xs
xsm
sm
md
lg

Silpakam International Arts & Design Week #7 @DPU สร้างสรรค์งานศิลป์ผ่านความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครบรอบ 55 ปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภาคีเครือข่ายร่วมแรงร่วมใจรณรงค์สร้างสังคมแห่ง “ความยั่งยืน” ผ่านงานศิลป์มาสคอตรูปเต่าจากเยื่อกระดาษของฉลากขวดที่ใช้แล้ว กระตุ้นความยั่งยืนและตระหนักรู้การใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติที่จะสร้างโลกให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

จากกระแสฝุ่นมลพิษในอากาศต่อด้วยปัญหาคลื่นความร้อน ทุกภาคส่วนทุกสายวิชาชีพต่างร่วมกันคิดสร้างสรรค์ยื่นมือลงมาช่วยกันทำด้านความยั่งยืนเพื่อทำให้โลกของเรากลับมาน่าอยู่ขึ้น จะมากหรือน้อยก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร ในสายงานด้านอาร์ต อย่างคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รวบรวมภาคีพันธมิตรต่างๆ ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนผ่านการจัดกิจกรรม Silpakam International Arts & Design Week #7 @DPU ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559

Silpakam International Arts & Design Week ที่จัดขึ้นล่าสุดในวันที่ 20-21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับกิจกรรมเป็นกิจกรรมในวาระพิเศษเนื่องด้วยโอกาสครบรอบ 55 ปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำประเทศไทยที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทางคณะฯ จึงนำเอา “เต่า” ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทุกคนคุ้นเคยในมหาวิทยาลัย และสื่อถึงความยั่งยืน และความอดทนไม่ยอมแพ้แม้จะช้าแต่ไม่หยุดเดิน โดยนำเอา เต่าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์เพื่อทำมาสคอตปลุกจิตสำนึกด้านความยั่งยืน

“ครั้งนี้จับมือกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สโมสรฟุตบอลโปลิศ เทโร ร่วมกับทางอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยต่างๆในเครือข่าย FVT ฯลฯ รวมถึงศิลปินอิสระ นำเศษกระดาษที่เหลือใช้ในกระบวนการผลิตของไทยเบฟที่มีปริมาณมากในแต่ละวัน เปลี่ยนนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ ก่อให้เกิดการฉุกคิดถึงที่มาของวัสดุ แม้ต่อไปจะไม่ได้ทำกับวัสดุนี้ แต่ทุกคนที่ร่วมทำงานศิลป์ชิ้นนี้ก็จะได้มีไอเดียมองเห็นสิ่งที่มีอยู่เดิมมาใช้แก้ปัญหา มาหาทางออกหรือต่อยอด จนได้วัสดุทดแทนที่ไม่ต้องสร้างใหม่ เราทำได้ถ้าทุกคนช่วยกันลงมือทำ” อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยที่มาของโครงการสร้างสรรค์นี้
“เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราไม่ได้นึกว่าจะขยายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาใหญ่ได้ในวันนี้ ปัญหาขยะก็เช่นกัน ขยะอาจไม่ได้เกิดจากแค่ปลายทางของการใช้งานผลิตภัณฑ์ แต่ในทุกๆ กระบวนการอาจมีการสร้างขยะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์จึงได้ปลุกพลังสร้างสรรค์และช่วยเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก ให้ทุกคนเห็นโอกาสในการที่จะช่วยโลก ฉุกคิดเรื่องของความยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต อย่างน้อยที่สุดกิจกรรมนี้จะสอดแทรกให้เด็กนักศึกษาได้เรียนรู้และเห็นภาพถึงการหาวัสดุรีไซเคิลมาประยุกต์ใช้ และร่วมด้วยช่วยกันทำให้สังคมยั่งยืนต่อไปในอนาคต” อาจารย์กมลศิริย้ำ

เพราะแม้เรามีหน้าที่แตกต่างแต่สิ่งที่เหมือนกันคือเราก็อยู่กันบนโลกใบนี้ “ธัญญะ วงศ์นาค” อดีตผู้ประกาศข่าวกีฬา ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลโปลิศ เทโร ก็นำนักฟุตบอลเยาวชนที่มีชื่อเสียงมาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ผนึกกำลังเข้าร่วมกิจกรรม

“เพราะการให้ความรู้ด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวพวกเราทุกคน แม้เรื่องขยะอาจจะมองว่าไกลตัว ไม่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง แต่ถ้าทุกคนช่วยร่วมมือกันทำ ทุกอย่าง ทุกปัญหามันก็จะดีขึ้น อย่างเราหยุดการแข่งขันกีฬากันไป 2-3 ปีเพราะโรคระบาด เราก็ยังคงทำเรื่องของขยะ เรามีการแยกขยะ และมีเรื่องการใช้วัสดุรีไซเคิล อย่างเรื่องเสื้อกิจกรรมงานอีเวนต์วิ่งของเราก็จัดทำก็ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิล ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกได้ มันก็ต้องร่วมทำไปด้วยกัน โลกมันก็จะน่าอยู่มากขึ้น” คุณธัญญะกล่าว


