ย้อนดูอาณาจักรกลุ่มโรงงานรีไซเคิล “รัฐอิสระหนองหอย” โยงทุนจีน ถูกสั่งถอนใบอนุญาต แต่ยังมีคนงาน รถขนส่งวิ่งเข้า-ออก
รายงานพิเศษ
6 มีนาคม 2567 เกิดเหตุคล้ายมีการระเบิดของสารเคมีขึ้นภายในโรงงานแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหอย หมู่ 10 ต.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หลังเกิดเหตุมีกลุ่มควันสีส้มหนาตาลอยขึ้นมาในอากาศ และส่งกลิ่นเหม็น สร้างผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ จนต้องไปร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม จ.ปราจีนบุรี
8 มีนาคม 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุตามข้อร้องเรีบย และพบว่า จุดที่เกิดกลุ่มควันสีส้มอยู่ในโรงงาน บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดใหญ่ถึง 49 ไร่ มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลำดับที่ 106 (กลุ่มโรงงานรีไซเคิล) ซึ่งถูกระบุว่าสามารถประกอบกิจการได้หลายประเภทอย่างเหลือเชื่อ ทั้งทำเชื้อเพลิงทดแทน สกัดโลหะมีค่า บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำกรดและด่างที่ใช้แล้วมาผ่านวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ หลอมหล่อทองแดง และคัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย
นับเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการได้หลายประเภทมากๆ และผลจากการตรวจสอบทำให้มีคำสั่งให้โรงงาน “หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อปรับปรุง” หลายครั้ง แต่ไม่พบการปรับปรุง จนนำมาสู่การออกคำสั่ง “ปิดกิจการ” ในเวลาต่อมา โดยมีช่วงเวลาดังนี้
- 6 มีนาคม 2567 พบกลุ่มควันสีส้ม ส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านร้องเรียน
- 8 มีนาคม 2567 กรมโรงงานฯ อุตสาหกรรม จ.ปราจีน หน่วยงานอื่น ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบปัญหาเกิดจากกระบวนการคัดแยกตะกอนโลหะโดยใช้สารเคมี
- 10 มีนาคม 2567 สำนักงานอุตฯ ปราจีนบุรี มีคำสั่งให้โรงงานปิดปรับปรุงในส่วนกระบวนการคัดแยกตะกอนโลหะ มีกำหนด 60 วัน
- 10 เมษายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งให้ ที แอนด์ ที หยุดประกอบกิจการทั้งหมดเพราะทำผิดเงื่อนไขหลายข้อ และให้แก้ไขปรับปรุงโรงงานให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 แต่ต่อมาทางโรงงานขอขยายเวลาการปรับปรุง จึงกำหนดขยายเวลาให้ทางโรงงานออกไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
- 16 พฤษภาคม 2567 ชาวบ้านในนาม “กลุ่มคนรักษ์หนองหอย” ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯปราจีนบุรี ให้ตรวจสอบโรงงานทั้งหมดในพื้นที่ และแจ้งความว่า ในระหว่างถูกสั่งหยุดประกอบกิจการ ยังพบว่า โรงงาน ที แอนด์ ที ยังคงดำเนินการตามปกติ
- 23 สิงหาคม 2567 ชาวบ้านแจ้งต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า โรงงานยังคงดำเนินการอยู่ตลอด ทั้งนำน้ำเสียไปทิ้ง หลอมโลหะ และพบการขนส่งวัตถุดิบเข้ามาในโรงงาน
- 3 กันยายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาตรวจโรงงาน และพบว่า ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาต คือ ไม่สามารถบอกที่มาของวัตถุดิบที่นำมาได้ ซึ่งรวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากด้วย และยังไม่ปรับปรุงตามคำสั่งก่อนหน้านี้ แต่กลับมีการต่อเติมติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบ่อคอนกรีตที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง รวมทั้งไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า “กากสุดท้าย” หรือ ของเสียที่เหลือจากการรีไซเคิล ได้ถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่
