เปิดเบื้องหลังคดีโกงหุ้น STARK มหกรรมต้มตุ๋นครั้งใหญ่ที่สุดในวงการตลาดหุ้นไทย สร้างความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท มีนักลงทุนผู้ตกเป็นเหยื่อเกือบ 5 พันคน และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับเบอร์ 2 อาเซียนอย่าง ปตท.ก็เกือบตกเป้นเหยื่อ เมื่อ “แก๊งสวาปาล์ม” ชงบอร์ให้ซื้อหุ้น STARK ราว 6 พันล้านบาทเมื่อปี 64 เดชะบุญที่กรรมการคนหนึ่งเห็นพิรุธ จึงคัดค้านจนเรื่องตกไป
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึง คดีทุจริตมูลค่ามหาศาลของ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นทั้งบุคคล และกองทุนที่น่าเชื่อถือ มีมูลค่าระดับหมื่นล้านบาท และบริษัทอยู่ใน SET100 ซึ่งแปลว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่สุดเป็น 100 บริษัทแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเคยมีมูลค่าสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาท แต่ในวันนี้กลับถูกพบว่า ทุจริต และทำให้มูลค่าหายไปจนแทบไม่เหลืออะไร
วันเสาร์ที่แล้ว วันที่ 22 มิถุนายน 2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เดินทางไปถึงนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ต่อมาใน วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 อัยการได้ส่งฟ้องนายชนินทร์แล้ว และนายชนินทร์ไม่ประสงค์จะขอประกันตัว โดยจะขอต่อสู้คดีในชั้นศาล
ทั้งนี้ นายชนินทร์ ถือเป็นตัวการสำคัญในคดีฉ้อโกงหุ้น STARK
สำหรับ กรณีการฉ้อโกงบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้นถือเป็นมหากาพย์ของคดีอื้อฉาวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมายืดเยื้อยาวนาน
กระทั่งเมื่อช่วงปลายปี 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมสอบสวสนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งดำเนินการกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้ มีผู้เสียหาย 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 14,778 ล้านบาท
จนสุดท้ายดีเอสไอ มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 11 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
พร้อมกันนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พบมีการนำเงินจำนวนนับหมื่นล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าว
คดีโกง STARK เขย่า “ตลาดทุนไทย” ทั้งตลาด!
จุดเริ่มต้นของบริษัท STARK นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เมื่อบริษัท Phelps Dodge บริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกัน ตัดสินใจขายธุรกิจในไทยที่ประสบปัญหา
โดยผู้ที่มารับซื้อต่อก็คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ด้วยมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท
แล้วทำไมทายาท TOA ถึงเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตสายไฟฟ้า ?
เบื้องหลังของดีลนี้ มีผู้ช่วยคนสำคัญคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท ที่มีประสบการณ์ในการเข้าซื้อกิจการ คอยช่วยเหลือนายวนรัชต์ ในการเดินเกมทางธุรกิจ โดยแต่เดิมนั้นธุรกิจของ Phelps Dodge ในไทย ประสบปัญหาขาดทุน แต่หลังจากที่นายวนรัชต์ เข้าไปซื้อกิจการได้เพียงไม่กี่ปี บริษัทก็เริ่มพลิกกลับมามีกำไร
จนในปี 2562 หรือเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน นายวนรัชต์ก็ได้ตัดสินใจนำ Phelps Dodge เข้าตลาดหุ้นไทย แต่ไม่ใช่การเข้าด้วยการ IPO แต่จะเป็นการเข้าตลาดหุ้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Reverse Takeover หรืออีกคำหนึ่งที่อาจจะคุ้นหูกว่านั้น ก็คือ Backdoor Listing แปลเป็นไทยตรงตัวเลย คือ การเข้าทางประตูหลัง
สำหรับ Backdoor Listing เป็นการนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้น ด้วยการให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้น โดยในกรณีของ STARK บริษัทที่เป็นตัวตั้งต้นก็คือ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ซึ่งเป็นบริษัทไม่มีความเคลื่อนไหวเลยมาหลายปีแล้ว คือคนที่รู้เรื่องนี้ดี คือนายบรรยง พงษ์พานิช หรือที่ในวงการไฟแนนซ์เขาเรียกว่า "เต่า" อดีตเป็น FA (Financial Advisor) ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ
เข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ กลุ่มนายวนรัชต์ก็ขายกิจการเดิมออกไป
หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ กลุ่มของนายวนรัชต์ ก็จัดการขายกิจการเดิมของบริษัท SMM ออกไป และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท STARK แทน
