xs
xsm
sm
md
lg

จงก้าวให้เหมือนยักษ์ ทำให้เร็ว ก้าวให้ยาว “ภาวะผู้นำในการสร้างความสำเร็จ” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้เกียรติกล่าวบรรยายการสัมมนาวิชาการ หัวข้อ "ภาวะผู้นำในการสร้างความสำเร็จ" แก่นักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ณ อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพื่อจุดประกายความพร้อม ระเบิดศักยภาพดึงพลังงานในตัวนักศึกษาให้ลุกมาขับเคลื่อนชีวิตและเศรษฐกิจสังคมประเทศไทยให้ไปสู่ “ความสำเร็จ”

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาของการทำงานเป็นรัฐมนตรีกระทรวง อว. งานของ อว.มีความสำเร็จเป็นส่วนมาก เรามีการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปอุดมศึกษามากที่สุดในอาเซียน การจะทำอะไรเราต้องคิดภาพใหญ่ เช่น อว.จะเป็นกระทรวงแห่งการปฏิบัติ การพัฒนา ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การวิจัย เราวางไว้ว่าในปี 2580 ไทยจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ และ อว.ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะต้องเปลี่ยน Mindset ของการทำงานให้เป็นแบบใหม่ อย่าทำอะไรแบบทำไปเรื่อยๆ ต้องปักธงทำแบบเป็นรูปธรรม ตอนนี้การทำงานของเราจะต้องยื่นมือเข้าไปหาคนอื่น อย่าทำอะไรแบบเริ่มนับ 1 ใหม่เสมอ จะไม่ทันคนอื่น อย่าเริ่มทำอะไรจากงบประมาณ ต้องเริ่มจากที่เราเห็นว่ามันดี และจะสามารถทำให้สำเร็จได้ 

นอกจากนั้น ต้องทำให้เร็ว ก้าวให้ยาว เราจึงจะทันคนอื่น ทางกระทรวงได้มีโครงการสำคัญออกมามากมาย เช่น 1. โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T เปิดรับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่เข้าทำงานจนเศรษฐกิจฐานรากฟื้น เกิดการสร้างงานสร้างรายได้หมุนเวียนยกระดับเศรษฐกิจและสังคมกว่า 5 เท่าหรือกว่า 50,000 ล้านบาท 2. โครงการ Higher Education Sandbox มิติใหม่การจัดทำหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา เรียน 3 ปี ทำงานทันทีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนอย่างมีศักยภาพแบบเร่งด่วน 3. โครงการ Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE กลไกการจัดการเรียนการสอนที่สถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสถาบันอุดมศึกษาควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง ช่วยพัฒนาสมรรถนะทักษะตรงความต้องการของตลาดงานและพร้อมสู่โลกของการทำงานจริง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติผู้นำที่ดีที่ประสบความสำเร็จที่ทุกคน และเยาวชนคนรุ่นใหม่พึงนำมาปรับใช้


นอกจากนี้ ดร.เอนกเปิดเผยถึง “ภาวะผู้นำในการสร้างความสำเร็จ” และทักษะภาวะผู้นำ หรือ “LEADERSHIP” ของผู้นำองค์กร ว่าต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติทั้งเชิงความคิดและพฤติกรรม 9 ข้อ ได้แก่ 1. เริ่มแรกคิดต้องมองภาพใหญ่ 2. ไม่ดูแคลนตัวเองและคนอื่น ไม่พูดเกินจริงในเรื่องที่ประสงค์ลงมือทำ 3. ตั้งเป้าในเรื่องที่ทำได้และสำเร็จเร็วใน 14 วันหรือ 2 เดือนยิ่งดี 4. ชอบอ่าน เพราะหนังสือคือปราชญ์ชั้นยอดในการสร้างไอเดียหรือสรุปสิ่งที่ทำอยู่นั้นไปต่อได้หรือไม่ 5. ทำงานด้วย Passion เสมอๆ จะช่วยบรรลุผลและทำแบบไม่มีวันเหนื่อย 6. มองปัญหาอย่างเข้าใจพร้อมพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส 7. ถ่อมตน 8. ใจแข็งมุ่งมั่น 9. กำหนดยุทธศาสตร์ทางลัดทุกครั้งที่ลงมือปฏิบัติ

“สิ่งแรกที่ผมทำเลยคือการคิดภาพใหญ่ให้กระทรวง ว่ากระทรวง อว.ต้องเป็นกระทรวงแห่งการปฏิบัติ ไม่ใช่กระทรวงที่สอนและวิจัยเท่านั้น โดยทำอย่างกระชับ เพราะถ้ายาวเกินไปมันก็ไม่เป็นภาวะผู้นำ เราเน้นว่าเราจะเป็นหน่วยปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นหน่วยที่ปฏิบัติเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวครีเอทีฟ จากนั้นก็คิดต่อว่าภายในปี 2580 ต้องทำอะไร ซึ่งกำหนดเป็นหมุดหมายของแผนยุทธศาสตร์ของชาติที่ประเทศไทยทั้งหมดต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ท้าทายมาก เพราะเราพัฒนามาเรื่อยๆ 60 ปี เราไม่เคยประกาศว่าปีไหนสำเร็จ” ดร.เอนกกล่าว

