ชาวบ้านหวั่นเจออิทธิพล หลังโรงงานรีไซเคิลใหญ่โยงทุนจีนถูกสั่งปิดถาวร แต่ยังลักลอบดำเนินการได้ราวกับเป็นรัฐอิสระ
รายงานพิเศษ
25 กันยายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานรีไซเคิล บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และโรงงานอื่นในบริเวณเดียวกันที่ไม่มีใบอนุญาต หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านหนองหอย อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มาหลายครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 และโรงงานไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้ปรับปรุง ไม่สามารถชี้แจงที่มาของกากอุตสาหกรรมในโรงงานได้ แถมยังมีการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม และไม่หยุดประกอบกิจการชั่วคราวในระหว่างถูกสั่งให้ปิดปรับปรุง
แต่หลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของ ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ กลับมีปรากฏกการณ์หลายรูปแบบเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลมากขึ้นกว่าเดิม
“ทีแรกเราต่อสู้เพื่อให้โรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งชาวบ้านก็โล่งใจที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตรวจสอบและมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจริงๆในที่สุด จึงมีความหวังว่า จะเริ่มเห็นการฟื้นฟูพื้นที่หรือเห็นการเข้ามาจัดการขนย้ายของเสียออกไปกำจัดอย่างถูกต้องเป็นขั้นตอนต่อไป แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย”
สุเมธ เหรียญพงษ์นาม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี ในฐานะหนึ่งในคนที่ร่วมต่อสู้จนสามารถทำให้โรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต แสดงความรู้สึกไม่แน่ใจว่า ชาวบ้านหนองหอยจะมีความป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือต้องวิตกกังวลมากขึ้นกันแน่ หลังโรงงานถูกสั่งให้ปิดกิจการถาวร เพราะดูเหมือนว่า ผู้ประกอบการรายนี้ จะมีท่าทีที่ไม่เกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่น้อย
“สิ่งที่ชาวบ้านพบเจอหลังโรงงานถูกถอนใบอนุญาต คือ ภาพที่โรงงาน ที แอนด์ ที กลายเป็น “รัฐอิสระเหนือกฎหมาย” ยังได้ยินเสียงเครื่องหลอม ยังได้รับกลิ่นเหม็น ยังเห็นรถขนส่งวัตถุดิบวิ่งเข้า-ออกเหมือนเดิม ยังมีคนงานชาวต่างชาติอยู่ในโรงงานเป็นจำนวนมาก”
“บางวัน โรงงานยังส่งคนงานใส่ไอ้โม่งคลุมศรีษะนั่งท้ายรถกระบะออกมาตระเวนดูชาวบ้าน บางวันก็ใช้โดรนปริศนาขึ้นบินคล้ายจะสำรวจดูความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ... ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่หน่วยงานรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการอะไรกับกลุ่มอิทธิพลในคราบโรงงานรีไซเคิลกลุ่มนี้ได้อีกเลย”
“โรงงานปิดไปแล้วตามกฎหมาย การจ้างงานกับแรงงานต่างชาติที่ยังอยู่จะถือเป็นไปตามกฎหมายอยู่มั้ย ถ้าแรงงานเหล่านี้ไม่อยู่ในกระบวนการตามกฎหมายแล้ว ชาวบ้านจะมั่นใจในความปลอดภัยที่ต้องอยู่ร่วมกับแรงงานเหล่านี้ได้ยังไง” สุเมธ ตั้งคำถาม
ในพื้นที่บ้านหนองหอย ยังมีความเข้าใจว่า โรงงานที แอนด์ ที แห่งนี้ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนจีน เพราะผู้ที่เดินนำตรวจโรงงานคือบุคคลที่มีชื่อ “อาเหว่ย” หรือ นายพิสิษฐ์ พูนเจริญชัย ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มีเชื้อสายจีน และยังมีชาวจีนทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังพบว่า วัตถุดิบจำพวกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พบจำนวนมากในโรงงาน มีลักษณะคล้ายกับที่เคยตรวจพบจากกลุ่มโรงงานทุนจีนในพื้นที่อื่นๆก่อนหน้านี้ด้วย
สุเมธ เล่าด้วยว่า ในช่วงขิงการต่อสู้เรียกร้องให้หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาตรวจสอบโรงงาน ก็พบว่าโรงงานแห่งนี้ รวมถึงโรงงานอื่นๆในบริเวณเดียวกันได้ประกอบกิจการที่ละเมิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็ต้องรออีกหลายเดือนจึงจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
“โรงงานกลุ่มนี้มีทั้งโรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และมีทั้งที่ผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาตอะไรเลย รวมถึงมีบ่อที่ถูกขุดเพื่อใช้ในการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่แปลงติดกันขึ้นมาเฉยๆเลยด้วย ถ้าเราดูจากมุมสูงเราจะเห็นว่าทั้งส่วนที่มีใบอนุญาต ไม่มีใบอนุญาต ส่วนที่สร้างใหม่ ส่วนที่บ่อทิ้งกาก มันเหมือนเป็นโรงงานเดียวกัน แม้เขาจะสร้างรั้วกั้นไว้ให้ดูเหมือนเป็นคนละแห่งก็ตาม”
“หรือถ้าจะดูเฉพาะในพื้นที่โรงงานบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล เราก็จะพบว่า มันถูกกฎหมายเฉพาะในทางเอกสารเท่านั้น เพราะกรมโรงงานฯ ตรวจสอบกระบวนการหรือวิธีการทำงานในโรงงานแวว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายเลย เช่น ใช้สารเคมีบางตัวที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แถมในขั้นตอนการขนส่งวัตถุดิบก็มีรูปแบบการใช้รถนำเพื่อคุ้มกันรถขนส่งด้วย”
สุเมธ ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า โรงงานแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด ตั้งแต่ระหว่างการตรวจสอบโรงงานมาจนถึงช่วงหลังมีคำสั่งปิดโรงงานถาวร ดังนั้น หน่วยงานของรัฐต้องตอบให้ได้ว่า จะมีหลักประกันความปลอดภัยให้ชาวบ้านได้อย่างไร และจะมีวิธีการจัดการกับโรงงานนี้อย่างเด็ดขาดได้อย่างไร