xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์แล้ว! พรรคประชาชนคือพรรคของ “ธนาธร” “พิธา-ไหม-ไอติม-วิโรจน์” แค่หางเครื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดปูมแกนนำใหม่พรรคส้ม “เท้ง ณัฐพงษ์” หัวหน้าพรรค “ติ่ง ศรายุทธ” เลขาธิการพรรค ล้วนสายตรงไทยซัมมิท แม้บุคลากรคนอื่นมีคุณสมบัติเหมาะสมแต่ไม่มีโอกาส พิสูจน์ชัดพรรคประชาชนคือพรรคของ “ธนาธร” ที่ยังเป็นคนบงการทิศทาง โดยมี “เท้ง-ติ่ง” ช่วยดูแลพรรค รอเจ้าของพรรคตัวจริงพ้นโทษแบนในปี 2573 ส่วน “พิธา-ไหม-ไอติม-วิโรจน์” ก็เป็นแค่หางเครื่อง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวนิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลจากสาเหตุที่ใช้นโยบายแก้กฎหมายอาญา ม.112 หาเสียงเลือกตั้งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ และหลังจากนั้น สส.ของอดีตพรรคก้าวไกลได้ย้ายเข้าไปอยู่พรรคใหม่ชื่อ “พรรคประชาชน” พร้อมเลือกกรรมการบริหารพรรค 5 คน ประกอบด้วยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชน นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เป็นเลขาธิการพรรค นายณัฐวุฒิ บัวประทุม เป็นนายทะเบียนพรรค น.ส.ชุติมา คชพันธ์ เป็นเหรัญญิกพรรค และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค

 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ซึ่งในบรรดากรรมการบริหารพรรค 5 คน มี 2 คนที่เป็นตัวละครสำคัญที่สุด คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค และ นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค


ทั้งนี้ เดิมที ตัวเต็งหัวหน้าพรรคของพรรคใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบก็ คือ “ไหม” น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่ปรากฏชื่อ “เท้ง ณัฐพงษ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะอดีตรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ถูกหยิบขึ้นมาตีคู่ประกบ จึงมีการนัดประชุมด่วนของทีมแกนนำยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกล เมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 สิงหาคม 2567 หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล แต่ในที่สุด ส.ส.อดีตพรรคก้าวไกลก็โหวตเลือกให้ “เท้ง ณัฐพงษ์” เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก่อนที่จะเปิดตัวพรรคประชาชน พร้อม ส.ส.143 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567

นายศรายุทธิ์ ใจหลัก
โดยในการเปิดตัวพรรคประชาชน มีการเปิดตัวโลโก้ด้วย พร้อมคำขวัญ ว่า“โดยประชาชน เพื่อประชาชน สร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

แต่โลโก้พรรคประชาชนซึ่งล้อมาจากพรรคก้าวไกลกับพรรคอนาคตใหม่ก็มีคนจับได้ว่าเป็นโลโก้ที่มีการไปลอกเลียนมาจากเครื่องดื่มชูกำลังของญี่ปุ่นหรือเปล่า ?


ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อภาษาอังกฤษของ“พรรคประชาชน” ที่ใช้ว่า People’s Partyก็ดันไปเหมือนกับ ชื่อภาษาอังกฤษของ คณะราษฎร ที่ทำการล้มล้างการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 อีก


เดินหน้าแก้ ม.112 ต่อ อ้างศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม

นอกจากนี้ ในวันเปิดตัวพรรคประชาชน ระหว่างการตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังการแถลงข่าวเปิดตัวพรรค “เท้ง ณัฐพงษ์” หัวหน้าพรรคประชาชน ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า จะไม่ลดเพดานการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ยืนยันว่าจะเสนอแก้ไขเพื่อปรับปรุงกฎหมายนี้ ไม่ให้มีปัญหาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการกลั่นแกล้งพรรคฝ่ายตรงข้ามทั้งยังอ้างอีกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งห้ามให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ก็ระบุด้วยว่า ทางพรรคก็ต้องไม่ประมาทต้องรอบคอบ และกลับมาศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลด้วย แต่ก็ต้องผลักดันเดินหน้าแก้ไขกฎหมายต่อไป

