xs
xsm
sm
md
lg

เทศกาลละครเวที 2 เรื่อง 2 รส นิเทศฯ DPU ปิดฉากอย่างสวยงาม พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงศักยภาพของการเป็น “นักแสดง” อย่างเต็มที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดฉากไปอย่างสวยงามกับเทศกาลละครเวทีสารนิพนธ์ของสาขาวิชาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ปีนี้นำเสนอละครเวที 2 เรื่อง 2 รส ทั้งแนวตลก Comedy และ แนวฆาตกรรมซ่อนเงื่อน ที่มีการตีความประเด็นทางสังคมในแง่มุมของนักศึกษาเอง ขณะที่สาขาวิชาฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ดึงศักยภาพของการเป็นนักแสดงออกมาอย่างเต็มที่โดยผ่านการฝึกฝนการทำงานเป็นทีมเวิร์ก

สำหรับละครเวที 2 เรื่อง เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย และ ลวงหลอก ของสาขาวิชาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล เป็นงานละครเวทีในโครงการเทศกาลละครเวทีสารนิพนธ์ ซึ่งอยู่ในรายวิชาการฝึกงานหรือสารนิพนธ์ โดยให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เลือกที่จะจบการศึกษาโดยเลือกที่จะปฏิบัติละครเวทีสู่สาธารณชนในด้านที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดง การกำกับการแสดง การเขียนบท การกำกับศิลป์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการแสดงละครเวทีครั้งนี้เพื่อนำเสนอผลงานที่ผ่านการสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่เลือกความสนใจในด้านที่ตนเองจะจบ มีขั้นตอนของกระบวนการในการส่งผลงานสารนิพนธ์อย่างเป็นระบบ ซึ่งก็คือการนำเสนอผลงานที่ได้มาตรฐานสู่สายตาสาธารณชน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงละครเวทีที่จบลงไปทั้ง 2 เรื่องว่า ขอชื่นชมความตั้งใจของทั้งอาจารย์และนักศึกษา ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพ สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมที่มาร่วมชมกันแน่นโรงละคร โดยละครเวทีทั้ง 2 เรื่องมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างกัน เรื่องเฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย เป็นละครซ้อนละคร เข้าถึงชีวิตจริง สะท้อนสังคมปัจจุบัน ดูแล้วทำให้รู้สึกถึงมุมมองของการใช้ชีวิต การตั้งมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเองคิดว่าดีว่าควร ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป การยอมรับมุมมองที่แตกต่างความคิดที่หลากหลายย่อมเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่กว้างกว่าเดิม ส่วนเรื่องลวงหลอก เป็นเรื่องการหลอกผีและผีหลอกคน ปะปนไปด้วยเรื่องหลอกลวง เป็นเรื่องราวที่อาจสะท้อนมุมมองในปัจจุบันที่มีแต่การหลอกลวงกันในสังคมจนบางครั้งเราก็ไม่สามารถแยกออกระหว่างความจริงกับเรื่องที่กำลังโกหก

“นักศึกษาการแสดงจะได้รับการฝึกฝนกระบวนการผลิตละครเวที ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบท การซ้อม รวมถึงการแสดงจริง รวมไปถึงการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อหลายๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งแน่นอนว่านักศึกษาเองจะต้องใช้ความมานะพยายาม อดทนและฝึกฝนอย่างหนักหน่วง การใช้ทักษะทุกด้าน ล้วนเป็นการฝึกฝนที่ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างดีเยี่ยม การพัฒนานักศึกษาในยุคนี้ต้องเน้นการลงมือปฏิบัติ เพื่อที่จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการทำงานจริง เปรียบเหมือนห้องเรียนแห่งวิชาชีพที่ทำให้นักศึกษาพร้อมสู่โลกการทำงานในอนาคต” ผศ.ศิวนารถกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุทธนา บุญอาชาทอง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่น่าสนใจเนื่องจากละคร thesis ของนักศึกษามีการพูดถึงประเด็นสังคมในแง่มุมของนักศึกษา เรื่องเฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย ซึ่งมีการตีความใหม่อย่างน่าสนใจ พูดถึงความจริงในสังคม ผ่านการเล่าเรื่องตัวละครที่จะทำละครเวที โดยประเด็นที่คนพูดถึงคือ อะไรคือความจริงของสังคม โดยพูดถึงละครเลียนแบบสังคม หรือสังคมเลียนแบบละคร ความจริงมันอยู่ตรงไหน สนุกในการล้อเลียนและวิธีที่การแสดงในการนำเสนอ ส่วนละครเวทีเรื่อง ลวงหลอก เป็นประเด็นเล่าเรื่องว่าสังคมใครหลอกใคร แล้วความจริงอยู่ที่ใด ผ่านการเล่าเรื่อง สยองขวัญ สนุกสนานน่าติดตาม