คดีมหากาพย์การฉ้อโกง STARKถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับตลาดทุนไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และ การสร้างกลไกป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยในระยะยาว
เสียหายกว่า 3 หมื่นล้าน
เดือนมิถุนายน 2566 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าความเสียหายโดแบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่พบในงบการเงินของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) รวมกว่า 21,500 ล้านบาทนอกเหนือจากการผิดนัดการชำระหนี้หุ้นกู้อีก 9,200 ล้านบาทซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนในตลาดทุนอย่างมหาศาล
ทั้งนี้คดี STARK ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับตลาดทุนไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และ การสร้างกลไกป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยในระยะยาว
กรณีของ STARK ไม่เพียงแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ อดีตผู้บริหาร จะร่วมกันฉ้อโกงตกแต่งบัญชี โกงนักลงทุน จนเกิดความเสียหายมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท มีผู้เสียหายอย่างน้อย 4,700 กว่าคนเท่านั้น
แต่ บริษัท ปตท. บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียนในปี 2567 นี้จากการจัดอันดับล่าสุดของนิตยสาร Forune ก็เกือบจะเป็นเหยื่อ โดนหลอกให้ลงทุนในหุ้น STARK ไปด้วยเดชะบุญ โชคยังดีตอนนั้นที่มีคนคัดค้านเอาไว้
ว่ากันว่า กลุ่มคนที่พยายามจะให้ ปตท. ไปถือหุ้น STARK เป็นกลุ่มคนในขบวนการเดียวกันกับ แก๊งสวาปาล์ม ที่รายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เคยกระชากหน้ากากไป
คนกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย นักการเมืองใหญ่ระดับรัฐมนตรี เลขาคนใกล้ชิด อดีตผู้บริหาร ปตท.ที่เกษียณอายุออกไปแต่ทำตัวเป็นมาเฟียใหญ่ที่วางตัวคนสืบทอดอำนาจตัวเองครอบงำใน ปตท. มาหลายยุคหลายสมัย
คนกลุ่มนี้หากินแสวงหาประโยชน์จากโครงการของ ปตท. ที่ทำความเสียหายให้ ปตท. กว่า 2 หมื่นล้าน อย่างเช่น ทุจริตโครงการปลูกปาล์มที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคดีใหญ่ไปที่ ป.ป.ช. แต่วันนี้ยังเงียบกริบ เพราะ วิ่งเต้นคดีช่วยเหลือกัน
นอกจากนี้ขบวนการนี้ยังมีส่วนพัวพันกับ คดีสต็อกน้ำมันปาล์มล่องหนของบริษัทในเครือ ปตท.เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท และ ยังพัวพันกับคดีบริษัทเอิร์ทสร้างโครงการเหมืองถ่านหินอินโดฯ ทิพย์หลอกกู้เงินแบงก์กรุงไทย
เมื่อทำมาหากินกับ ปตท.จนฝังรากลึกมานาน ย้อนไป ปี 2564 ตอนที่ STARK เป็นหุ้นดาวรุ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มขบวนการสวาปาล์มก็เห็นช่อง คิดการจะกินสองต่อ ทั้งเงินทอนจากดีล และ ราคาหุ้นที่แอบซื้อดักไว้ก่อน
เพราะถ้า ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนถือหุ้น แน่นอนราคาหุ้นกระฉูดแน่
ขบวนการจึงให้คนของตัวเองในฝ่ายปฎิบัติการภายใน ปตท. เตรียมการดัน STARK ใส่พานจะให้ บอร์ด ปตท.อนุมัติเงินก้อนใหญ่ร่วมลงทุน โดยจะยื่นข้อเสนอให้ ปตท. ซื้อหุ้นใหญ่จากผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท
ชงกันมาอย่างดีว่าบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัดเป็นองค์กรเอกชนระดับโลก ที่มุ่งลงทุนในธุรกิจด้านการผลิต และการให้บริการภาคอุตสาหกรรม อย่างครบวงจร โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสายไฟฟ้า ที่ตรงกับทิศทางธุรกิจของ ปตท.ขณะนั้นกำลังมุ่งไปสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าพอดี
ทว่า ตามขั้นตอนของการนำเสนอโครงการเข้าบอร์ด ปตท.จะต้องผ่านคณะกรรมการความเสี่ยง ซึ่งบังเอิญมีกรรมการที่ตรงไปตรงมา เอะใจเห็นว่าหุ้น STARK เคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ ภาษานักลงทุนหุ้นเขาเรียกว่า Front run มีคนเอาข้อมูลอินไซต์ว่า ปตท.กำลังจะเข้าซื้อหุ้น STARK ไปไล่ซื้อหุ้น จึงเสนอความเห็นคัดค้านเรื่องนี้ให้บอร์ด
ว่ากันว่า บอร์ด ปตท.ในช่วงนั้นถกเถียงกันอย่างหนัก ฝ่ายที่จะพยายามผลักดันให้ได้ก็ยกแม่น้ำมามากกว่าห้าร้อยสายเรียกว่าจะเอาให้ได้ เพราะแอบไปตกลงกันแล้ว แถมจะฟันส่วนต่างราคาหุ้นในตลาดอีก ส่วนใครถือเข้าบอร์ด ใครสนับสนุนในบอร์ด ก็คงต้องไปถามบอร์ด และอดีตผู้ว่าฯ ปตท.สมัยที่แล้วกันเอาเอง
แต่สุดท้ายบอร์ดปัดวาระนี้ตกไป ถือเป็นการเซฟเงิน เชฟความเสียหายครั้งใหญ่ให้ ปตท.จากแก๊งพวกนี้อีกครั้ง
เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมามา STARK ก็ออกลายกลายเป็นหุ้นเน่า และ ผู้ถือหุ้นและอดีตผู้บริหารถูกจับได้ว่าฉ้อโกงบริษัท นักลงทุนหุ้น จนเป็นปัจจัยหนึ่งให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเละตุ้มเป๊ะอยู่ถึงทุกวันนี้.