xs
xsm
sm
md
lg

หมอชี้! มีอาการเวียนหัว-โคลงเคลง เหมือนแผ่นดินยังไหว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.อุเทน อายุรแพทย์ระบบสมองและประสาท เผยหากยังมีอาการเวียนหัวและรู้สึกโคลงเคลงเหมือนแผ่นดินไหว ทั้งๆ ที่เหตุแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และพบคนมีอาการแบบนี้ทั่วโลก

จากกรณีข่าวเหตุแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา 8.2 ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย 7.7 ทำให้หลายจังหวัดได้รับผลกระทบ ขณะที่กรุงเทพมหานครก็พบมีตึกที่กำลังก่อสร้างถล่มอีกด้วย ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (28 มี.ค.) เพจ “หมอตุ๊ด” หรือ นพ.อุเทน บุญอรณะ หรือหมอแพท อายุรแพทย์ระบบสมองและประสาท ได้ออกมาให้ความรู้ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า “คิดว่าวันนี้หลายคนคงจะสะเทือนขวัญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศที่ส่งผลมาถึงประเทศไทยของเรา

บางคนจะยังมีอาการเวียนศีรษะและรู้สึกโคลงเคลง เหมือนแผ่นดินไหวทั้งๆ ที่เหตุแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว จะบอกว่าไม่แปลกนะคะ นี่คืออาการที่เรียกว่า post-earthquake dizziness syndrome

วันนี้ขอทำหน้าที่หมอสักหนึ่งวันแล้วกันนะคะ จะมาเล่าอาการ PEDS ให้ฟังค่ะ
1. อาการเวียนศีรษะหลังแผ่นดินไหว หรือที่เรียกว่า Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS) คือภาวะที่ผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวรู้สึกเวียนศีรษะ โคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว แม้แผ่นดินไหวจะผ่านพ้นไปแล้ว

2. อาการนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ ที่จริงแล้วพบได้บ่อยในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แล้วก็มีคนเป็นอาการแบบนี้ทั่วโลกค่ะ

3. มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบของภาวะนี้ค่ะ

4. สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง:

1) ระบบทรงตัว (Vestibular system) ถูกกระตุ้นมากเกินไป : การเคลื่อนไหวรุนแรงและไม่ปกติระหว่างแผ่นดินไหวสามารถรบกวนการทำงานของระบบทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือรู้สึกหมุน

2) ความเครียดและความวิตกกังวลทางจิตใจ : เหตุการณ์แผ่นดินไหวมักเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจและความกลัวอย่างมาก ความเครียดและความวิตกกังวลที่ตามมาอาจส่งผลให้รู้สึกโคลงเคลงหรือเสียการทรงตัว

จากการวิจัยพบว่าความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบทรงตัวที่ลดลงหลังแผ่นดินไหว

3) ความขัดแย้งของข้อมูลทางประสาทสัมผัส (Sensory mismatch) : แผ่นดินไหวอาจทำให้ข้อมูลจากการมองเห็น ความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และระบบทรงตัว ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งความไม่ตรงกันนี้สามารถทำให้เกิดความรู้สึกสับสนในการรับรู้ตำแหน่งตัวเองในอวกาศและเวียนศีรษะได้เลยค่ะ

4) ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic dysfunction): ความเครียดที่รุนแรงจากการประสบแผ่นดินไหวอาจรบกวนการทำงานของระบบที่ควบคุมความดันโลหิตและการไหลเวียนของเลือด ซึ่งส่งผลต่อหูชั้นในและทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ

5. มาดูเรื่องปัจจัยเสี่ยงกันบ้างค่ะ เพราะบางคนเป็นและบางคนไม่เป็น

อันแรกเลย เพศและอายุ : มีรายงานว่าผู้หญิงและผู้ที่มีอายุมากกว่า 21 ปีมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะนี้มากกว่า

ถัดมาค่ะ ประวัติเมารถ เมาเรือ : คนที่มีประวัติเมารถหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวมาก่อนมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป

ปัจจัยข้อถัดไปก็คือ ระดับความรุนแรงของการสัมผัสแผ่นดินไหว : คือคนที่อยู่บนชั้นสูงของอาคารหรืออยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวซึ่งรับรู้การสั่นไหวรุนแรง อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะรู้สึกเวียนศีรษะภายหลัง

6. ทีนี้มาคุยถึงวิธีจัดการและแนวทางบรรเทาอาการ กันบ้างค่ะ ที่จริงแล้วแนะนำให้พยายามการลดความเครียดค่ะ ส่งข้อความคุยกับเพื่อน หาอะไรกินรองท้องซะ จะเป็นการช่วยลดความเครียดทั้งทางอารมณ์และทางร่างกายค่ะ

พยายามลดการดูโซเชียลที่นำเสนอภาพน่ากลัวของแผ่นดินไหวเพราะจะทำให้ยิ่งกระตุ้นสมองส่วน Insula cortex

7. สุดท้ายนะคะ หากผ่านไปวันสองวันแล้วยังคงมีอาการอยู่ แนะนำให้มาพบแพทย์ดีกว่าค่ะ เพื่อประเมินว่ามีโรคทางระบบทรงตัวหรือความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่

สวัสดีเย็นวันศุกร์
ขวัญเอ๋ย ขวัญมานะคะ


กำลังโหลดความคิดเห็น