เมื่อลองต่อจิ๊กซอว์ เชื่อมเรื่องโลโก้พรรค คำขวัญพรรค ชื่อพรรคภาษาไทย ชื่อพรรคภาษาอังกฤษ รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคประชาชน เรื่องการไม่ลดเพดานในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยตรง ก็จะเห็นได้ว่าพรรคประชาชนไม่ได้เรียนรู้อะไร จากบทเรียนที่ผ่านมา กับสิ่งที่เกิดขึ้น กับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลเลย


หรืออาจจะเรียกได้ว่าพรรคการเมืองสีส้มทั้ง 3 พรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยการชักใยของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวกนั้นตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการล้มล้างสถาบันเท่านั้น ใช่ไม่ใช่ !?

“เท้ง ณัฐพงษ์” หุ่นเชิด “ธนาธร”?

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน มีชื่อเล่น “เท้ง” เกิดวันที่ 18 พฤษภาคม 2530 ปัจจุบันอายุ 37 ปี เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของ นายสุชาติ เรืองปัญญาวุฒิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชนันธร ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บ้านจัดสรรต่างๆ และประธานกรรมการ บริษัท เรืองปัญญา เคหะการ จำกัด

นายณัฐพงษ์ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้บริหาร absolute.co.th ผู้ให้บริการคลาวด์ โซลูชัน ก่อนเข้ามาทำงานทางการเมือง

ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อ ปี 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 28 (เขตบางแค) สังกัดอดีตพรรคอนาคตใหม่และย้ายสังกัดไปพรรคก้าวไกล

ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา ปี 2566 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 13 ของอดีตพรรคก้าวไกล

ในรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งในปี 2566 พบว่า “เท้ง ณัฐพงษ์” และคู่สมรส คือ “น.ส.ณัฐพร จันทร์อินทร์” มีทรัพย์สินรวม 403,895,291.94 บาท หนี้สินรวม 11,867,932.1 บาท


“เท้ง ณัฐพงษ์” นอกจากจะหน้าตา ท่าทาง ทรงผม การแต่งกาย จะคล้ายกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นโคลนนิงกันแล้ว “เท้ง” ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าของพรรคประชาชนตัวจริง โดยเมื่อครั้งตั้งพรรคก้าวไกล ตึกที่ใช้เป็นที่ทำการ พรรคย่านบางแค กทม. ก็เป็นตึกของนายณัฐพงษ์ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อาคารอนาคตใหม่ ซอยรามคำแหง 42

“ติ่ง ศรายุทธิ์” สายตรงไทยซัมมิท

ส่วนเลขาธิการพรรคประชาชน คือนายศรายุทธิ์ ใจหลัก นั้นมีชื่อเล่นว่า“ติ่ง” เป็นคนข้างกายของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และมีความสนิทสนม กับ กลุ่มก๊วนที่ทำสื่อล้มเจ้าคือ นิตยสารและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันซึ่ง “เอก” ธนาธร เป็นนายทุนใหญ่ อย่าง “ปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล และ “ต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน (แซ่โค้ว) อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และอดีตผู้นำฝ่ายค้านอย่างมาก


โดย“ติ่ง”เกิดที่กรุงเทพ โตที่ จ.พังงา และต่อมาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก รร.เตรียมอุดมศึกษา พญาไท เหมือนกับ “ต๋อม และเอก”

ถามว่า เอก ธนาธร, ปุ๊ ธนาพล, ต๋อม ชัยธวัช รวมถึงติ่ง ศรายุทธิ์รู้จักและสนิทสนมกันได้อย่างไร?

คำตอบ ก็คือ จากขบวนการนักศึกษาที่ชื่อ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน โดย

ปี 2538 - “ปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล มีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ สนนท.ยุคที่มีเลขาธิการ สนนท.ชื่อ สุริยะใส กตะศิลา


ส่วน “ต๋อม ชัยธวัช” นั้น รู้จักกับ “เอก ธนาธร” ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โดยธนาธรเป็นรุ่นน้องของ “ต๋อม ชัยธวัช” หนึ่งปี เรียนโปรแกรมเดียวกันคือ แผนกเตรียมวิศวะ รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง เมื่อ “ต๋อม ชัยธวัช” ไปเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ก็ยังได้พบกันกับธนาธรในแวดวงกิจกรรมเคลื่อนไหว ก่อนจะเข้ามาทำงานกิจกรรมในสนนท.

