xs
xsm
sm
md
lg

"ครบจบในที่เดียว" สถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (IPAD-DPU) จัดบริการวิชาการอบรม TFRS Update 2567 และ Update ภาษีเงินได้นิติบุคคล 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดบริการวิชาการอบรม TFRS Update 2567 และ Update ภาษีเงินได้นิติบุคคล 2567 พร้อมบูท Digital Accounting จาก 4 บริษัทชั้นนำ เมืองไทย Up Level ผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี สู่ “นักบัญชียุคดิจิทัล”

หลักสูตรบัญชีดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี (IPAD DPU) นำโดย ดร.อรัญญา นาคหล่อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี และอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชียุคดิจิทัล จัดอบรมโครงการบริการวิชาการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องสำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ในหัวข้อ “TFRS Update 2567” โดย รศ. ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี และ “Update ภาษีเงินได้ นิติบุคคล 2567” โดย อาจารย์สาโรช ทองประคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอากร เมื่อวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 500 คน

ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ผู้เข้าร่วมอบรมในรอบปีนี้จะได้ความรู้ที่อัดแน่นไปด้วยความพิเศษที่สามารถช่วยยกระดับ Level สู่ “นักบัญชียุคดิจิทัล” ทั้งบูทจัดแสดง Digital Accounting จากพันธมิตร 4 บริษัทชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งมาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้สัมผัสนวัตกรรมทางวิชาชีพบัญชีในยุคดิจิทัล ได้แก่ 1. NEXTTO 2. FlowAccount 3. AccRevo 4. ZTRUS ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีบูทของที่ระลึกจากสมาคมสำนักงานบัญชีไทย (TAFA) และรับสิทธิพิเศษส่วนลดค่าเรียนปริญญาโท 15% และ 10% สำหรับปริญญาเอกในหลักสูตรทางบัญชี คูปองฟรีสำหรับค่าจัดส่งเอกสาร e-Tax Invoice จำนวน 500 ชุดจาก NEXTTO พร้อมกับเอกสารทางวิชาการทั้ง 2 วันฟรี โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการอบรมได้ที่เว็บไซต์ “สถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี” หรือที่ลิงก์ https://www.dpu.ac.th/ipad/


สำหรับสาระสำคัญในการอบรมวันที่ 1 โดย “รศ. ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์” ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ ให้ความรู้ในลักษณะของการตีความและแนวปฏิบัติ พร้อมกับยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ช่วยให้ผู้ทำบัญชีที่เข้าอบรมเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องทิศทางของมาตรฐานและสถานภาพของมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทยในปัจจุบันและทิศทางของมาตรฐาน TFES for PAEs และ TFRS for NPAEs, สรุปการแก้ไขปรับปรุง TFRSs ฉบับที่สำคัญ ได้แก่ TAS1 การเปิดเผยข้อมูลนโยบายการบัญชีที่มีสาระสำคัญ TAS34 รายงานทางการเงินระหว่างกาล TAS8 นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด, การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRIC (IFRIC) รวมไปจนถึงแนวปฏิบัติทางการบัญชีที่ออกมาใช้เฉพาะในประเทศไทย เนื่องจาก IFRSs ไม่ได้มีหลักการหรือแนวทางปฏิบัติกำหนด

ตัวอย่างเช่น หากปัจจุบันกิจการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) ต่อมาเข้าเงื่อนไขที่จะใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs (เช่น บริษัทจำกัด ที่เคยมีวัตถุประสงค์ที่จะออกขายหลักทรัพย์ใด ๆ ต่อประชาชน แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกแผนการดังกล่าวแล้ว) กิจการจะสามารถใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs ได้หรือไม่

คำตอบคือ 1. กิจการต้องใช้ดุลพินิจในการเลือกใช้มาตรฐานฯ ให้เหมาะสมกับกิจการและต้องเปิดเผยเหตุผลว่าทำไมจึงเลือกใช้มาตรฐานนั้น โดยกิจการต้องให้เหตุผลว่าการใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs ทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากยิ่งขึ้นอย่างไร และต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน เนื่องจาก TERS for NPAE: บทที่ 5 และ TAS 8 กำหนดว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีทำได้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั่นเข้าเงื่อนไข ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ 1.1 เกิดจากข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 1.2 ทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบของรายการค้า เหตุการณ์และสถานการณ์อื่น ที่มีต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ

2. เมื่อกิจการประเมินแล้วและให้เหตุผลได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs เป็นไปตามบทที่ 5 และ TAS 8 แล้ว การเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ใช้ต้องมีการปรับปรุงงบการเงิน โดยวิธีปรับปรุงย้อนหลังงบการเงินเสมือนว่าใช้ TERS for NPAEs ตั้งแต่แรก ตามข้อกำหนดในบทที่ 5 เรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและการแก้ไขข้อผิดพลาด ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี

เช่นเดียวกับการอบรมในวันที่สอง โดย “อาจารย์สาโรช ทองประคำ” ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอากร ที่ได้เสริมความรู้ในหลักการทั่วไปในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50, การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี, เกณฑ์คงค้างและเกณฑ์สิทธิ, รายจ่ายต้องห้ามตาม ม.65 ตรี ไปจนถึง สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายใหม่ และประเด็นปัญหาและกรณีศึกษาเพื่อให้เห็นภาพอย่างกระจ่างชัด

