สำนวนการสอบสวนของสันติบาลเนี่ย มันก็ทำให้ กกต.เชื่อว่า มันพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาได้ ดังนั้น กกต.ต้องดำเนินการต่อไป (ถาม-ถ้า กกต.ไม่ดำเนินการต่อ จะทำอะไรมั้ย?) ผมก็จะดำเนินการกับ กกต.และผมก็จะเป็นคนยื่นกลับเข้าไปใหม่ เพราะตอนนี้หลักฐานมันได้ปรากฏเปิดเผยออกมาแล้วว่ามีการเกี่ยวข้องอะไรยังไง เพราะถือว่าเรื่องนี้ การทุจริตการเลือกตั้งครั้งนี้มันได้มีรายละเอียดของสันติบาลที่เผยแพร่ และอย่างวันนี้ (14 ม.ค.) ที่ผมเอาไปยื่น ป.ป.ช.มันก็ได้มีหลักฐานเบื้องต้นแล้วว่า มีการกระทำเช่นนี้จริง และเดี๋ยวผมก็จะเอาซีดีที่มีภาพคุณยงยุทธอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องเอาไปยื่นกับ กกต.ต่อให้พรรคชาติไทยถอน แต่ประชาชนอย่างผมก็สามารถยื่นได้”
นายวีระ ยังชี้ด้วยว่า การถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธของผู้สมัครพรรคชาติไทยครั้งนี้ สะท้อนว่า พรรคชาติไทยไม่ได้มีอุดมการณ์ที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ด้าน นายวรินทร์ เทียมจรัส เลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และอดีต กกต.กทม.ยืนยันว่า ความผิดฐานทุจริตเลือกตั้งนั้นถือเป็น“ความผิดอาญาแผ่นดิน” ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความกันได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะขอถอนเรื่องออก ก็ถือเป็นหน้าที่ที่ กกต.จะต้องตรวจสอบคดีทุจริตนั้น และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“หลักการมีนิดเดียว ก็คือ เรื่องการสอบทุจริตการเลือกตั้งเนี่ย มันเป็นความผิดอาญาทางแผ่นดิน เมื่อความปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก็ดี กกต.ก็ดี ก็ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น ถ้ามันมีเหตุน่าเชื่อว่ามันมีการทุจริตไม่เที่ยงธรรม ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่มี ก็ยกไป มันไม่ใช่เป็นเรื่องความผิดอันยอมความกันได้ (ถาม-เพราะฉะนั้น กกต.จะมาอ้างเหตุว่า ผู้ร้องถอนเรื่องแล้ว?) ถ้ามันมีหลักฐานน่าเชื่อว่าไม่สุจริตและเที่ยงธรรม แล้ว กกต.ยอมให้ถอนไป กกต.ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายนะ และต้องรับโทษเองนะ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง ...และถ้าฟังว่า กกต.ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย ก็ไปสู่กระบวนการถอดถอนได้ด้วย (ถาม-มองว่า เป็นเพราะพรรคชาติไทยจะร่วมรัฐบาล เลยต้องถอนคำร้องมั้ย?) ผมมองว่า นี่คือการเมือง การเมืองคือผลประโยชน์ ปัญหาว่าผลประโยชน์ของใคร ถ้าผลประโยชน์ของบ้านเมืองไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือกลุ่มบุคคลใดเนี่ย ผมถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและผิดกฎหมาย”
ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครพรรคชาติไทยถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธ ว่า ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเป็นพฤติกรรมของนักการเมืองที่คิดแต่จะหาผลประโยชน์ใส่ตัวเองเท่านั้น ไม่มีจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า ต่อให้ไม่มีคนร้อง กกต.ก็สอบเรื่องทุจริตเลือกตั้งเองได้ จึงไม่สำคัญว่า ผู้ร้องจะถอนเรื่องหรือไม่
