xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประตู “บ่อทอง 33” ปราจีนบุรี จุดเกิดเหตุ รง.ระเบิด ที่แท้ “นิคมฯ โรงงานจีนล้วน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประตู “นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33” กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี ที่ตั้งโรงงานรีไซเคิลระเบิด ตาย 2 เจ็บเพียบ ที่แท้เป็น “นิคมฯ โรงงานจีนล้วน”


รายงานพิเศษ


“ทำไมประเทศไทยจึงต้องสนับสนุนให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการเป็นโรงงานจีนทั้งหมดขึ้นในประเทศไทย”

ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม และเป็นอดีตแกนนำคัดค้านโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ตั้งคำถามถึงการกำเนิดขึ้นของ “นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33” ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 เป็นที่ตั้งของ บริษัท เซียว เซียง นัน เฟอรัส เมทัล จำกัด โรงงานรีไซเคิลโลหะ ที่เพิ่งเกิดเหตุระเบิดขึ้นเมื่อช่วงสายของวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ทำให้คนงาน 2 รายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จนเกิดคำถามต่อมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงาน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งควรจะมีมาตรฐานสูง






“โรงงานในนิคมฯ บ่อทอง 33 เป็นโรงงานของจีนล้วนๆ”

มีคำยืนยันข้อมูลนี้ตรงกันจาก 3 ฝ่ายที่ติดตามสถานการณ์ปัญหากากอุตสาหกรรมในไทย ทั้งนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามปัญหา และผู้ประกอบการโรงงานในกลุ่มรับกำจัดบำบัดของเสียอันตรายในประเทศไทย

ดาวัลย์ เคยเข้าไปสังเกตการณ์ในนคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 ตั้งแต่ในช่วงที่เป็นนิคมฯ เกิดใหม่ และมีข้อสังเกตว่า แม้โรงงานในนิคมฯ จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แต่ที่นิคมฯ บ่อทอง 33 ถือเป็นนิคมฯ ร่วม ที่มีเอกชนเข้ามาเป็นผู้บริหารหลักในนิคมฯ ใช่หรือไม่? และเอกชนที่เราพูดถึงก็คือ โรงงานจากประเทศจีนทั้งหมดเลยใช่หรือไม่?

“ถ้าผู้บริหารนิคมฯ ร่วม คือ เอกชน ซึ่งหมายถึงโรงงานจีน ก็ต้องถามดังๆ ว่า ทำไมประเทศไทยต้องเปิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมารองรับโรงงานจีน ทั้งๆ ที่ในช่วง 6-7 ปีหลัง มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเถื่อนจำนวนมาก ที่ทำตัวอยู่เหนือกฎหมายราวกับเป็นรัฐอิสระ หรือโรงงานที่มีใบอนุญาตแต่ก็ไม่ต่างจากโรงงานเถื่อน คือ ลักลอบนำเข้าขยะโดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีมาตรฐาน สกปรก ลักลอบทิ้ง ลักลอบฝัง ลักลอบปล่อยน้ำเสีย ... โรงงานจีนที่เข้ามาในไทย สร้างผลกระทบมากมาย แต่หน่วยงานรัฐของไทย ก็ไม่ค่อยจัดการอะไร กลับยังไปตั้งนิคมฯ ขึ้นมารองรับอีก”







เมื่อลองเข้าไปตรวจสอบความเป็นมาของนิคมฯ แห่งนี้ โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า “นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33” ลงไปใน Google ก็จะพบคำค้นหาในภาษาไทย แต่มีชื่อเว็บไซต์เป็น ภาษาจีน รวมอยู่ด้วย

และเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์นี้ ก็จะพบว่า โลโก้ที่มีชื่อนิคมเป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน และสามารถเลือกเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้ด้วย ส่วนรายชื่อผู้บริหาร มีข้อมูลระบุไว้ว่ามี ดร.วิชิต ลอลือเลิศ ซึ่งเป็นประธานสมาคมครูจีน (ประเทศไทย) ทำหน้าที่เป็นประธานบริหารนิคมฯ พร้อมแสดงข้อความวิสัยทัศน์ไว้ว่า “นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 เป็นนิคมที่มีแนวคิดสมัยใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0"

