วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินหน้าเตรียมความพร้อมผลิตบัณฑิตปริญญาโทและเอก ด้านการพัฒนาและสร้างซอฟต์แวร์ ให้มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ จริยธรรม และเทคโนโลยี AI สอดรับการเติบโตของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางข้อมูล “Data Center” ของภูมิภาคอาเซียน
แม้ว่าจะกลายเป็นสัญญาณอันทรงพลังในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคต หลัง “สัตยา นาเดลลา” CEO บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ ประกาศแผนตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังพร้อมสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยกว่า 6,000 คน ผ่านโครงการ AI Odyssey รวมถึงการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรคนไทยกว่า 100,000 คน และสนับสนุนชุมชนนักพัฒนาในประเทศไทย
ทว่า ท่ามกลางโอกาสทองที่รออยู่ "วิกฤตการณ์ขาดแคลนกำลังบุคลากรทางด้านไอที" กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางข้อมูล โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีนักศึกษาจบสายคอมพิวเตอร์ 5.7 แสนคนต่อปี แต่ทำงานตรงสายอาชีพแค่ร้อยละ 15 นอกจากนี้หากตีออกมาเป็นตัวเลขเฉลี่ยแต่ละปี ประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณภาพได้ไม่เกิน 5,000 คนเท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากทั้งหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ตลาด บัณฑิตขาดทักษะที่จำเป็นและประสบการณ์จริง
ประยุกต์ใช้ AI ได้ในทุกโดเมน
ถามว่าคุณสมบัติ? ของผู้ที่จะคว้าโอกาสทองในครั้งนี้ สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง “ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกรง” ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ระบุว่า ไม่เพียงความต้องการในเชิงปริมาณเท่านั้นที่ขาดแคลน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นที่ต้องการในเวลานี้ต้องมีทักษะความเข้าใจใน ‘ธุรกิจ’ ประกอบอีกด้วย เนื่องจาก AI มีหลายประเภท โดยที่แต่ละประเภทมีจุดเด่น จุดด้อย และการใช้งานที่แตกต่างกันไป การเลือกโมเดลที่ผิดอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความเสียหายมากกว่าที่จะได้ประโยชน์
“เราขาด Developer ขาดคนเข้าใจความรู้ ในการสร้างหรือพัฒนา AI อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่า AI สร้างอย่างไร มันก็จะสร้างหรือพัฒนาเพื่อรองรับโดเมนต่างๆ ช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญหนุ่มกล่าว การปรับเปลี่ยนทักษะที่ต้องเสริมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ที่ถูกบีบด้วยสภาพแวดล้อม”
“ถ้าองค์กรคุณไม่ใช้เทคโนโลยี แต่คู่แข่งใช้ ลูกค้าองค์กรคุณก็หนีไปที่อื่นหมด เพราะที่อื่นบริการรวดเร็วกว่า แม่นยำกว่า หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตไปถึงขั้นที่ต้องใช้ AI ของตัวเอง เพื่อรักษาความลับบริษัท เช่น ข้อมูลลูกค้า วิธีการบริหารจัดการลูกค้าต่างๆ ที่อาจไม่เป็นความลับหากใช้บริการระบบของคนอื่น”
ทางวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มุ่งมั่นผลิตบัณฑิต “หลักสูตรปริญญาโท-เอก” ให้เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพที่มีคุณภาพ ผ่านหลักสูตรที่ทันสมัย ตรงความต้องการของตลาด และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ “การประยุกต์ใช้ AI ในทุกโดเมน” และ “การพัฒนาและสร้างโดเมนสเปเชียล AI” เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะ เช่น การวินิจฉัยโรค การแปลภาษา หรือการขับรถอัตโนมัติ AI ประเภทนี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำงานได้อย่างแม่นยำ
นอกเหนือจากวิชาหลักทางด้านไอทีที่นำตัวต้นแบบ AI มาใช้ภาคธุรกิจสามารถทำได้อย่างไรบ้าง วิธีการพัฒนาและสร้างตัวแบบโมเดลในด้านต่างๆ เช่น วิเคราะห์ข้อมูล ภาษาทางธรรมชาติ (NLP) เทคทูสปีด (Text-to-Speech - TTS) หรือสปีดทูเทค (Speech-to-Text - STT) เป็นต้น จากความต้องการของทุกภาคอุตสาหกรรมในการนำ AI เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ
“ปริญญาโทของ CITE ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เรายังมีในเรื่องของ Technician และ Management technology โปรแกรมวิชา Data Science วิชาเลือกเกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI และวิชาทางด้านไอที Management การกำกับดูแลทางด้านไอที การวิเคราะห์ออกแบบระบบสถาปัตยกรรมองค์กรที่นำเทคโนโลยีมาใช้งาน”
“ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันหมด เพราะเราไม่ได้สอนแล้วนำไปใช้เองคนเดียว แต่ยังสามารถที่จะนำไปใช้วางโครงสร้าง พัฒนาบริการ ด้านไอทีที่องค์กรนำไปใช้พัฒนางานได้อีกด้วย ซึ่งทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานทางไอที เช่น แพทย์ เภสัช ครู ฯลฯ ก็สามารถที่จะเรียนได้อีกด้วย”