ตัวอย่างเช่น หลักการภาษี : สัญญาเช่า ทป.1/2528 (แก้ไขโดย ทป.299/2561 ใช้บังคับรอบบัญชี 2561 เป็นต้นไป) ข้อ 3.4 กิจการให้เช่าทรัพย์สิน ให้นำรายได้ค่าเช่าหรือค่างวดและรายจ่าย ที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามส่วนแห่งระยะเวลาการให้เช่าทรัพย์สิน หรือตามเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป

โดยวิธีการคำนวณรายได้และรายจ่ายของผู้เช่าจะต้องนำรายจ่ายค่าเช่าหรือ ค่างวดและรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามส่วนแห่งระยะเวลาการเช่าทรัพย์สิน หรือตามเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และกรณีบริษัทได้เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายแล้วให้ใช้วิธีนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดี


ด้าน ดร.อรัญญา นาคหล่อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชีและอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชียุคดิจิทัล เปิดเผยความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ว่า ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้มีการกำหนดให้ ‘ผู้ทำบัญชี’ และ ‘ผู้สอบบัญชี (CPA)’ ต้องมีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพฯ ผ่านการอบรมตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละปี โดยแบ่งออกเป็น CPD สำหรับผู้ทำบัญชี จำนวนทั้งหมด 12 ชั่วโมงต่อปี ส่วน CPD สำหรับผู้สอบบัญชี จำนวนทั้งสิ้น 40 ชั่วโมงต่อปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาและสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี มุ่งเผยแพร่องค์ความรู้และได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชีให้เป็นหน่วยจัดอบรม รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่โครงการบริการวิชาการได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ เพราะสำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี (CPA) แล้ว การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เท่าทันกับมาตรฐานการบัญชี ข้อกฎหมายทางภาษีอากร และมาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาทั้งในรูปแบบระยะสั้นและยาว ซึ่งปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดในแต่ละปี

“จุดเริ่มต้นของการจัดบริการวิชาการแบบยิ่งใหญ่ปีที่ 2 ต่อเนื่องจากเมื่อปีที่แล้วมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ครบรอบ 55 ปี จุดประกายให้เราเพิ่มความพิเศษเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงองค์ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ตรงในราคาที่จับต้องได้ ไม่แพงเกินไป ด้วยข้อกฎหมายทางภาษีและมาตรฐานการบัญชี มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และในทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกสายงาน จะเป็นการดีกว่าถ้าเราจัดให้นักบัญชีที่มีทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล และความรู้รอบตัว จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร จัดบูทจัดแสดง Digital Accounting ได้สัมผัสนวัตกรรมที่จะช่วยให้การทำงานทางด้านบัญชีสะดวก แม่นยำ ถูกต้อง ครบถ้วน และง่ายขึ้น เช่น AI-OCR ระบบงานบัญชีที่ยกระดับด้วยเทคโนโลยี ของบริษัท ZTRUS ที่เพิ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สุดยอดนวัตกรรม Innovation Awards 2024 โดยสามารถสแกนข้อมูลเอกสารในกระดาษ และนำไปแยกจัดเก็บพร้อมกับทำการบันทึกบัญชีให้เสร็จสรรพ ภาพบรรยากาศงานทั้ง 2 วัน เลยเต็มไปด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ”

ดร.อรัญญาย้ำอีกว่า สืบเนื่องจากความสำเร็จดังกล่าว การจัดอบรม ‘IPAD’ ปี 2568 จากเดิมที่จัดเพียงปีละ 1 ครั้ง จะขยายเป็นปีละ 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 3 EP. รวม 6 วัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ และยกระดับความรู้ยิ่งขึ้นด้วยเรื่องราวที่สำคัญๆ อาทิ ESG นิยามใหม่สู่อนาคตที่ยั่งยืน ที่นักบัญชีและบริษัทโดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึง ซึ่งหากใครไม่อยากพลาดสามารถติดตาม Line OA ของสถาบันฯ เพื่อรับฟังประกาศการรับสมัคร เพราะจากที่ผ่านมาประกาศรับสมัครได้เพียง 2 วัน จำนวนผู้เข้าอบรมก็เต็มทุกที่นั่ง

“อยากให้ติดตามกันเอาไว้เพื่อจะได้ส่งข่าวให้ทั่วถึงสำหรับการอบรมในปีหน้า เพราะเราคัดวิทยากรชั้นนำของเมืองไทย เช่น ในครั้งนี้ท่าน รศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี และ อาจารย์สาโรช ทองประคำ ผู้เชี่ยวชาญและออกกฎหมายด้านภาษีอากร คนก็จะสมัครเข้ามากันล้น สุดท้ายที่อยากจะขอฝากอีกเรื่องคือ การที่เราอยู่ในแวดวงบัญชี จำเป็นต้องมีการทำตามมาตรฐานที่กำหนด และเมื่อข้อกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ มีการปรับเปลี่ยน เราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเรียนรู้ ไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตตราบใดที่ยังทำงานในวิชาชีพนี้” ดร.อรัญญากล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น