“ต๋อม ชัยธวัช” เมื่อจบจากคณะวิศวะ จุฬาฯ แล้วก็ไม่เคยทำงานเป็นวิศวกรเลย แต่ไปทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการที่สถาบันพัฒนาการเมืองที่ตึกช้างกับ “ปุ๊ ธนาพล” โดยรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ดังนั้นในเวลาต่อมา “ปุ๊ ธนาพล กับ ต๋อม ชัยธวัช” จึงมารับทำหนังสือ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนังสือวิพากษ์วิจารณ์ และกร่อนเซาะสถาบันอย่างรุนแรงมาตลอดโดยมี “เอก ธนาธร” เป็นนายทุนหลัก

“ปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล
ในส่วนของ“ติ่ง ศรายุทธิ์ ใจหลัก” เลขาธิการพรรคประชาชนนั้นแม้จะอยู่ในกลุ่มก๊วนเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มาเกี่ยวพันในการทำหนังสือ หรือ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันแต่อย่างใด

คำถาม แล้ว“ติ่ง ศรายุทธิ์”มาสนิทกับ “เอก ธนาธร” ได้ยังไง?

คำตอบ ก็คือ ปี 2542 “เอก ธนาธร” เป็น นักศึกษาวิศวะ ธรรมศาสตร์ และอุปนายกองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (อมธ.)

ต่อมา ปี 2543 “เอก ธนาธร” ก็ดำรงตำแหน่งเป็น รองเลขาธิการ สนนท. ที่มี“ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลักเป็นเลขาธิการ โดยที่ สนนท. นี้เองที่ทำให้“ต๋อม - เอก - ติ่ง”สนิทสนม และได้ชื่อว่าเป็น“ก๊วนวิศวะ สนนท.” จากสามสถาบันคือ จุฬา ธรรมศาสตร์ และเกษตรฯ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในแวดวง สนนท. หรือ ขบวนการนักศึกษายุคนั้นต่างทราบดีว่า“ติ่ง ศรายุทธิ์” ไม่โอเคกับ “ปุ๊ ธนาพล อิ๋วสกุล” บก.ฟ้าเดียวกัน เนื่องจากความไม่ลงรอยเรื่องสถาบัน เนื่องจาก“ติ่ง ศรายุทธิ์”นั้นมาจาก ม.เกษตรศาสตร์ ไม่ได้เป็นนิสิตนักศึกษาชนชั้นอีลิทเหมือนจุฬาฯ หรือ ธรรมศาสตร์


ทำให้ ใน ช่วงปี 2544-2545 เมื่อเรียนจบปริญญาตรี“ติ่ง ศรายุทธิ์”ไม่ได้ก้าวไปทำงานด้านการเผยแพร่ความคิด และสื่อผ่านสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เช่นเดียวกับ “ปุ๊ ธนาพล” หรือ “ต๋อม ชัยธวัช” แต่ถูกส่งไปดูแลสวนป่าไม้สัก จำนวนหลายพันไร่ในเครือไทยซัมมิท ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจที่ สปป.ลาว

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา“ติ่ง ศรายุทธิ์”นั้นเป็นลูกจ้างไทยซัมมิท และขึ้นต่อ “เอก ธนาธร” ในฐานะพนักงาน

โดยระหว่างอยู่ที่ สปป.ลาว นอกจากจะมีภารกิจในการไปเฝ้าป่าไม้สัก ที่ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ไทยซัมมิท ปลูกไว้แล้ว“ติ่ง ศรายุทธิ์”ยังทำงานเชิงลึก เป็นฝ่ายจัดตั้ง โดยทำงานร่วมกับสหายคนเดือนตุลาฯ รุ่นพี่รุ่นพ่ออยู่ไม่ขาด


