“อาจารย์นักเขียนจากคณะนิเทศฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์” บินตรงคุนหมิง เมืองหลวงมณฑลยูนนาน ร่วมงาน Jump - 2024 the Third Kunming Urban Poetry Art Festival อ่านบทกวี “งานไร้ค่า” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งนักสู้ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แวดวงวรรณกรรมกับนักเขียน นักกวีจีนและต่างชาติรวมกว่า 40 ชีวิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติณรงค์ วิสุตกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ในฐานะนักเขียนและอดีตผู้เชี่ยวชาญภาคภาษาไทย China Radio International (CRI) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมงาน Jump - 2024 the Third Kunming Urban Poetry Art Festival ว่า ก่อนหน้านี้ตนได้รับการติดต่อจากสมาคมนักเขียนคุนหมิง ผ่านทาง CRI หรือปัจจุบันคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (China Media Group หรือ CMG) ที่ต้องการนักเขียนต่างชาติไปร่วมงาน ทางคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน อีกทั้งส่วนตัวมองว่างานในครั้งนี้เป็นงานที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของกวี นักเขียน ทั้งนักเขียนชาวจีน นักเขียนเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองทัศนะคติร่วมกันเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมว่า “พลังมีอยู่จริง”
ทั้งนี้ ทางสมาคมนักเขียนคุนหมิงต้องการบทกวี 1 บท และคำกล่าวสุนทรพจน์ตามหัวข้อ Literature: "The Power of Incompetence" พลังของความไร้ความสามารถ ช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลงานได้? ตนจึงได้ส่งบทกวีที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งตรงตามหัวข้อที่ระบุไว้ ภายใต้ชื่อว่า “งานไร้ค่า” รวมทั้งคำกล่าวสุนทรพจน์ในความหมายคือว่า ความไร้ความสามารถ กับ พลัง เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกัน แต่ทั้ง 2 สิ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุก ๆ คนที่มีความมุ่งมั่นและมีความตั้งใจที่จะทำตามความฝัน หากตัวคุณเป็นคนที่ไร้ความสามารถแต่คุณมีพลังที่อยากจะทำ คุณก็สามารถที่จะทำในสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ และแน่นอนว่า การเป็นคนที่ไร้ความสามารถ ทำให้เราต้องเรียนรู้และฝึกฝนมากกว่าคนอื่นๆ หลายครั้งเกิดข้อผิดพลาด รวมถึงความผิดหวังจากความไร้ความสามารถของเรา เช่น ผลงานของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียหาย ผลงานไม่ได้รับความสนใจจากบรรณาธิการ หรือไม่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ แต่ความผิดพลาดและความผิดหวังเหล่านี้ ทั้งหมดคือ “พลัง” เป็นแรงผลักดันทำให้เราต้องศึกษา ค้นคว้า และหาหนทางของเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ต้องศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้กระบวนการเล่าเรื่องจากเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเรื่อง นั่นคือ การอ่านถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
