xs
xsm
sm
md
lg

DPU CWIE Day 2024 สถานประกอบการชั้นนำผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัย ให้ประสบการณ์สร้างนักศึกษาให้เป็นมืออาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



งาน DPU CWIE Day ประจำปีการศึกษา 2566 ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ โดยสถานประกอบการชั้นนำระดับคุณภาพกว่า 14 แห่งได้มาร่วมยืนยันความสำเร็จของ “การจัดการศึกษาแบบบูรณาการกับการทำงาน-ให้ประสบการณ์สร้างมืออาชีพ” ภายใต้โครงการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE) ในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เป็นประธานในพิธีเปิด DPU CWIE Day พร้อมทั้งกล่าวต้อนรับตัวแทนจากสถานประกอบการต่างๆ และ บรรยายฉายภาพการจัดการศึกษายุคใหม่ (Future Education) ที่เน้นทักษะการทำงานและประสบการณ์จริง

“มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีนโยบายและแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนและต่อเนื่องเรื่อง Future Education เพื่อสร้างบัณฑิตคุณภาพที่มีทักษะการทำงานตรงกับความต้องการของโลกปัจจุบัน และต้องเป็นทักษะที่มั่นใจว่า AI ทดแทนไม่ได้ ซึ่งเราเรียกว่า DPU DNA ขอขอบคุณสถานประกอบการทุกแห่งที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้ โดยให้โอกาสให้นักศึกษาของเราได้เข้าไปฝึกฝนและเพิ่มพูน DPU DNA ในสถานประกอบการ ฝึกเชื่อมโยงประยุกต์ความรู้ในห้องเรียนไปสู่การปฏิบัติ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งาน เพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต ตามโจทย์ของแต่ละสถานประกอบการ ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายต้องการคือ นักศึกษา DPU พร้อมทำงานตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา สถานประกอบการก็ได้ร่วมผลิตบุคลากรใหม่ให้ตรงใจ ส่วนประเทศไทยก็ได้กำลังคนที่ช่วยผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และแผนยุทธศาสตร์ของชาติให้ประสบความสำเร็จ”

กิจกรรมในงาน DPU CWIE Day เริ่มต้นด้วยพิธีลงนามความร่วมมือในการจัดการศึกษาแบบบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE ระหว่าง DPU กับสถานประกอบการชั้นนำจากต่างประเทศขนาดใหญ่ที่กำลังขยายการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท จอมธนา จำกัด (อีลี่ กรุ๊ป ไทยเเลนด์) บริษัท ไฮเซ่นส์ บรอดแบนด์ ประเทศไทย จำกัด (เครื่องใช้ไฟฟ้า Hisense) และบริษัท โปรทา จำกัด (โทรศัพท์สมาร์ทโฟน realme)


กิจกรรมสำคัญในงาน DPU CWIE Day คือ CWIE Showcase ที่นำเสนอโครงงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่ออกไปปฏิบัติงาน CWIE ในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย การนำเสนอโครงงานดีเด่นบนเวทีโดยมีตัวแทนสถานประกอบการมาร่วมบอกเล่าความสำเร็จในการนำไปใช้ประโยชน์จริง การแสดงนิทรรศการผลงาน CWIE ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 จากเวทีการประกวดระดับเครือข่ายและระดับชาติ นิทรรศการ CWIE EEC มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จากหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก สป.อว. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นิทรรศการ From CWIE to SDGs ซึ่งสะท้อนภาพความตระหนักรู้เรื่อง SDGs ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย และแสดงศักยภาพของนักศึกษา CWIE ที่ได้ริเริ่มหรือมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนในสถานประกอบการ และนิทรรศการ What Are Your CWIE Projects: สร้างอะไรให้สถานประกอบการ ซึ่งมีการประกวดทั้งแบบมีกรรมการตัดสินและแบบคะแนนโหวตจากสถานประกอบการ

นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลคณาจารย์นิเทศ CWIE ดีเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติคณาจารย์ผู้ปฏิบัติงาน CWIE ได้อย่างมีมาตรฐาน และอุทิศตนและเวลาเพื่อนักศึกษาและสถานประกอบการอย่างเป็นประจักษ์ ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับความสนใจและความร่วมมือจากสถานประกอบการ คณาจารย์ และนักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมในงานอย่างคึกคัก

“โครงงาน CWIE ที่นำเสนอบนเวทีและจัดแสดงนิทรรศการเป็นเครื่องยืนยันผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาทุกหลักสูตรจาก 8 วิทยาลัย และ 5 คณะ ยืนยันประโยชน์อันเป็นรูปธรรมที่สถานประกอบการได้รับ และยืนยันความสำเร็จของมหาวิทยาลัยให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะตัวแทนสถานประกอบการที่ให้เกียรติลงนาม MoU และร่วมนำเสนอโครงงานกับนักศึกษา ได้มั่นใจในแนวทางสร้างบัณฑิต รวมทั้งศักยภาพของบัณฑิตของเรา” รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าว


ทางด้าน คุณพชรธรณ์ นิยมเธียรสิน ผู้บริหาร Marriott International ที่เคยอยู่บนเวทีลงนาม DPU CWIE MoU เมื่อปี 2566 ได้มารับมอบเกียรติบัตรและช่อดอกไม้แสดงความยินดีในงานนี้ด้วย จากรองอธิการบดีสายงานวิชาการ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลชนะเลิศผู้ปฏิบัติการ CWIE ในสถานประกอบการดีเด่นระดับชาติ จากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประจำปี พ.ศ. 2567 จากการเสนอชื่อของธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากนี้คุณพชรธรณ์ยังได้มาร่วมบอกเล่าความสำเร็จของโครงงาน “Tea Leaf Scented Repellent Bags” ของนางสาวพชรพร คงพารา นักศึกษา CWIE หลักสูตรการโรงแรมและธุรกิจอาหาร คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมอีกด้วย โดยกล่าวว่าโครงงาน CWIE ที่ JW Marriott Bangkok เป็นความภูมิใจของหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่สร้างบัณฑิตใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ได้งานทันที ทำงานได้ทันที สะท้อนทั้งคุณสมบัติ ศักยภาพ และความตั้งใจของนักศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานแข็งแรงที่มาจากการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ด้านนางสาวพชรพร คงพารา เล่าว่า โครงงานถุงหอมไล่ยุงจากกากใบชา ได้ไอเดียมาจากภาพกากใบชาราคาค่อนข้างสูงที่ตนเห็นว่าต้องทิ้งลงถังขยะทุกวัน ไม่อยากทิ้งให้สูญเปล่า อยากหาวิธีนำกลับมาทำประโยชน์ใหม่ให้สถานประกอบการ จึงใช้ความรู้และทักษะการคิดสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการ Design Thinking จากวิชา Capstone Project มาออกแบบจนถึงคำนวณต้นทุนราคาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้สถานประกอบการ

คุณพรวรัชญ์ อุบลบาล HR บริษัท SY Electric (Thailand) กล่าวถึงนางสาววิลาสินี ศรีพันธ์ นักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ และโครงงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะทางอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำ Scrap BOI บริษัท SY Electric (Thailand) Co.,Ltd” ว่า นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถมาสร้างประโยชน์ให้บริษัท ทั้งในด้านการลดต้นทุน การปรับปรุงระบบการทำงานส่วนที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญ ให้ความรู้ในการจัดการขยะแก่บุคลากรในบริษัทได้ดีมาก


คุณชูชาติ สันติธรรมคต ผู้จัดการสำนักบริหารกลยุทธ์ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัดที่ปรึกษา CWIE ในสถานประกอบการ ของ นายวิษณุ ขำอรุณ จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงโครงงาน “การจัดทำแผนบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ปี พ.ศ. 2567” ว่า “สิ่งที่น่าสนใจสุดคือ นักศึกษาเสนอโครงงานที่ทำให้การรักษาความสัมพันธ์กับชุมชนมีต้นแบบ กลายเป็น standard protocol ที่สามารถถ่ายทอดได้ และตรงนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้ทั้งโรงงานและชุมชน”

คุณพัชรพร เพ็ชรประพันธ์กุล Quality Standard Auditor บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด หรือ บางกอกแอร์เวย์ส ที่ปรึกษา CWIE ในสถานประกอบการ ของนางสาววาเลนดา เหลาคำ จากวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน เจ้าของโครงงาน ให้ความเห็นว่า “โครงการ CWIE ดีอยู่แล้ว ที่ทำให้เด็กได้ใช้องค์ความรู้มาคิด เรียนรู้จากบริษัทแล้วต่อยอดเป็นความรู้ เป็นโครงงานของตนเอง ตอนนี้บริษัทตั้งตารอนักศึกษา CWIE ของ DPU รุ่นถัดไป”

คุณสุทัตตะ ศรีโพธิ์ทองนาค CEO บริษัท Wear Anywhere Limited ที่ปรึกษา CWIE ในสถานประกอบการ ของนางสาวสุธาศิณี ชื่นอยู่ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า จุดเด่นของ CWIE คือการเข้าไปมีประสบการณ์ออกแบบแฟชั่นในสถานประกอบการ ซึ่งไม่ใช่เพียงโอกาสลงมือปฏิบัติ แต่นักศึกษาจะได้มุมมองที่กว้างขวางว่าโลกของแฟชั่นครอบคลุมอยู่ในธุรกิจที่หลากหลาย ตนเองยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตร โดยพร้อมถ่ายทอดส่งต่อความรู้สดใหม่ พร้อมความมั่นใจจากมืออาชีพให้นักศึกษา


ดร.สิริลักษณ์ หุ่นศรีงาม ผลพานิช ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่ง มีนโยบายสร้างประสบการณ์ทำงานให้นักศึกษาผ่านรายวิชา CWIE แต่จะได้สมบูรณ์แค่ไหน ขึ้นอยู่กับฝีมือ และ connection ของแต่ละมหาวิทยาลัย ภาพของ DPU CWIE คือภาพโซ่ที่เชื่อมภาคการศึกษาเข้ากับภาคธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าจะปรับทิศไปทางไหน ทุกหลักสูตรของเราก็จะเชื่อมพานักศึกษาไปทางนั้น และไปทันก่อนถึงวันทำงานจริง เราไม่ปล่อยให้นักศึกษาว้าเหว่ เพราะกระบวนงานที่มีมาตรฐานของเรากำหนดให้มีทั้งพี่เลี้ยงในสถานประกอบการและอาจารย์ที่ผ่านการอบรมคอยดูแลตลอดระยะเวลา ไม่มีสถานประกอบการไหนอยากเสียหาย ดังนั้น กระบวนการ CWIE ทุกขั้นตอนต้องวางแผนให้รัดกุมและวิน-วิน ทุกฝ่าย ผลลัพธ์ที่ได้คือประสบการณ์ที่คุ้มค่า ให้นักศึกษาตอบตัวเองได้ว่า ทำงานได้จริงหรือไม่ งานนี้ใช่หรือไม่ และชอบหรือไม่ คนที่พบว่าไม่ใช่ก็จะได้ออกแบบเส้นทางอื่นที่เป็นไปได้ก่อนไปสมัครงาน แต่ที่ดีกว่าและเป็นส่วนใหญ่ก็คือคนที่เจอว่าทำได้ มั่นใจ ใช่และชอบ แล้วได้งานเลยทันที สถานประกอบการนั้นๆ ก็ได้บุคลากรที่พึงพอใจทันที นี่คือกำไรที่ทุกฝ่ายได้จาก CWIE

“ขอบคุณสถานประกอบการทุกแห่งที่ให้ความอนุเคราะห์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานอย่างเต็มกำลัง หวังใจว่ากิจกรรมในวันนี้จะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาบัณฑิตให้พร้อมทำงาน มีประสบการณ์อย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นกำลังคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้ประเทศชาติ สมดังปณิธานและวิสัยทัศน์ของเรา” ผศ.นงค์นุช ศรีธนาอนันต์ ผู้ช่วยรองอธิการบดี สำนักมาตรฐานและบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น