“มาตรฐานอยู่ที่ไหน” ชาวปราจีนฯ ถามหาความปลอดภัยจากโรงงานทุนจีน หลังเกิดระเบิดใน “นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33”
รายงานพิเศษ
บริษัท เซียว เซียง นัน เฟอรัส เมทัล จำกัด คือ ชื่อของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่เกิดเหตุสารเคมีระเบิดขึ้นเมื่อช่วงสายของวันที่ 26 ตุลาคม 2567 จนเป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีกหลายราย
โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานในกลุ่มผู้รับกำจัดหรือบำบัดของเสีย หรือที่เรียกกันว่า โรงงานรีไซเคิล เพราะมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 ทำกิจการประเภทหล่อหลอมโลหะ เพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และเพิ่งเปิดโรงงานเมื่อเดือนมกราคม 2567 อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 ซึ่งเป็นนิคมฯ ที่เพิ่งเปิดมาไม่นานเช่นกัน
“ทุกโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 เป็นโรงงานของจีนทั้งหมดครับ”
สุเมธ เหรียญพงษ์นาม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี ยืนยันข้อมูลนี้ หลังจากที่เขาเคยเข้าไปตรวจสอบมาแล้ว พร้อมระบุว่า นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 เปิดมาได้ประมาณ 2 ปีกว่าเท่านั้น ยังมีโรงงานทุนจีนอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แม้แต่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างก็ยังเป็นบริษัทจีน และยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เพราะโรงงานที่เกิดเหตุระเบิดถือเป็นโรงงานกลุ่มรีไซเคิล ที่จะต้องรับกากอุตสาหกรรมอันตรายมาประกอบกิจการ
“ช่วงที่เขามาเปิดนิคมฯ บ่อทอง 33 เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ที่ตั้งของนิคมเดิมเป็นที่ว่างเปล่า อยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นโรงงานกลุ่มทุนจีน เพราะจะได้รับข้อมูลจากกลุ่มผู้นำในท้องถิ่นเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำแต่ละพื้นที่จะให้ข้อมูลแบบไหน ดังนั้นเมื่อมีการทำเวทีประชาคม จึงไม่มีเสียงคัดค้าน” สุเมธ เล่าถึงทีมาของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้
“แต่มาถึงวันนี้ ในฐานะที่เป็นคนปราจีนฯ เราคงต้องตั้งคำถามแล้วว่า มาตรฐานของโรงงานจีนอยู่ตรงไหน ... และมาตรฐานของเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบโรงงานก่อนจะออกใบอนุญาตให้ ทั้งในด้านความปลอดภัยในการทำงานและการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงไหน”
สุเมธ ซึ่งกำลังตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลอีกหลายแห่งที่บ้านหนองหอย อ.ศรีมหาโพธิ ซึ่งเชื่อมโยงกับทุนจีนเช่นกัน ตั้งคำถามใหม่
“เมื่อสัปดาห์ก่อน เกิดระเบิดในโรงงานที่สวนอุตสาหกรรม 304 มีสารเคมีรั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมาก เราก็ได้ข้อมูลว่าเกิดจากการแก้ปัญหากับอุปกรณ์แบบผิดวิธี จนสัปดาห์นี้ก็เกิดระเบิดอีกที่นิคมฯบ่อทอง33 ทางชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายของเราได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ก็พบว่า แม้ด้านนอกโรงงานจะดูดีตามมาตรฐานนิคมอุตสาหกรรม แต่วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุต่างจากโรงงานญี่ปุ่นหรือยุโรปมาก แบบนี้เราก็ต้องถามกลับไปที่หน่วยงานรัฐเลยว่าได้ตรวจสอบจริงจังแค่ไหนก่อนจะออกใบอนุญาต”
“อย่าลืมนะครับว่า กลุ่มนี้เป็นโรงงานรีไซเคิล วัตถุดิบในโรงงานล้วนแต่เป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย นี่ขนาดเป็นโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ถูกกำกับโดยการนิคมอุตสาหกรรมยังมีปัญหาแบบนี้ ... ถ้าจะเปรียบเทียบกับโรงงานรีไซเคิลอีกกลุ่มที่บ้านหนองหอย ซึ่งไปซื้อที่ดินมาตั้งโรงงานเอง ตั้งเป็นอาณาจักรอยู่ข้างนอก อย่างโรงงาน ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ ซึ่งเคยเกิดระเบิดเช่นกัน ก็จะยิ่งเห็นได้ว่า ยิ่งสร้างปัญหามากกว่า และที่เห็นได้ชัดเลย คือ โรงงานนอกนิคมฯ ยังคงเปิดทำงานกันอยู่ได้ แม้จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว ... แบบนี้ ชาวบ้านอย่างเรา ก็ต้องตั้งคำถามถึงมาตรฐานการกำกับดูแลโรงงานจีนจากหน่วยงานรัฐของไทย”
อ่านประกอบ : เปิด “รัฐอิสระหนองหอย” ปราจีนฯ รง.รีไซเคิลโยงทุนจีน ยังมีคนงานทั้งที่สั่งถอนใบอนุญาตแล้ว
อ่านประกอบ : หวั่นเจออิทธิพล "รง.รีไซเคิลทุนจีน" ที่ปราจีนบุรี สั่งปิดถาวรแต่ยังลักลอบทำได้
“ที่ตั้งโรงงานก็น่าจะต้องไปตรวจสอบดูด้วยนะครับ ว่ามันจะส่งผลต่อการติดตามตรวจสอบหากโรงงานทำผิดกฎหมายหรือไม่”
“กลุ่มโรงงานในนิคมฯ เรายังพอตรวจสอบง่าย แต่ที่ตั้งนอกนิคม เขาจะซื้อที่ดินจากชาวบ้านโดยใช้วิธีทำสัญญาผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ระยะยาว ถ้าโรงงานมีปัญหา เขาก็ถอนตัวได้ ให้คนที่มีชื่อเป็นเจ้าที่ดินรับความผิดไป”
“แล้วประเทศไทย คนไทย คนในพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงสิ่งแวดล้อม จะไปเอาผิดจากใคร” สุเมธ ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย