xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พระเจ้ากุสตาสที่ 4 แห่งสวีเดน
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

  ทำไมต้องสนใจสวีเดน ? 

 เพราะราชอาณาจักรสวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นระบอบการปกครองแบบเดียวกับที่เราใช้อยู่ ที่สำคัญคือ สวีเดนเป็นประเทศที่การเมืองการปกครองมีเสถียรภาพความมั่นคงสูงสุด โดยได้รับคะแนนร้อยคะแนนเต็ม จากการประเมินของ Freedom House ติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลาถึงห้าปี โดยสวีเดนได้คะแนนเต็มร้อย โดยแบ่งออกเป็นคะแนนด้านสิทธิทางการเมือง (political rights) 40 คะแนนและเสรีภาพของพลเมือง (civil rights) 60 คะแนน 


สิทธิทางการเมืองนี้ หมายถึงการที่รัฐบาลและรัฐสภามาจากกระบวนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม มีกฎหมายและกรอบการเลือกตั้งที่เป็นธรรม มีพหุนิยมทางการเมือง และพลเมืองมีอิสรเสรีภาพที่จะรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่แตกต่างกันไป ฯ ส่วนเสรีภาพของพลเมือง ได้แก่ การมีเสรีภาพในการแสดงออกและความเชื่อ มีเสรีภาพทางวิชาการและการให้การเคารพต่อเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและประเด็นที่อ่อนไหวโดยปราศจากความกลัวการถูกจับตาสอดส่องและการลงโทษ สิทธิในการสมาคม การรวมตัวกัน เสรีภาพขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) เป็นต้น นอกจากนี้ สวีเดนยังเป็นประเทศที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของการจัดอันดับประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกันห้าปีจนถึงปัจจุบันด้วย
 
พัฒนาการทางการเมืองการปกครองของสวีเดนจนถึง ค.ศ. 1815 นับว่ามีความโดดเด่นกว่าประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ความโดดเด่นที่ว่านี้คืออะไรบ้าง ?
 
หนึ่งสวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน (serfdom) และเป็นชาวนาเสรีมาโดยตลอด และมีสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองผ่านที่ประชุมท้องถิ่นตามประเพณีการปกครองที่เรียกว่า ting และเป็นที่ประชุมในการออกกฎหมายท้องถิ่นและมีสิทธิ์ในการเลือกและถอดถอนพระมหากษัตริย์ด้วย จากการที่ชาวนามีความเป็นอิสระ ส่งผลให้สภาฐานันดรของสวีเดนเป็นที่เดียวที่มีตัวแทนของชาวนาเป็นหนึ่งในฐานันดรหนึ่งตั้งแต่ต้น ในขณะที่เดนมาร์กไม่มีจารีตประเพณีหรือตำนานการมีส่วนร่วมทางการเมืองในแบบ ting ของชาวนาและของการมีตัวแทนของฐานันดรต่าง ๆ ที่กว้างขวางรวมการมีส่วนร่วมของชาวนาอย่างของสวีเดน ชาวนาสวีเดนในที่ประชุม  ting  และในสภาฐานันดรมีบทบาทสำคัญทั้งการทัดทานและการสนับสนุนอำนาจของฐานันดรอภิชนหรือพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่าง ๆ

สองสวีเดนเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปสู่  “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”  ในปี ค.ศ. 1680 หลังเดนมาร์กราว 20 ปี และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงผ่านทางกระบวนการนิติบัญญัติในสภาฐานันดร (Riksdag) และในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ยังคงให้สภาฐานันดรมีอำนาจนิติบัญญัติอยู่บ้าง

**สาม** การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดนมีอายุเพียง 38 ปี (ค.ศ. 1680 – 1718) นับว่าสั้นมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในยุโรปหรือแม้แต่กับประเทศไทยเอง หากนับว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2435-2475 ในขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเดนมาร์กมีอายุถึง 189 ปี (ค.ศ. 1660 – 1849)

 สี่  หลังสิ้นสุดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สวีเดนได้เข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1718 ซึ่งกล่าวได้ว่า สวีเดนนับเป็นประเทศที่สองในยุโรปที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อจากสหราชอาณาจักร และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปราศจากการใช้กำลังความรุนแรงอีกเช่นกัน สาเหตุสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจากปัญหาการขาดพระราชโอรสและพระราชธิดาในการสืบราชสันตติวงศ์และความไม่พอใจต่อการใช้พระราชอำนาจอันไม่จำกัดในการทำสงครามของพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสอง) ทำให้อภิชนในสภาฐานันดรและกองทัพถือโอกาสต่อรองกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ปรารถนาจะเป็นผู้สืบราชสมบัติให้สละสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยอมถูกจำกัดพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางสภาฐานันดร (Riksdag)

 ห้า  การปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนได้รับการขนานนามว่าเป็น  “ยุคแห่งเสรีภาพ”  และรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1720 ก็ได้รับการยกย่องจากบรรดานักคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) ของฝรั่งเศสว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในขณะนั้น โดยกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาฐานันดร แต่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนก็มีอายุได้เพียง 54 ปี ก็มีอันต้องสิ้นสุดลง และเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนำและมีพระราชอำนาจมากขึ้น แต่กระนั้น พระมหากษัตริย์ก็ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงร่างขึ้นเอง นั่นคือ **รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1772** ซึ่งนักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนเรียกระบอบการปกครองของสวีเดนในช่วงนี้ว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบไม่เต็มที่นักหรือเป็น  สมบูรณาสิทธิราชย์ปานกลาง (moderate absolutism)   และยังคงให้สภาฐานันดรมีอำนาจนิติบัญญัติอยู่บ้าง
 
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ. 1772 จะเกิดจากการทำรัฐประหารโดยพระมหากษัตริย์ โดยมีการใช้กำลังทหารเข้าขู่บังคับ แต่ก็ไม่มีการบาดเจ็บเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด และยังได้รับการตอบรับจากประชาชนในเมืองหลวงอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วงเวลา 54 ปีภายใต้ “ยุคแห่งเสรีภาพ”  และ  “รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในขณะนั้น”  การเมืองภายใต้อภิชนนักการเมือง ในสภาฐานันดรกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจและมีการทุจริตรับสินบนจากต่างชาติมาใช้ การหาเสียงในสภาและกำหนดนโยบายต่างประเทศจนนำไปสู่ทางตันทางการเมือง
 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น