ส่วนพื้นถัดลงไปในเว็บไซต์ ได้แสดงข้อมูลประวัติความเป็นมาของนิคมฯ ที่เริ่มจากการได้สิทธิพิเศษหลายประการในปี 2015 จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ทำให้สามารถให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ ... ต่อมาในปี 2018 นิคมฯ บ่อทอง 33 ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ... ผ่านการประเมินรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในปี 2019 ... เริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2020 และแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2022 .. ส่วนในคอลัมน์ “ข่าวและกิจกรรม” ทั้งหมด ล้วนเป็นข่าวของผู้ประกอบการชาวจีน และหากเลือก “ดูทั้งหมด” จะเข้าไปที่หน้าข่าวซึ่งเปลี่ยนเป็น “ภาษาจีน”


















จากข้อมูลเหล่านี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม จึงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของไทย ต้องกำกับดูแลการดำเนินกิจการของโรงงานจีนในนิคมฯ บ่อทอง 33 ให้เป็นไปตามกฎหมายและมีมาตรฐานอย่างเข้มงวด

“เมื่อเห็นแล้วว่า มีผู้ประกอบการบางส่วน เช่นโรงงานที่เกิดเหตุระเบิด ทำกิจการรีไซเคิล ซึ่งจะมีกากอุตสาหกรรมอันตรายจำนวนมากถูกนำเข้ามาใช้ในกิจการด้วย เราขอเรียกร้องให้ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลการจับเก็บหรือการเคลื่อนย้ายของสารที่มีมลพิษทั้งหมดในนิคมแห่งนี้ด้วย” ดาวัลย์ กล่าว

เมื่อตรวจสอบกับผู้ประกอบการในกิจการรับกำจัดหรือบำบัดของเสียอันตรายในประเทศไทย ยังได้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมด้วยว่า มีผู้ประกอบการของไทย ที่แสดงความต้องการจะเข้าไปเปิดโรงงานในนิคมฯ บ่อทอง 33 เช่นกัน แต่ก็จะถูกตั้งเงื่อนไขต่างๆ หลายข้อจนเข้าไปดำเนินการไม่ได้ และต้องยอมถอยออกมาจนมีแต่โรงงานจีนเท่านั้น

ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 แล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมอื่น ที่เป็นผู้ประกอบการชาวจีนล้วนๆ เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว คือ

“นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง” อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับยางเป็นหลัก เป็นโรงงานจีนทั้งหมด ตั้งแต่ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร คนงาน ไปจนถึงโรงงานที่ดำเนินกิจการอยู่

“สวนอุตสาหกรรมมังกรทอง” อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เป็นที่ตั้งของกลุ่มโรงงานรีไซเคิลจากทุนจีน ประเภท “หลอมอลูมิเนียม” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสวนอุตฯ มังกรทอง มีทั้งโรงงานหลอมอลูมิเนียมจนกลายเป็นตะกรันที่เรียกว่า อลูมิเนียมดอส และมีโรงงานที่นำอลูมิเนียมดอสไปหลอมต่ออีกที ดังนั้นกิจการที่นี่กำลังขยายใหญ่โตกว่าโรงงานไทยที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร แล้ว

อ่านประกอบ :

- ชาวปราจีนฯ ถามหา รง.ทุนจีน “มาตรฐานอยู่ที่ไหน” หลังระเบิดนิคมฯ บ่อทอง 33

- หวั่นเจออิทธิพล "รง.รีไซเคิลทุนจีน" ที่ปราจีนบุรี สั่งปิดถาวรแต่ยังลักลอบทำได้

- เปิด “รัฐอิสระหนองหอย” ปราจีนฯ รง.รีไซเคิลโยงทุนจีน ยังมีคนงานทั้งที่สั่งถอนใบอนุญาตแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น