“ปี 2563 ผมก็ประกาศกระทรวงต้องทำให้ได้ตามกำหนดหรือก่อนหน้านั้นได้ก็ดี ฉะนั้นจึงบอกให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อธิการบดี ผู้บริหารของสำนักงานวิจัยว่าเราอย่าทำงานไปเรื่อยๆ เราอย่าทำงานเพียงแต่เพื่อจะเติมความพร้อมหรือเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ว่าต้องจิตหนึ่งใจเดียวว่าเราจะทำอย่างไรให้ อว.เป็นส่วนหนึ่งของการไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตอนนั้นก็ออกมาบอกว่าเราจะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์ดูแคลน ไม่เชื่อ”

ดร.เอนกบอกต่อว่า วิธีการก้าวเดินซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยสำเร็จได้ คือ ‘Giant Feet’ ก้าวให้เหมือนยักษ์ เพราะเรามีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของชาติอาเซียน เป็นรองเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น

“เราไม่ไช่ไปดวงจันทร์เพื่อที่จะเห่อตามกระแส แต่ถ้าเราไปได้เราจะเปลี่ยน Mindset ว่าคนไทยเนี่ยเก่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมายมหาศาล ถ้าส่วนย่อยทำดีส่วนรวมก็จะดีไปเอง 2 ปีกว่าที่ทำมาพบว่ามันจะต้องมีการนำที่ต้อง Top Down ด้วย ปล่อยให้ Bottom Up อย่างเดียวก็จะกลายเป็นไม้ล้มลุกไปหมด ต้องมี Leadership ที่มี Passion ความหลงใหลรักทุ่มเท ต้องคิดไว 2 อาทิตย์ 2 เดือนสำเร็จยิ่งดีเพราะผมเป็นนักการเมืองไม่รู้ว่าจะไม่มีงานทำเมื่อไหร่”

“ที่สำคัญต้องเห็นโอกาส จุดแบ่งระหว่างเป็นผู้นำกับผู้ตาม ผู้ตามมักเห็นอะไรเป็นปัญหาก็พาหดหู่ ผู้นำต้องเผยอตัวขึ้นมากว่าความเป็นจริงที่ผู้ใต้บังคับบัญชากำลังคุยกันอยู่แล้วพาเขาเห็นโอกาส อย่างเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ไม่ทันได้คิดที่จะทำอะไรก็โดนโจมตี ถ้าคิดแบบคนธรรมดาทั่วไปก็ไม่คิดเปลี่ยนแปลง อย่างช่วงโควิด-19 กระทรวง อว.ก็ไปช่วยกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คนไทยเห็นว่าโรงพยาบาลที่ดีที่สุดคือ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของเรา จึงเกิดผลงานมากมายอย่างรวดเร็ว เช่น การผลิตหน้ากาก N95 การสร้างห้องความดันลบ กระทั่งผลิตวัคซีนโควิด-19 และรักษาป้องกันโรคอื่นๆ ที่เคยสั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกเหนือการปฏิรูปแก้ไขอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุดมศึกษาในปีที่แล้ว 2564 สร้างมูลค่าแก่สังคมและเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท”

“ทำได้เราก็ไม่เอาหน้า เพราะได้สิ่งตอบแทนคือ ความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องไปนับหนึ่งใหม่เสมอไป ถ้าเราเริ่มต้นทำอะไรเองก็ดีน่าสรรเสริญ แต่ว่าช้าที่เราจะนับถึง 5 แต่เขานับ 5 เราไปร่วมกับเขาเราอาจจะนับ 4 นี่ก็เป็นผลที่เกิดจากการที่เรามีภาวะผู้นำ สำคัญมากการนำไม่ใช่การเป็นนาย คุมคนกับงบประมาณ ประเทศไทยต้องการคนที่ทำงานสำเร็จ หากเราทำสำเร็จ งบประมาณจะไหลมาเอง”

“เราต้องกล้าฉีก เราอาจจะต้องฝึกให้ใจแข็งบ้าง ต้องมีทางลัดทางเลี่ยงทางเบี่ยง การจะเอาชนะใช้แต่วิชาการไม่พอต้องใช้ยุทธศาสตร์ด้วย หลักการที่ถูกต้อง คือ ถ้าเราไม่พร้อม เราจะต้องมียุทธวิธีเอาชนะคนที่พร้อมได้ ต้องคิดว่า ขอบคุณที่เขาไม่ทำ ผมจะได้ทำ เดี๋ยวก็สำเร็จให้คิดแบบนี้ อย่าคิดว่า ไม่พร้อมจะไปชนะคนพร้อมได้อย่างไร พร้อมน้อยจะไปชนะพร้อมมากได้อย่างไร” ดร.เอนกกล่าวทิ้งท้าย ในยุคปัจจุบันที่ชัยชนะมาจากคนที่เร็วกว่า ไม่ใช่พร้อมกว่า และปลาใหญ่จำนวนมากถูกปลาเล็กที่เร็วกว่ากลืนกินเป็นอาหาร








กำลังโหลดความคิดเห็น