ผศ.ยุทธนากล่าวต่อว่า กว่าจะมาเป็นละครสองเรื่อง นักศึกษาต้องผ่านการหาข้อมูล การนำเสนอ การซ้อมละคร โดยผ่านการทำละครเวที ซึ่งถ้าทำคนเดียวนักศึกษาอาจทำไม่ไหว แต่นักศึกษามีเพื่อนและรุ่นน้องเป็นทีมงาน ซึ่งการทำงานครั้งนี้เทียบเท่าการไปฝึกงานหรือทำโปรเจกต์สหกิจศึกษากับบริษัทต่างๆ ได้เลย เพราะกว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนโดยคณะกรรมการ ซึ่งสาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัลเน้นตามความถนัดของผู้เรียนที่อยากทำอะไร และเป็นสิ่งที่พัฒนาประกอบอาชีพได้จริง พร้อมกับได้เรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่ทันสมัย


อาจารย์พลฤทธิ์ สมุทรกลิน อาจารย์ประจำสาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ดูแลการฝึกซ้อมละคร ได้กล่าวว่า นักศึกษาสาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัลจากที่ได้ศึกษาในรายวิชาต่างๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในชั้นปี 1 ปี 2 และปี 3 จนมาถึงขั้นตอนก่อนจะจบการศึกษาในปี 4 นำมาสู่การนำเสนอผลงานละครเวทีสารนิพนธ์ เปรียบเสมือนการประมวลผลความรู้ที่ได้ศึกษามา ซึ่งการทำละครเวทีจะไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะฉะนั้นนักศึกษาจะได้เรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น การวางแผน และการจัดการ ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการทำงานละครเวทีให้ประสบความสำเร็จ

“ละครเวทีทั้งสองเรื่อง เป็นละครที่มีความท้าทายในการที่จะนำเสนอสู่สายตาผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉาก๊วยถ้วยสุดท้ายในแนว comedy ที่ท้าทายความสามารถของผู้กำกับที่จะทำอย่างไรให้ดึงศักยภาพของนักแสดงให้แสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ และต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกไปกับเรื่องได้ สำหรับละครเรื่องลวงหลอก มีความท้าทายและน่าสนใจในแง่ของการแสดงที่ต้องมีความสมจริง จากเหตุการณ์ในเรื่องที่มีการฆาตกรรม และบรรยากาศของเรื่องที่อยู่ในเกาะร้าง ที่มีความลึกลับและสยองขวัญแฝงอยู่” อาจารย์พลฤทธิ์กล่าว

นางสาวดวงฤทัย เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา นักแสดงละครเวทีเรื่องลวงหลอก ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อสารการแสดงดิจิทัล กล่าวว่า ตอนเรียนปี 3 สาขาสื่อสารการแสดงจะมีวิชาเขียนบท ซึ่งรุ่นพี่การแสดงเป็นคนเขียนบทเรื่องนี้ไว้ ด้วยความที่ตนอยากทำละครแนวนี้ เลยลองขอบทจากรุ่นพี่มาอ่านรู้สึกว่าตัวละครมีนิสัยเดียวกับตัวเอง แล้วเรื่องนี้ต้องหาคนที่แสดงเป็นตัวเองจริงๆ มาเล่นทำให้น่าสนใจ เพราะเป็นการเล่นเป็นตัวเองได้โชว์ศักยภาพออกมาให้คนอื่นเห็น

“ละครเวทีเวลาทำเปรียบเสมือนครอบครัวทุกอย่างต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมันถึงจะเป็นทีมเวิร์ก ส่วนตัวชอบละครเวทีอยู่แล้ว มีความท้าทาย ต้องหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีตัดต่อไม่มีเอาใหม่ต้องเล่นต่อไปให้ได้อย่าให้คนดูเกิดความสงสัย หลังจากการแสดงจบ รู้สึกภูมิใจ ดีใจ ได้ยินเสียงปรบมือ คุ้มแล้วกับสิ่งที่ทำทุ่มเท ยอมรับว่าเหนื่อยแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด” นางสาวดวงฤทัยกล่าว


นาวสาวชนิดาภา สุนนท์ นักแสดงเรื่องเฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาสื่อสารการแสดงดิจิทัล กล่าวว่า “ในสาขาการแสดงพี่ปี 3 จะได้ทำละครกำกับของตัวเองแล้วพี่จะเลือกน้องปี 1-2 ให้ไปแสดง ซึ่งตนคือหนึ่งในนั้น เป็นน้องปี 2 ที่พี่ๆ เห็นแววและตรงตามคาแรกเตอร์ที่ต้องการ พี่จึงเลือกให้ไปเล่นละครด้วยความที่เรามีความพยายามทำให้เข้าตาและได้เล่นละครหลายเรื่อง ได้พัฒนาตัวเองตลอด ความรู้สึกที่ได้ร่วมงานนี้คือ รู้สึกดีใจอย่างมากที่พี่เขาเห็นศักยภาพและไว้ใจ มีกดดันบ้างเพราะมันคืองานใหญ่ ละครยาวเป็นชั่วโมง อีกทั้งเป็นคอมเมดีซึ่งเล่นยาก จะเล่นยังไงให้คนขำเป็นเรื่องที่ยากมาก”