“ในเรื่องการทุจริตเนี่ย กกต.ไม่จำเป็นต้องให้มีใครฟ้อง กกต.มีหลักฐานและสืบสวนหาข้อมูลได้ ก็สอบสวนไป มันไม่เกี่ยวกับเรื่องใครจะยื่นหรือไม่ยื่น …เมื่อวานนี้ (13 ม.ค.) เรา(ครป.ออกแถลงการณ์) ก็เรียกร้องขอให้ กกต.จัดการกับปัญหาการผิดกฎหมายเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียงให้ได้ อย่าไปย่อหย่อนในเรื่องนี้ ส่วนกระบวนการวิธีการของ กกต.เนี่ย เขาไม่จำเป็นต้องให้คนมาร้องเรียน เขาก็สามารถหาพยานหลักฐานเองได้ และถ้ามีคนร้องเรียน เขาก็สั่งให้ กกต.จังหวัด หาพยานหลักฐานได้ ถึงแม้จะไม่มีคนร้องเรียน ปกติ กกต.ก็ต้องส่งสายสืบของตัวเองไปเหมือนสมัย กกต.ชุดแรก กกต.บางคนก็ลงไปในพื้นที่เอง เพื่อที่จะไปหาข้อมูลหลักฐาน โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้คนอื่นมาแจ้งใช่มั้ย คนอื่นมาแจ้งก็ดี ก็ทำให้สิ่งที่ กกต.ไม่รู้ ก็จะได้รู้ เพราะฉะนั้น กรณีนี้ เขามาแจ้งแล้ว และเขาถอนแจ้งไป กกต.ก็ควรจะสืบต่อไปว่า มันมีความจริงอยู่ตรงไหน ข้อเท็จจริง”
ด้าน อ.ประหยัด หงษ์ทองคำ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ มองกรณีผู้สมัครพรรคชาติไทยถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธ กรณีทุจริตที่เชียงราย ว่า สะท้อนว่าพรรคชาติไทยไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ยังคงทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่ได้รู้สึกผิดคาดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนายบรรหาร เคยพูดเองว่า เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง จึงไม่แปลกที่พรรคชาติไทยจะทำอะไร เพื่อให้ได้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน
“แสดงว่า การเมืองของเรานั้นไม่มีหลักการแล้วน่ะ สิ่งที่เขาเล่นการเมืองทุกวันนี้ ก็คือ เพื่อประโยชน์ของเขาเอง และพวกพ้องเท่านั้นเอง อุดมการณ์ทางการเมืองหลักการทางการเมืองไม่มี เวลาไปหาเสียงกับประชาชน ก็บอกว่า เรามีหลักการอย่างนั้น เรามีหลักการอย่างนี้ จำได้มั้ยว่า ก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้ง ก็มีการพูดกันอย่างชัดเจนว่า ใครจะรวมกับใคร ใช่มั้ย อย่างกรณี คุณประชัย บอกไว้ชัดเลยว่า ทำงานร่วมกับพรรคพลังประชาชนไม่ได้ แต่พอเลือกตั้งมาแล้ว ก็บอกว่า เราคงจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อความสมัครสมานสามัคคี ขณะเดียวกัน เริ่มต้นทีเดียวพรรคชาติไทย เองก็บอกว่า เราจะต้องจับมือกับพันธมิตรของเราอย่างแน่นแฟ้น พอเริ่มหาเสียงเลือกตั้งก็มีทีท่าว่า เรื่องที่เราตกลงกันไว้นั้น เป็นเรื่องการตกลงก่อนหน้านี้ เป็นอันว่าเลิกกันไป และเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ว่าจะทำยังไงกัน เมื่อเลือกตั้งแล้ว รู้ผลเลือกตั้งแล้ว วันนั้นเองมีการจับขั้วระหว่างชาติไทย กับเพื่อแผ่นดิน และจับขั้วนั้นไม่ใช่จับขั้วเพื่ออะไรหรอก เพื่อที่จะสร้างพลังต่อรอง ไม่ใช่จับขั้วเพื่อที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ...จำได้มั้ย คุณบรรหาร เคยหลุดปากออกมาเองบอกว่า “เป็นฝ่ายค้าน หิวจะตายไป อดอยากปากแห้ง” (ถาม-เพราะฉะนั้นไม่ได้ผิดคาดเลย?) ไม่ได้ผิดคาด”
อ.ประหยัด ยังชี้ด้วยว่า แม้ผู้ร้องจะถอนเรื่องคัดค้านกรณีทุจริตเชียงรายแล้ว แต่ กกต.ก็สามารถดำเนินการสอบสวนเองได้ หากมีข้อมูลหลักฐานอยู่ในมือที่เชื่อถือได้ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องแต่อย่างใด
ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สาเหตุหลักที่ผู้สมัครพรรคชาติไทยถอนเรื่องคัดค้านนายยงยุทธ คงเป็นเพราะพรรคชาติไทยต้องการเข้าร่วมรัฐบาล กับพรรคพลังประชาชน ซึ่งพรรคชาติไทยคิดเองว่า คงเป็นประโยชน์กับพรรค และประเทศชาติ แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า การถอนเรื่องดังกล่าวสายเกินไปแล้วที่จะทำให้ กกต.หยุดสอบกรณีทุจริตเชียงราย เพราะเรื่องดำเนินมาถึงขั้น กกต.กลางตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้แล้ว
“ผมคิดว่ามันสายเกินไปแล้วในการที่จะมาถอนคำร้อง เพราะถ้าเรื่องมันเข้ามาถึง กกต.มีการตั้งกรรมการตรวจสอบแล้ว ถึงแม้ผู้สมัครพรรคชาติไทยผู้นั้น อาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เขามายื่นคำร้อง เพราะฉะนั้นคล้ายๆ กับว่าเขาเป็นผู้เสียหาย และเขาก็ยื่นเข้ามา และตอนนี้เขาเปลี่ยนใจ แต่สิ่งที่สังคมรับรู้เนี่ยมันคือไม่ใช่แค่ความเสียหายของผู้สมัครพรรคชาติไทยคนนั้น แต่เป็นความเสียหายของสังคม ของประเทศชาติ ของประชาชนทั้งหมดนะ ถ้ามันมีเรื่องของการหาเสียงที่ไม่ถูกต้อง และผมคิดว่า ทำไมบ้านเมืองเรานี่มันจะปั่นป่วนวุ่นวายย่อยยับ ก็เพราะคนบางคน คนไม่กี่คนประเภทนี้หรือ ผมเองก่อนหน้านี้พยายามจะมีความหวังกับนักการเมืองนะ พยายามให้กำลังใจแก่ทุกคนที่ยังเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เขาจะอาสาเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อแผ่นดิน แต่พอมารับฟังว่ามีการถอนคำร้องแบบนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หรือเรื่องความถูกต้องที่สังคมไทยจะต้องมีอยู่ เขาไม่คิดว่าตกลงนี่มันจริงหรืออย่างที่เขาพูดกันว่า คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศเนี่ย มันทำให้บ้านเมืองมันวุ่นวาย ทำให้บ้านเมืองมันเสียหาย หายนะ ย่อยยับเนี่ย”
อ.ไชยันต์ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ความรู้สึกคาดหวังที่ตนมีต่อพรรคชาติไทยได้หมดไปตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งที่พรรคนี้เริ่มเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ยืนอยู่บนหลักการที่พรรคได้แสดงมาตลอดว่า จะไม่ร่วมสังคายนากับพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งการไม่มั่นคงในจุดยืนของพรรคหรือนักการเมือง ทำให้ตนรู้สึกว่า นักการเมืองบางพรรคยังเห็นประชาชน“โง่เหมือนควาย” ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า ดูถูกควาย แต่เป็นสัญลักษณ์ที่คนไทยมักจะพูดกัน ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคเห็นประชาชนเป็นควายจริงๆ เพราะตัวเองอยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่ต้องแคร์ ไม่ต้องสนว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร ทั้งที่จริงๆ แล้ว การโหยหาโหยหิวที่จะเป็นรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง แต่นักการเมืองแม้ไม่มีจุดยืน ก็ควรจะมีสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตนเองบ้าง ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำโดยไม่สนว่า จะเกิดความเสียหายหรือเกิดหายนะขึ้นกับบ้านเมืองหรือไม่?