แฟลชม็อบยืน 112 วินาที แสดงจุดยืนยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตะโกนคำว่า “สุขสันต์วันรพี” แสดงการเสียดสีต่อคำวินิจฉัยในกฎหมายไทย
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล 10 ปี ส่งผลให้มี ส.ส.6 คนที่ต้องหลุดจากการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 7 ส.ค. ที่ sky walk แยกปทุมวัน ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศ ภายหลังจากที่ “ฝ่ายมนุษยธรรมฯ (SGCU)” ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากล องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Department of Humanitarian and Human Rights Affairs of SGCU ได้โพสต์ข้อความ ได้จัดกิจกรรม 'แฟลชม็อบ' ร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว โดยมีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เส้นทาง sky walk แยกปทุมวัน ให้ความสนใจกับ กิจกรรมดังกล่าว โดยทางฝ่ายกิจกรรมได้มีการวางแผ่นผ้าสีขาวความยาวประมาณ 2 เมตร ซึ่งมีข้อความตัวใหญ่กำกับว่า “คุณรู้สึกอย่างไรที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ” ซึ่งก็ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งได้เขียนความรู้สึกลงไปในผ้าดังกล่าว ตัวอย่างเช่น "กลัวจนต้องรีบยุบเลยดิว้าย~~", "14 ล้านเสียงของประชาชนมันไม่มีค่าเลยใช่ไหม?", “ยุบพรรค=ประหารการเมือง ภูมิใจไหมกับการทำลายอนาคตและความหวังของปชช.” เป็นต้น
ด้านนายอภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ในฐานะนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการแสดงจุดยืนว่าทางองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ไม่เห็นด้วย โดยจะยืนคัดค้านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลา 112 วินาที เพื่อแสดงจุดยืนว่าพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายในการแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมากว่า 14 ล้านเสียง โดยในวันนี้ยังมีตัวแทนจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมด้วย อาทิ ตัวแทนจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมอ่านคำแถลงการณ์ด้วย
นายธีรภพ เต็งประวัติ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ในฐานะแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้อ่านคำแถลงการณ์โดยมีใจความว่า ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีพรรคการเมืองถูกสั่งยุบไปแล้วร่วม 110 พรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองหลายฉบับ ด้วยหลากหลายข้อกล่าวหา เช่น การไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น การไม่ส่งรายงานใช้จ่ายเงินสนับสนุน จนถึงการเกี่ยวข้องกับการล้มล้างระบอบการปกครอง ทำให้พรรคการเมือง นักการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคการเมืองในกลุ่มที่ถูกนิยามว่าเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบเลิก และเพิกถอนสิทธิทางการเมือง เป็นการพรากความฝันและดับซึ่งความหวังของพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ได้ฝากไว้กับพรรคและนักการเมืองเหล่านั้น
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงควรสนับสนุน ส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย และไม่ควรถูกยุบจากองค์กรอิสระที่ไม่ได้มีอะไรยึดโยงกับประชาชน หากพรรคการเมืองจะดับสูญก็ต้องสูญหายไปด้วยน้ำมือของประชาชน โดยการตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคนั้นๆ การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ คือการละเมิดเจตจำนงของประชาชนรวมกว่า 14 ล้านเสียงที่ได้ลงคะแนน ให้ความไว้วางใจกับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
"การเป็นนิติรัฐ" ย่อมไม่หมายความเพียงว่ารัฐต้องผูกพันกับกฎหมาย หากแต่การกระทำของรัฐต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังหมายถึงวัตถุประสงค์ในการจำกัดอำนาจรัฐและผู้ปกครองในประเทศโดยกฎหมาย ซึ่งก็คือเพื่อไม่ให้กระทำการตามอำเภอใจ หากแต่ใน 20 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะเป็นที่พึ่งในการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรที่ตรวจสอบและจำกัดอำนาจผู้ปกครองตามหลักนิติรัฐ ศาล รัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นเครื่องมือในการขยายขอบเขตของอำนาจรัฐและสถานะของผู้ปกครองในระบบยุติธรรม
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงขอยืนยันว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และประณามการตัดสินใจที่จะยุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับมิได้ และเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขอยืนยันว่าทุกการกระทำที่ชนชั้นนำไทยใช้ในการตอบโต้ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ตั้งแต่การบิดเบือนการเลือกตั้ง การทำรัฐประหาร รวมจนถึงการยุบพรรคอย่างที่เห็นกันในวันนี้ เป็นการที่มิใช่ มิควร และมิเคยเป็นเรื่องปกติในทุกสังคมประชาธิปไตย โดยบรรดาประเทศที่นิยามตัวเองว่ามีระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย
ภายหลังจากการอ่านคำแถลงการณ์ ผู้เข้าร่วมการชุมนุมยังร่วมกันตะโกนคำว่า “สุขสันต์วันรพี” 3 ครั้ง เพื่อเป็นการแสดงการเสียดสีถึงวันรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" ในวันที่ 7 ส.ค.นี้นั่นเอง