นาวสาวชนิดาภากล่าวต่อว่า “การเรียนที่สาขาสื่อสารการแสดงดิจิทัลทำให้ได้เรียนรู้การเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ แบบสร้างสรรค์และสร้างตัวตน อาจารย์จะสอนให้เราได้เป็นตัวเอง เริ่มจากการแต่งตัวก่อนเลยที่ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษา ให้เราครีเอตลุคใหม่ๆ ได้ทุกวัน ได้เป็นตัวเองในลุคของตัวเอง อาจารย์การแสดงจะมีโจทย์ให้เราได้ดึงความเป็นตัวเอง รู้จักตัวเอง ทั้งร่างกายและนิสัย เข้าใจตัวเอง การสร้างตัวละครจากตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเราจะมีเอกลักษณ์ โดดเด่นในแบบของตัวเอง และค้นพบจริงๆ ว่าชอบอะไร มีสไตล์แบบไหน สามารถสร้างภาพจำให้คนอื่นได้ เหมือนตัวเราคือแบรนด์”

นายกิตติศักดิ์ บุญสาร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาสื่อสารการแสดงดิจิทัล กล่าวว่า “หลังจากที่ผมได้ชมละครเวทีทั้ง 2 เรื่องจบไป รู้สึกว่าละครเวทีทั้ง 2 เรื่องมีความโดดเด่นและน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงแสง สี เสียง ที่ใช้ในฉาก เนื้อเรื่องแฝงไปด้วยข้อคิดและเกร็ดความรู้ที่ทำให้เราคิดตามอยู่ตลอด มีความซับซ้อนของตัวละคร ถ้าพูดในมุมมองของตัวละคร อีกทั้งนักแสดงทุกคนเล่นออกมาได้สมบทบาท น้ำเสียงฉะฉาน พูดเสียงดังฟังชัด ทำให้เราคล้อยตามไปกับการชมละครเวที ประทับใจ รู้สึกถึงความตั้งใจของทุกคน ทุกอย่างดูลงตัวกลมกล่อมมาก”

“ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ฝึกทักษะในด้านต่างๆ รวมไปถึงได้ความรู้ประสบการณ์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ทางสาขาจัดขึ้น ซึ่งเราสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดกับการทำงานและสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไปได้อย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุด” นายกิตติศักดิ์กล่าว

นางสาวยาดาวดี ปิระนันท์ นักศึกษาสาขาวิชาสื่อสารการแสดงดิจิทัล ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า “สิ่งที่ประทับใจและสะดุดตาในละครเฉาก๊วยถ้วยสุดท้ายคือ ชุดของแต่ละตัวละคร เพราะได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมเห็นเป็นลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ตัวละครนุ่น มีสีเสื้อผ้า ทรงผม ไปทางเรียบง่าย แต่ยังสื่อถึงความฝันที่เธอต้องการเป็นนักเขียนบทในเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งตัวละครยังมีสีเสื้อผ้าไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ขัดตา ทั้งยังส่งเสริมบุคลิกภาพของตัวละครด้วย ซึ่งรุ่นพี่สามารถแสดงตัวละครออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก การได้สัมผัสบรรยากาศอันน่ารักของละครเวที จึงนับเป็นความประทับใจและยอดเยี่ยมอย่างมาก”

“ตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามาเรียนที่สาขาการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จนใกล้จบปีหนึ่งเป็นการตัดสินใจที่ดีมากที่ได้เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และหากถามว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นพิเศษในสาขาการแสดงดิจิทัลคงคิดว่าความสัมพันธ์ของการทำงานกลุ่ม เนื่องจากต้องสื่อสารภายในกลุ่มให้รู้เรื่อง เพราะส่วนมากจะมีการทำงานเป็นกลุ่ม รวมถึงการทำงานของสายอาชีพวงการการแสดงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จำเป็นต้องมีการสื่อสารและทำงานเป็นทีมที่ดี ซึ่งที่นี่เน้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ” นาสาวยาดาวดีกล่าว

ทั้งนี้ การเรียนการสอนที่หลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล DPU นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ตรงจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการทำงานวิชาชีพนักแสดง จะได้เรียนรู้ทุกกระบวนการของงานด้านการแสดง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกวงการ และทุกแพลตฟอร์ม ตามภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยในระหว่างเรียน นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติผลิตผลงานการแสดงตามโจทย์จากผู้ประกอบการจริง จากหลากหลายธุรกิจ ที่มี MOU กับคณะนิเทศฯ โดยได้แผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนและได้รับค่าตอบแทนจริงจากผู้ประกอบการด้วย ทำให้นักศึกษามีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น Beyond Content Creator รู้จักการนำศาสตร์ด้านการแสดงมาใช้ในการสื่อสารหลากหลายรูปแบบในสื่อยุคดิจิทัล


















กำลังโหลดความคิดเห็น