ดร.ก้อย-กุลชยา เต็มชวาลา อดีตผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มสตรี ชี้ กว่าจะได้ปริญญาเอกของจริง พิมพ์ดุษฎีนิพนธ์ วิจัยก่อนจบเลือดตาแทบกระเด็น ไม่ได้วัดแค่ความเก่งแต่ต้องอดทนขั้นสุด แถมยังต้องแบกความรับผิดชอบ ระบุถึงเวลาเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยจริงจัง
วันนี้ (16 ก.ค.) ดร.กุลชยา เต็มชวาลา หรือ ดร.ก้อย อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 14 (กลุ่มสตรี) และนักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ "ดรามาเรื่องวุฒิปริญญาเอกเสกได้ ยังไม่จบง่ายๆ" ระบุว่า "เอาล่ะ ใครคิดว่าการเป็นดอกเตอร์ (ดร.) นั้นสามารถเสกได้ ก็อาจจะจริงสำหรับแนวคิด จ่ายครบจบแน่ ในหลายๆ กรณี
สำหรับกรณีนี้ อยากแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว (ย้ำว่าความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ไม่กระทบชีวิตจริงของใคร)
การเรียนปริญญาเอก (ป.เอก) จนจบได้คำนำหน้าชื่อว่าเป็นดอกเตอร์ อาจจะเป็นความฝัน (หรือความอยากของหลายคน) บางคนก็ฟันฝ่าจนได้มาประดับหน้าชื่อ บางคนอาจจะพยายามจนเลือดตาแทบกระเด็น จากการพิมพ์ดุษฎีนิพนธ์ กว่าจะได้มาซึ่งศักดิ์และสิทธิ์บนใบปริญญา
คำถามที่สังคมปัญญาชนถกเถียงกันในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาหรือยัง สำหรับการศึกษาในประเทศไทยที่ควรได้รับการ review หรือปฏิรูปกันจริงๆ จังๆ สักที
ไม่ผิดอะไรเลยที่ใครจะจบการศึกษาแล้วใช้คำนำหน้าชื่อแบบไหน เพราะมันมาจากผลลัพธ์จากความเพียรมาตลอดชีวิตการศึกษา (นับตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาสูงสุดรวมๆ กันก็เกือบครึ่งชีวิต) หรือแม้กระทั่งไม่จบอะไรเลยก็ยังมีเกียรติในวิชาชีพ มากเกินกว่าการใช้ "วุฒิปลอม" หรือ "ปริญญาซื้อมา" เพื่อให้ได้คำนำหน้าชื่อ
บนความเก๋โก้หรูที่มี "ดีกรี" นำหน้า มันก็ตามมาด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ต่อสถาบันที่จบมา และต่อใบปริญญาที่ได้รับ
เพราะมันไม่ใช่แค่นั่งเรียน แล้วจบ และมันคือการอดทนต่อความเบื่อขั้นสุด!!
"ขันติบารมี" ที่ได้บำเพ็ญต่อเนื่องจากการทำดุษฎีนิพนธ์ (ง่ายๆ คือวิจัยก่อนจบ)
ความหนาเกือบ 500 หน้าอาจไม่ใช่อุปสรรค (หากว่าคุณรู้เรื่องที่ทำนั้นเป็นอย่างดี)
และความแปลเป็น Eng (ภาษาอังกฤษ) จนได้รับการยอมรับ จนได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติต่างหากที่เป็นมาตรวัดความสามารถที่แท้จริง
ใครเคยนั่งรถจากเหนือลงใต้ ตะวันออกไปตะวันตก ไปอีสาน จะเข้าใจความมุ่งมั่น ความสาหัส ความอดทนของ "มนุษย์แม่" แบบก้อยที่หอบหิ้วคีน (บุตรชายของ ดร.กุลชยา) ที่ยังกิน "นมแม่" ไปเก็บข้อมูลทุกจังหวัดได้พอสังเขป
ก้อยไม่ได้เก่งกว่าใครบนโลกใบนี้เลย และตรงข้าม ก้อยเคารพและให้เครดิตทุกคนที่ผ่านความสาหัสในรูปแบบที่ต่างกันออกไป เพื่อได้มาซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ของใบปริญญา
คนจบดอกเตอร์เขาไม่ได้ดูว่าใครเก่งอะไรนักหรอก เขาชื่นชมกันที่ความอึดความอดทนกับการเหนื่อยยากแสนสาหัสนั่นต่างหาก
อย่างที่ดอกเตอร์ "ตัวจริง" หลายคนบอกนั่นแหละค่ะ ว่าปริญญาเอกน่ะไม่ได้วัดกันที่ความรู้ เพราะเขาวัดกันที่ความอึด อดทน กับแรงกดดัน กับการเผชิญ การยอมรับความเห็น การอ่อนน้อมถ่อมตน การไม่โอ้อวดความรู้ เพราะยิ่งเรียนก็ยิ่งไม่รู้
การจบจนมีดีกรีนำหน้า นั่นหมายถึงความถึก ความกล้า (ที่จะไม่เถียง) ในความไม่รู้ของตัวเอง และยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ยอมรับพื้นที่ในความรู้ให้ขยายมากขึ้นหรือลึกลงกว่าเดิม
อย่าอ้างว่าจบ ป.เอก และไม่มีผลงานวิจัย (Search ชื่อก็เจอในฐานข้อมูลแล้ว) ไม่ต้องเชื่อและพิสูจน์ด้วยตัวเอง
ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง "ระบบการศึกษา" ในประเทศไทย กันจริงๆ จังๆ สักทีแล้วหรือยังคะ?"