ในปี 2560 ในช่วงแรกที่ “เอก ธนาธร” วางแผนจะจัดตั้งพรรคการเมือง จึงส่งข้อความมาหาเพื่อนเก่า“ติ่ง ศรายุทธิ์”และ “ต๋อม ชัยธวัช” ชักชวนมาพูดคุยกันจนตกผลึกร่วมกันว่าจะยึดอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง จึงมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เริ่มจาก “เอก ธนาธร” รับเป็นหัวหน้าพรรค “ต๋อม ชัยธวัช” เป็นรองเลขาธิการ และมอบบทบาทสำคัญ ในการสร้างเครือข่ายพรรคอนาคตใหม่ ให้กับ“ติ่ง ศรายุทธิ์”ที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเครือข่าย เพื่อรวบรวมคนมาสร้างพรรคอนาคตใหม่ให้ครบ 77 จังหวัด จน“ติ่ง ศรายุทธิ์”เป็นคนแรกและคนเดียวของพรรคอนาคตใหม่ที่ลงพื้นที่ไปทุกจังหวัด


เมื่อผลการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. ถล่มทลายเกินคาดกว่า 80 คน “เอก ธนาธร” เริ่มบริหารพรรคไม่ไหว จึงขอให้“ติ่ง ศรายุทธิ์”มาช่วยดูแลหลังบ้าน รับหัวโขนเป็นผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่

เมื่อพรรคอนาคตใหม่เริ่มลงตัวแล้ว“ติ่ง ศรายุทธิ์”ก็ค่อย ๆ เฟดตัวออกจากแสง เพราะตอนนั้นตัวบุคคลของ“พรรคอนาคตใหม่”ที่ถูกสปอตไลท์ส่องมีอยู่เพียงพอแล้วไม่ว่าจะเป็นธนาธร, ปิยบุตร, ช่อ พรรณิการ์ หรือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์


ต่อมาเมื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ถูกยุบใน ปี 2563 และนายธนาธร ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีที่ธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายธนาธร จึงดันให้ นายชัยธวัช ตุลาธน หรือ ต๋อม หนึ่งใน“แก๊งวิศวะ สนนท.” คือ“ต๋อม - เอก - ติ่ง”มานั่งเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกลที่รับไม้แต่จากอนาคตใหม่ โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล

แล้วจริง ๆ ก็เป็นที่รู้กันว่า คนที่มีอำนาจในการจัดการพรรคก้าวไกลนั้นไม่ใช่นายพิธา แต่เป็นสายตรงนายธนาธรอย่าง “ต๋อม ชัยธวัช” นั่นเอง จนในบรรดาพรรคพวกในพรรคอวย นายชัยธวัช กันยกใหญ่ว่าเป็น“ขงเบ้งแห่งพรรคก้าวไกล”

ส่วน “ต๋อม ชัยธวัช” เองก็ขอให้“ติ่ง ศรายุทธิ์” กลับมาทำพรรคก้าวไกลทำงานเครือข่ายเพื่อสร้างฐานมวลชน “ติ่ง” จึงกลับมา เป็นผู้อำนวยการพรรคก้าวไกลด้วย ทั้งนี้ ท่านผู้ชมจะเห็นได้ชัดว่า ในช่วง หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งพรรคก้าวไกลคว้าคะแนนเสียงได้เข้ามาเป็นพรรคอันดับที่หนึ่ง จำนวน 151 เสียง และมีการเจรจาต่อรองกับ พรรคเพื่อไทย และจัดตั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลนั้น “ต๋อม ชัยธวัช” จะตามประกบ นายพิธา อยู่ตลอด ส่วนตอนแถลงข่าวก็นั่งอยู่แนบชิดด้านหลัง


กระทั่งในเวลาต่อมา เมื่อการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลล้มเหลว และมีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ก็มีการชูเอา นายชัยธวัชเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่แบบไม่พลิกโผแต่อย่างใด

เมื่อเวลาล่วงเลยไป ล่าสุดเมื่อมีการสั่งยุบพรรคก้าวไกลตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี จนต้องออกมาก่อตั้งพรรคประชาชนนายธนาธรเจ้าของพรรคตัวจริง ก็หนีไม่พ้นต้อง หยิบเอาคนใกล้ตัวมาเป็นผู้บริหารพรรค และเป็นคนคุมเกมในพรรคใหม่นี้อีกครั้ง โดยคราวนี้ถึงคราวของ“ติ่ง ศรายุทธิ์”

ด้วยเหตุนี้จึง กล่าวได้ว่า ผู้บริหารพรรคส้มทุกยุคทุกสมัยนั้น ต้องมีบรรดาคนที่นายธนาธรไว้วางใจที่สุดมานั่งคุมคน คุมเกม จัดการเรื่องจังหวะจะโคนให้เหมาะสม และเป็นไปตามเป้าประสงค์ทางการเมืองของเจ้าของพรรคตัวจริง