ขณะที่หลักสูตรปริญญาเอก “ผศ.ดร.วรภัทร” อธิบายว่า การเรียนการสอนเน้นหนักไปที่การต่อยอดและพัฒนาทางด้านไอที โดยผู้ที่เรียนจะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่หรือสร้างเทคโนโลยีใหม่เฉพาะ รวมไปถึงรูปแบบวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อไปใช้ทำงานได้อย่างดีขึ้น
“ความท้าทายคือ เราพยายามที่จะพัฒนาจากตัวที่เป็นโดเมนสเปเชียลฟิก ไปเป็น Super AI ได้อย่างไร โดยที่ผ่านมานักศึกษาสามารถสร้าง Images Processing ในการจับ ‘ภาพช้าง’ และ Mapping ภาพในกล้องวงจรปิดเข้าด้วยกัน ทำให้เราสามารถรู้ถึงทิศทางการเดินของช้าง รู้ว่าเป็นช้างตัวไหน กระทั่งรู้ว่าชื่ออะไร ซึ่งช่วยป้องกันอันตรายของตัวช้างและผู้คน”
จริยธรรมและการกำกับดูแล
หลังจากทักษะที่ควรมีเพิ่มเสริมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน AI “ผศ. ดร.วรภัทร” แนะนำว่ายังต้องคำนึงถึง “จริยธรรมและการกำกับดูแล” ที่ชัดเจนประกอบอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า AI ถูกใช้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมัยอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นปี 2000
“จริยธรรมและการกำกับดูแล เป็นเรื่องใหม่ของปี 2024 ประเทศไทย ดังนั้นนอกจากสิ่งที่เราต้องทำต่อจากการบริหารจัดการเทคโนโลยีตัวนั้นซึ่งเป็นเรื่องแรก ต่อมาก็คือ การจัดการกำกับดูแล เพราะเรื่องพวกนี้กำหนดในทันทีไม่ได้ เพื่อกั้นการปิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา ทำให้เราจำเป็นต้องค่อยๆ กำกับดูแลไปเรื่อยๆ แบบช่วงที่อินเทอร์เน็ตใหม่ๆ เราเริ่มต้นใช้ก่อนและเรียนรู้ผลเสีย จากนั้นจึงกำกับ เช่น ชั่วโมงการใช้งานของเด็ก การกั้นคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม ที่มีมาเรื่อยๆ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาเราอาจจะต้องคิดไว้ล่วงหน้าจะเกิดปัญหานี้ๆ ในครั้งนี้”
โดยจากงานวิจัยที่ “ผศ.ดร.วรภัทร” ซึ่งได้รับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่าทั้ง 3 ฝ่าย ที่สำคัญที่ต้องร่วมมือกัน ได้แก่ 1. ภาครัฐ 2. ผู้สร้างและพัฒนา และ 3. ผู้ใช้งาน
“ภาครัฐนอกจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กำลังศึกษาแนวทางการกำกับดูแล AI ครอบคลุมถึงหลักการจริยธรรม อาจจะต้องกำหนดเพิ่มคือ ข้อที่ 1. การ Errorless ของ AI ที่นำมาใช้เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เช่น วงการแพทย์ที่จะนำมาวินิจฉัยโรค ข้อที่ 2. การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างมนุษย์กับ AI ของการใช้งานเป็นระดับ สำหรับการใช้ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตแบบข้างต้น อาจกำหนดใช้ AI ในระดับเบื้องต้น การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และแนะนำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม”
“ข้อที่ 3. การตรวจสอบตัวแบบโมเดล AI ก่อนนำ AI มาใช้งานจริง โดยอาจจะมีการการันตีด้วยผลการทดสอบที่วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ เช่นเดียวกับการตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อผู้ใช้งาน และข้อที่ 4. การสร้างหรือพัฒนา AI โดยฝั่งผู้สร้างจำเป็นต้องออกแบบข้อมูลและโมเดลอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามกฎหมายหลัก หรือเรื่องของความเป็นส่วนบุคคล ต้องคอยบาลานซ์ให้ดีเพื่อกันไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้”
ผศ.ดร.วรภัทรเสริมอีกว่า ด้วยการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมให้นักศึกษา Active Learning วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ได้ระบุเรื่องของจริยธรรมและการกำกับดูแล เป็น ‘บทเรียน’ หนึ่ง ทั้งหลักสูตรปริญญาโท-เอก นอกจากนี้ยังสอดแทรกเสริมในกรณีหากมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักและเกิดการเรียนรู้ในเรื่อง ปรับปรุงวิธีการกำกับดูแลให้เหมาะสม ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนักศึกษาเป็นอย่างมาก
“เนื้อหาเราไม่ได้ยึดตามที่ระบุไว้ตลอด เวลามีเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อาจารย์ก็จะนำมาอัปเดต และนำมาพูดคุยถกเถียงกันเสริมจากในบทเรียน จากการที่เราติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน มีการอบรมเพิ่มเติมด้าน AI และมีวิจัยทางด้าน AI เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ AI อยู่ร่วมกับเราแล้วในสเตทที่ 2-3 เราจะอยู่อย่างไรให้มันเกิดประโยชน์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม หรือมีความเสี่ยงต่อชีวิต เพื่อใช้ชีวิตกันได้อย่างมีความสุข” อาจารย์ได้กล่าวทิ้งท้าย