2566 ถึงเวลารันเวย์ (แฟชั่น) รักษ์โลก

นอกจากลวดลายงานเพนต์บนมาสคอตที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับประสานในงานนี้คือ “แฟชั่น” โดย ดร.ธนิกา หุตะกมล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวเเทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ในด้านการออกแบบแฟชั่น หรือ FVT ก็จัดให้มีกิจกรรมแฟชั่นโชว์ธีม “Fashion V together” ของมหาวิทยาลัยเครือข่าย แสดงสื่อนัยความร่วมมือร่วมใจสร้างงานที่เกี่ยวกับการรักษ์โลกอีกทางหนึ่ง

“พวกเราเครือข่ายแฟชั่นก็ร่วมกันทุกปี มีการจัดประกวด จัดเดินแฟชั่น แต่ 2 ปีที่ผ่านมามีแค่การประกวดอย่างเดียว ซึ่งเรามองว่าหลังช่วงโควิดที่ผ่านมาเรามีขยะเยอะมาก โดยเฉพาะพวกหน้ากากอนามัย บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งสร้างมลพิษทั้งทางดินและอากาศ โครงการในปีนี้ตอบโจทย์ในการให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราก็อยากให้เล็งเห็นและช่วยเหลือกัน เพราะถ้าช่วยกันทำให้ขยะลดลง มันจะทำให้เราทุกคนมีสุขภาพที่ดี พอสุขภาพเราดี ไม่เจ็บป่วย จิตใจเราก็ดี แต่ถ้าเกิดมลพิษเยอะ ต้องเผาอะไรแยะ ก็จะเกิดฝุ่น PM 2.5 ก็ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลต่อการปนเปื้อนต่ออาหาร ทำให้ชีวิตคนเรามีโรคมากขึ้น ถ้าเกิดพวกเราใส่ใจรักษ์โลกทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็จะทำให้ชีวิตเรามีความยั่งยืนมากขึ้น มันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน” ดร.ธนิกากล่าว

และอีกหนึ่งก้าวสำคัญในงานนี้คือการบรรยายเรื่อง “บรรจุภัณฑ์เอื้ออาทรปวงชน” ของ ผศ.อรสา จิรภิญโญ ผู้บุกเบิกและสร้างสรรค์วงการการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในไทย ซึ่งเราก็ถือว่าบรรจุภัณฑ์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยในเรื่องของการลดวัสดุเหลือใช้ การจัดการขยะและความยั่งยืนได้ ไฮไลต์สำคัญเป็นเวทีการพูดคุยแนะนำให้ตระหนักถึงความสำคัญการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น โดยกล่าวถึงทิศทางบรรจุภัณฑ์โลก อัปเดตพฤติกรรมผู้บริโภคปี 2566 ซึ่งพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการแบรนด์ชูเรื่องความยั่งยืน ผู้บริโภคจะไม่เลือกซื้อสินค้าเพียงแค่เพราะราคาอย่างเดียวเป็นที่ตั้งแล้ว...แต่ยังคำนึงถึงความสำคัญการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

สุดท้าย ผศ.วราวุฒิ โตอุรวงศ์ ศิลปินและรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ร่วมงานในวันนี้ช่วยกล่าวสรุปว่า “ถ้าเราทุกคนเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ อนาคตแห่งความสำเร็จก็จะเดินทางมาเร็วขึ้น งานวันนี้นอกเหนือการได้ร่วมกันสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคต่างๆ แง่มุมทางศิลปะแล้ว แก่นที่สำคัญเลยคือ ศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่ศิลปะทำได้มากกว่านั้น ศิลปะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่าง นักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมหลายๆ คนบอกว่าให้ข้อมูลแก่สังคมไปเยอะมาก แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ ทำให้เกิดการรับรู้น้อย ทว่าหากใช้ศิลปะที่มันมีความน่าสนใจ มันจะทำให้ซึมลึกไปสู่คนวงกว้างได้ดีขึ้น”

“ผมใช้การหยอดสีลงบนตัวมาสคอตเต่าให้ไหลเหมือนเหงื่อเราบนตัวมาสคอต สร้างความน่าสนใจเพื่อบ่งบอกภาวะโลกร้อนจากที่โลกเราร้อนมากขึ้นกว่าตอนที่เราเป็นเด็กมาก ซึ่งศิลปินแต่ละคนก็มีรูปแบบที่จะนำเสนอแตกต่างกันจากประสบการณ์ วันนี้เต่ามาสคอตจำนวน 55 ตัว ก็จะเป็นเหมือนที่งานศิลปะทุกแขนงมาช่วยเป็น Soft Power ที่จะทำให้พวกเราตระหนักและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาประเด็นสังคมต่างๆ ได้ดีและสร้างอนาคตที่ดีอย่างยั่งยืนผ่านงานศิลป์ที่มีความงามอันเปรียบเสมือนห้องรับแขกแรก ที่จะนำไปสู่การค้นหาสาระแก่นสารบางอย่างนอกจากความสุขชั้นต้นในการเสพงานศิลปะไปสู่การแก้ไขที่ลึกลงไป” ผศ.วราวุฒิกล่าวทิ้งท้าย










































กำลังโหลดความคิดเห็น