“ผมขอยกตัวอย่างนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ มังกรหยก ผมได้เห็นการเติบโตของ “ก็วยเจ๋ง” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกลายเป็นจอมยุทธ์คุณธรรมปกป้องบ้านเมือง ตัวละครอย่างก๊วยเจ๋งมีพัฒนาการที่ชัดเจนในเรื่องของฝีมือในการต่อสู้ แต่ความซื่อสัตย์สุจริตนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ หรือแม้กระทั่งเรื่องสามก๊ก อย่าง “เล่าปี่” ที่ต้องบากหน้าไปเชิญขงเบ้งให้มาเป็นที่ปรึกษาถึงสามครั้งสามครา และกว่าเล่าปี่จะตั้งตัวได้ก็ต้องใช้เวลานานกว่าอีก 2 ก๊ก แต่เขาก็ทำได้เพราะเขาพบหนทางคือ การได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา ดังนั้น ในชีวิตคนคนหนึ่งไม่มีอะไรได้มาอย่างง่ายดาย ผลงานที่ดีและได้รับการยอมรับจากมวลชนก็เช่นเดียวกัน หรือถ้าเราอยากจะเป็นนักเขียน เราก็ต้องอ่าน เราต้องพยายามหาหนทางของเรา ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถ เราต้องฝึกฝน พัฒนาแล้วหาหนทาง แต่ถ้าเราคิดว่าไม่มีความสามารถแล้วไม่หาหนทางก็จะอยู่อย่างนั้นต่อไป เพราะฉะนั้นพลังแห่งความไร้ความสามารถคือสิ่งย้อนแย้งกันอยู่ แต่ถ้าเรารู้ว่าเราไม่มีความสามารถ แต่เรายังมีพลังที่จะทำ เราก็จะประสบความสำเร็จได้ในสักวันหนึ่ง ถ้าเราไม่หยุดที่จะทำ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาติณรงค์กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ยังกล่าวต่อว่า เมื่อเดินทางไปถึงคุนหมิงแล้ว ได้รับการต้อนรับที่ดีจากสมาคมนักเขียนคุนหมิง และจากนั้นได้พาไปที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมคุนหมิง มีการแนะนำนักเขียนชาวต่างชาติที่มาทั้งหมด 5 ประเทศ คือ ประเทศไทย อินเดีย เวียดนาม บังกลาเทศ และมาเลเซีย รวมถึงนักเขียนชาวจีนอีก 40 คน เมื่องานเริ่มต้นขึ้นก็มีการอ่านบทกวีของแต่ละประเทศ และช่วงบ่ายเริ่มการเสวนาโดยตนอยู่ในกลุ่มที่ 4 ร่วมกับนักเขียนชาวจีน ในหัวข้อปาฐกถา Literature: "The Power of Incompetence" หรือวรรณกรรมพลังแห่งความไร้ความสามารถ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์สุธารัตน์ พญาแขม อาจารย์ชาวไทยประจำมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินยูนนานที่ช่วยเป็นล่ามแปลภาษาให้ โดยอาจารย์หยางเป่าซาน นักเขียนชาวจีน ได้เสริมว่า วรรณกรรมจริงๆ แล้วไม่ได้มีพลังภายนอก แต่เกิดจากภายใน ซึ่งหมายความว่า มันเกิดมาจากภายในจิตใจของผู้คน เสมือนเป็นการเชื่อมต่อกัน หรือแม้กระทั่งเรื่องสามก๊กเป็นเรื่องที่นำมาใช้เป็นคำสอนหรือเป็นบทเรียนของตนได้จนถึงปัจจุบัน แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่พลังของวรรณกรรมทำให้คนเราเชื่อมต่อกันได้ วรรณกรรมทำให้รู้ถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นฐานของชนชาตินั้น ๆ ถือว่ามีความสำคัญต่อมนุษย์ในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ
หรือแม้กระทั่งคุณหลู่หยี่หมิง เลขาฯ สมาพันธ์วรรณกรรมและศิลปะนครคุนหมิง กล่าวเพิ่มเติมว่า วรรณกรรมจริงๆ แล้วเปรียบเสมือนเป็นไฟในการส่องนำทางให้ผู้คน เหมือนความคิดของคนเรา สื่อคือตะเกียง วรรณกรรมถือเป็นสื่ออย่างหนึ่ง เป็นแบบอย่างที่ดีได้ เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีก็ได้ เสมือนเป็นอุทาหรณ์สอนใจ อะไรที่ไม่ดีอ่านแล้วจะได้รู้ และจะได้ไม่ทำตาม ส่วนอะไรที่ดีก็ใช้เป็นแบบอย่าง
“ส่วนตัวรู้สึกดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพราะเป็นหัวข้อที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง อีกทั้งเป็นสิ่งที่ดีที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเขียนหลายๆ คนที่ต่างมุมมองกันไป ถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง และความรู้ที่ได้ในครั้งนี้จะนำมาส่งต่อให้นักศึกษาที่ตัวเองสอนอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยเฉพาะเรื่องภาษาสำหรับการสื่อสารการแสดง สอนให้นักศึกษาได้รู้วิธีคิด การตีความหมาย และการจับประเด็น เป็นต้น จากนั้นต้องพัฒนาในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์การเขียนบทละครต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาติณรงค์กล่าวทิ้งท้าย