ถามว่าแล้วตัวเต็งอย่าง “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล หรือ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ทั้งโปรไฟล์ก็ดีกว่า หน้าตาท่าทางก็ดีกว่า จบปริญญาโทเมืองนอกเมืองนา คนนึงจบฝรั่งเศส คนนึงจบอีตัน-อ็อกซฟอร์ด เวลาออกสื่อ หรือ ลุกขึ้นอภิปรายก็ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างล้นหลาม ทำไมไม่ได้รับบทบาทอะไรบ้างล่ะ ?

“คำตอบ แบบจริงจัง และจริงใจ ที่ผมอยากจะบอกก็คือ ก็ได้รับอยู่นี่ไง คือบทบาท Dancer หรือ หางเครื่อง ของพรรคประชาชนไงล่ะครับ เพราะต่อให้โปรไฟล์ดีขนาดไหน เชื่อเถอะ ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค หรือ เลขาธิการ แน่นอนเพราะคนพวกนี้ไม่ใช่สายตรงที่ “ธนาธร” ไว้วางใจ รวมทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็เป็นแค่หางเครื่อง ส่วน “เจี๊ยบ อมรัตน์” ก็เป็นแม่ยก” นายสนธิ กล่าว

สรุปแล้วพรรคประชาชนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาจริง ๆ แล้วนั้นไม่ใช่พรรคของประชาชน เหมือนอย่างชื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือพรรคของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจโดย ณ เวลานี้มี “ติ่ง ศรายุทธิ์”สายตรงไทยซัมมิท มาเป็นตัวแทนนายธนาธร เอาไว้จับซ้ายหันขวาหัน เพื่อ รอเวลาให้นายธนาธรกลับมาในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ก็คือปี 2573 หลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีเมื่อปี 2563


ซึ่งโมเดลนี้ไม่ต่างจากตอนที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้วมี “ต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน คนใกล้ชิดธนาธรมาเป็นเลขาธิการพรรคแล้วก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อนายพิธา ลาออก

สาเหตุที่ “นายเท้ง ณัฐพงษ์” หัวหน้าพรรคประชาชน ประกาศว่า“ไม่ลดเพดานเรื่อง มาตรา 112” นั่นก็ย่อมหมายความว่า จะเดินหน้าเรื่องต่อไป ตามเจตนารมณ์ของ“เจ้าของพรรค”ตัวจริง ก็คือนายธนาธรที่กำหนดยุทธศาสตร์พรรคไว้แบบนี้โดยไม่สนว่าจะถูกยุบพรรคอีกหรือไม่ ไม่แตกต่างจากตอนที่ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เคยได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาก่อน แม้ว่าเจ้าจริงอาจจะอยากลดเพดานเพื่อตั้งรัฐบาล แต่ขัดนายธนาธรไม่ได้ สุดท้ายไม่ได้เป็นนายก อำนาจหลุดมือไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทย

“อ้าว! แล้วอย่างนี้ ที่พรรคของพวกคุณ ประกาศกันปาว ๆ ว่า เป็นพรรคประชาชน คนเท่ากัน แต่ปล่อยให้นายธนาธร เป็นคนจิ้มว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค ผมก็ไม่เข้าใจว่ามัน “เท่ากัน” ตรงไหน ?!?

“นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ผมสงสัย และผมไม่รู้ว่าข้อมูลนี้จริงเท็จหรือไม่อย่างไรนะครับ แต่อยากได้คำตอบเหมือนกัน เพราะมีคนมาเล่าให้ผมฟังว่าที่ตลอดระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองหนึ่งใช้เงินมาทำการเมืองนั้น เงินบางส่วนถูกส่งตรงมาจากบัญชีต่างประเทศ เข้าบัญชีของพรรคการเมืองนี้ ทำให้เงินบริจาคของพรรคการเมืองนี้พุ่งพรวดพราด แล้วปั่นกระแสกันจนเป็นข่าวดัง

“จริง ๆ แล้ว ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า เขาทำกันอย่างไร?คุณติ่ง ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชนคนใกล้ชิดคุณธนาธร พอจะรู้เรื่องไหม ช่วยบอกผมทีได้ไหมครับ”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น