เมืองไทย 360 องศา
“ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และได้สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดการกระทำดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง”
ทั้งนี้ ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว อาจมีผู้นำพฤติการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเอาผิดพรรคก้าวไกล ฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค
นอกจากนี้ ยังอาจมีผู้นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด นายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฐานกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมด้วย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 31 มกราคม หลังจากที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอ ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
เอาเป็นว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะทั้งของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เพิ่งรอดพ้นจากคดีถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา และกลับมามีสถานะเป็น ส.ส. กลับเข้าสภาได้อีกครั้ง รวมไปถึงหายนะของพรรคก้าวไกลอีกด้วย หลังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดว่า ถูกร้องทั้งสอง ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ผู้ถูกร้องดังกล่าวหยุดการกระทำที่ว่านั้นเสีย นั่นคือ ให้หยุดการเสนอแก้ไข หรือ ยกเลิก มาตรา 112 อีกด้วย
ก็ต้องบอกว่า อาจเหนือความคาดหมายของ หลายคนที่ไม่นึกว่าผลจะออกมาแบบนี้ แต่เมื่อออกมาแบบที่เห็นมันก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้ ว่ามันจะใหญ่หลวงแค่ไหน เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้ จะมีคนไปร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล รวมไปถึงร้องให้เอาผิด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล รวมไปถึงร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผู้ร้องให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า “ผู้ถูกร้อง” คือ นายพิธา และพรรคก้าวไกล มีความผิดจากกรณีการเสนอแก้ไข หรือ ยกเลิกมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯหรือไม่ ยังไม่ได้ร้องให้ยุบพรรคแต่อย่างใด แต่หลังจากนี้ ก็ให้รอรับผลกระทบครั้งใหญ่ที่จะตามมา ทั้งความผิดอาญา และการร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล อีกต่างหาก
ก่อนหน้านี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งถูกมองว่าเป็นเจ้าของพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความมั่นใจถึงกรณีที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องพรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ตนไม่มีความคาดหวัง ก็รอฟังกันดู แต่เชื่อว่าพรรคก้าวไกล จะไม่ถูกยุบ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะไปถึงจุดนั้น
“แต่อยากให้สังคมกลับมาตั้งหลักเรื่องนี้ให้มั่นคง กฎหมายไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า แต่กฎหมาย มันร่างด้วยน้ำมือมนุษย์ ดังนั้นเมื่อมันร่างด้วยน้ำมือมนุษย์เนี่ย มนุษย์ก็ต้องแก้ไขได้ ถือเป็นหลักการพื้นฐาน ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเรียกได้เต็มปากว่า เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ ผมคิดว่า คงมีอะไรไม่ปกติแล้วหละ ในประเทศนี้” นายธนาธร กล่าว
อย่างไรก็ดีเมื่อผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นตรงกันข้าม ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และสั่งให้หยุดพฤติกรรมแบบนี้ทันที มันก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงต่อการถูกร้องให้ยุบพรรคสูงมาก และถึงขั้นมากที่สุด เพราะเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยดังกล่าวมันก็น่าจะเป็นไฟต์บังคับให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลตามมา
รวมทั้งจะมีผู้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เอาผิดกับคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ฐานขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และในตอนนั้นก็มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมอยู่ด้วย แม้ว่าอาจเลี่ยงด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค เมื่อครั้งต้องคดีถือหุ้นไอทีวี ก็ตาม แต่มันก็เสี่ยงที่จะโดนกวาด หากมีการยุบพรรคก้าวไกลในภายหลัง
แม้ว่ายังมีเวลาอีกพักใหญ่ก่อนที่จะเดินไปถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการไปยื่นร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้ยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้เอาผิด คณะผู้บริหารพรรค ซึ่งนอกจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้ว ก็ยังมีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน ที่มีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันรวมไปด้วย เพราะกว่าจะร้อง กว่าจะพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านการไต่สวน มีการร้องขยายเวลา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นปี
แต่เอาเป็นว่างานนี้เหมือนกับว่า พรรคก้าวไกลกำลังถูกตรึงด้วยโซ่ตรวน ขยับไปไหนได้ลำบาก เหมือนกับกำลังถูกชนักปักคาหลัง สองจุดใหญ่ แม้ว่าจะประเมินว่าพรรคก้าวไกล กำลังมาแรงก็ตาม แต่หากมีคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันก็ทำให้มวลชนที่รักสถาบันฯ ต้องฉุกคิดและถอยฉากออกมาเหมือนกัน เรียกว่า “เอฟเฟกต์” เกินคาดก็แล้วกัน !!