- วันที่ 3 กันยายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังเข้าตรวจสอบโรงงานอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน ที แอนด์ ที และพบว่า มีโรงงานอีก 3 แห่ง คือ
บริษัท โอโน่เทค จำกัด (โรงงาน 60 105 106 หล่อหลอมอลูมิเนียมและโลหะ)
บริษัท ไอโอกรีน จำกัด (โรงงาน 106 บดย่อยตะกรันเหล็ก)
บริษัท พีแอล กรีน เวิลด์ 2020 จำกัด (โรงงาน 101 ปรับปรุงคุณภาพของเสีย แต่ที่ตั้งโรงงานจริงไม่ตรงกับเลขที่โฉนดในใบอนุญาต เท่ากับไม่มีใบอนุญาต)
- ยังมีอาคารอีก 2 จุด ที่มีรั้วติดกับโรงงาน ที แอนด์ ที และพบการดำเนินกิจกรรมคล้ายการรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่มีใบอนุญาต
- รวมทั้งมีพื้นที่ที่ถูกทำเป็นพื้นที่ “ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” ซึ่งอยู่ติดกับ ที แอนด์ ที แต่ไม่มีใบอนุญาตเช่นกัน
- บริษัท ที แอนด์ ที มีอดีตผู้ก่อตั้งชื่อ นายพิสิษฐ์ พูนเจริญชัย หรือ “อาเหว่ย” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถพูดภาษาจีนได้ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้ปัจจุบันไม่มีหุ้นแล้ว แต่ยังคงมีบทบาทอยู่ในโรงงาน และเป็นผู้เดินนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจโรงงาน รวมถึงเคยนำตรวจจุดที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการรวมทั้งบริเวณที่เป็นจุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ติดโรงงาน ร่วมกับชาวจีนที่เรียกว่า “นายจาง” เป็นผู้นำตรวจในจุดนี้ด้วย
- 25 กันยายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกประกาศคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด
- 27 กันยายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ติดประกาศคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
- หลังจากนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ยังพบความเคลื่อนไหวในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ยังมีคนงานอยู่ในโรงงานตามปกติ ยังมีรถขนส่งวัตถุดิบวิ่งเข้าออกบริเวณโรงงานอย่างต่อเนื่องแม้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว
ชาวบ้านหนองหอย ตั้งข้อสังเกตว่า โรงงาน ที แอนด์ ที อาจยังลักลอบประกอบกิจการอยู่แม้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว เพราะชาวบ้านในพื้นที่ยังพบเห็นมีกลุ่มควันลอยออกมาจากในโรงงานบ่อยๆ และได้ยินเสียงเครื่องจักรคล้ายยังเดินเครื่องอยู่ รวมทั้งมีรถบรรทุกเข้าออกโรงงาน และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ทีมข่าวลงพื้นที่โรงงาน ที แอนด์ ที และพบความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับข้อมูลของชาวบ้าน คือ ยังพบเห็นคนงานอยู่ในโรงงาน พบเห็นรถบรรทุกขนส่งวิ่งเข้าออกอยู่ตลอด และระหว่างลงพื้นที่จะมีคนในโรงงานออกมายืนดักหน้ารถเพื่อแจ้งข้อมูลต่อกัน โดยมีหลายจุดที่คนงานในโรงงานเปิดประตูรั้วออกมาเพื่อใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพรถของทีมข่าว ทั้งที่รถวิ่งอยู่บนทางสาธารณะ
ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม แสดงความกังวลว่า พื้นที่นี้อาจก่อให้เกิดกลุ่มอิทธิพลที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนและคนงานชาวต่างชาติ เห็นได้จากการพฤติกรรมที่โรงงานนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ หมายถึงไม่เกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่น้อย ซึ่งหากหน่วยงานรัฐปล่อยให้คนกลุ่มนี้แสดงอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐ จะส่งผลกระทบกับความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตประจำวัน