xs
xsm
sm
md
lg

กระชากหน้ากากแก๊งสวาปา(ล์)ม ปตท. อดีตผู้บริหาร-คนในรวมหัวเครือข่ายนักการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดขบวนการสวาปาม ปตท.ภาค 2 โครงการปลูกปาล์มอินโดฯ เสียหาย 2 หมื่นล้าน “เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ” ทำเหมืองถ่านหินทิพย์-สร้างสต๊อกทิพย์ หลอกกู้เงินกรุงไทยหนี้สูญกว่า 1 หมื่นล้าน และเกือบล็อบบี้ให้ ปตท.ซื้อหุ้นสตาร์คได้สำเร็จ ทั้งหมดมีเครือข่ายอดีตนักการเมืองใหญ่ อดีตบิ๊ก ปตท.อยู่เบื้องหลัง สมคบกับคนภายในองค์กรร่วมกันหาประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของ ปตท.ด้วยรูปแบบเดียวกันคือปั่นทุกอย่างแล้วเอามาหลอกอนุมัติเงิน



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปิดโปงขบวนการทุจริตใน ปตท.เป็นตอนที่ 2 ต่อเนื่องจากที่เคยเปิดโปงในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ Ep.196 วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีเครือข่ายอดีตนักการเมืองใหญ่ , อดีต บิ๊ก ปตท. และพวก สมคบกับคนภายในองค์กร ร่วมกันหาประโยชน์จากโครงการของ ปตท. และ บริษัทในเครือ เช่น

โครงการปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งต้องถือเป็นคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาว อภิมหาโคตรโกงคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ ปตท. องค์กรใหญ่ที่อยู่มา 45 ปีแล้ว มีมูลค่าหลายแสนล้าน อีกทั้ง เชิดชูนโยบาย “ธรรมาภิบาล” มาตลอด

รวมไปถึงคนกลุ่มเหล่านี้ยังเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับ คดีสต็อกน้ำมันปาล์มทิพย์ของ GGC บริษัทลูกของ GC ในเครือปตท. ที่ก่อความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

อีกทั้งคนกลุ่มเดียวกันนี้ ยังอยู่เบื้องหลัง สบคบกันฮั้วราคาน้ำมันไบโอดีเซล B100 ที่ส่งขายให้ OR ซึ่ง มีข้อมูลว่า คนกลุ่มนี้เรียกรับค่าต๋ง 25 สตางค์ต่อลิตร แต่ละล็อตได้กันเท่าไหร่ ไม่รู้ทำกันมานานแค่ไหน ได้ผลประโยชน์กันไปเท่าไหร่ รู้แต่ว่า พอถูกทำให้ฮั้วแตก ล็อตเดียว OR ประหยัดไปได้ 400 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น แก๊งนี้นอกจากจะมีพฤติกรรมตะกละตะกลามสวาปามที่ ปตท. ไม่พอ เครือข่ายขบวนการนี้ยังไปพันพันกับคดีปล่อยกู้ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ทำให้แบงก์กรุงไทยเสียหายกว่า 10,500 ล้านบาท

ซึ่งตอนนี้จะมาถลกหนัง ฉีกหน้ากาก คนพวกนี้กันทีละเรื่อง

จากคดีปาล์มอินโดฯ–สต็อกทิพย์ GGC–ฮั้วราคาน้ำมัน B100 (หรือ ไบโอดีเซล 100%) มาถึงคดีเอิร์ธ-กรุงไทย จะเห็นได้เลยว่า เป็นฝีมือของคนกลุ่มเดียวกัน รูปแบบการวางแผนเพื่อเข้าหาผลประโยชน์จาก ปตท.และ บริษัทในเครือ และ กรุงไทย ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน

กล่าวคือ ใช้คนภายนอกสมคบกันคนภายใน อาศัยบารมีของอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.เป็นตัวเชื่อม และบงการเกม โดยหัวใจสำคัญ คือ ปั่นมันทุกอย่าง ทั้งไม่มีอยู่จริง หรือ ทิพย์ และ ไม่ตรงปก! เอามาหลอกทั้ง ปตท.-แบงก์กรุงไทย
  • ปตท.ซื้อสวนปาล์มแต่ที่ดินปลูกไม่ได้ มีปัญหาติดป่าสงวน ทำการเกษรไม่ได้
  • คดี บ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด กู้เงินกรุงไทย ซื้อเหมือง แต่ไม่มีเหมือง ซื้อถ่านหินนำเข้า แต่ได้ “ถ่านหินทิพย์”
  • GGC จ่ายค่าน้ำมันปาล์มแต่สิ่งที่ได้คือ สต๊อกทิพย์
  • กรณี ให้ บริษัท OR ในเครือ ปตท. ซื้อ น้ำมันไบโอดีเซล B100 ของล้นตลาดแต่นายหน้ากินหัวคิว และ OR จ่ายแพงเกินจริง



คดีปาล์มอินโดฯ ปตท.สูญเงิน 2 หมื่นล้าน

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ตั้งเรื่องไต่สวน อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในคดีบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTTGE บริษัทลูกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถูกกล่าวหาว่า ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่พบความไม่ชอบมาพากลในการลงทุน และ มีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวม ๆ แล้ว ปตท.เสียหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเสนอเรื่องตั้งไต่สวน อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รายนี้ ในคดีลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม เป็นเพราะ

1.จากการสอบสวนข้อมูลเชิงลึก พบว่า อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท. รายนี้ มีส่วนร่วมในการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ปตท. วาระลับ พิจารณาอนุมัติลงทุนโครงการ PT. Az Zhara ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติจำนวนสิทธิในที่ดินปลูกปาล์ม 117,500 เฮกตาร์ วงเงิน 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นวงเงินสูงเกินจริง

2.นอกจากนี้ อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ยังยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ปตท. ร่วมเดินทางไปงานเปิดสำนักงาน บริษัท PTTGE ประเทศ อินโดนีเซีย และเดินทางไปดูโครงการปลูกปาล์มหลายครั้ง โดย ปตท. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด

ตามรายงานข่าวมีรายละเอียดเพียงเท่านี้ ซึ่งนำมาซึ่งความสงสัยกันว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. คนนี้เป็นใคร ? ทำไมมีอิทธิพลบารมีถึงขนาดครอบงำบอร์ด เสนอวาระลับ เข้ามาให้บอร์ด ปตท. พิจารณาเรื่องแบบนี้ได้

ขณะเดียวกัน ยังพา “คนนอก” บินไปอินโดฯ หลายครั้ง โดย ปตท. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด คนนอกคนนี้ที่ว่า เป็นใคร?

ทีมงาน “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ได้ไปสืบค้นมาแล้ว นี่เป็นภาพที่จะให้คำตอบ

ข้อมูลการเดินทางช่วงปี 2550-2551 ที่นายธนกร นันที ร่วมเดินทางไปกับคณะผู้บริหาร ปตท. และผู้ที่ถูกกล่าวหากับ ป.ป.ช. เช่นนาง แนนซี มาตาซุตะ

ภาพนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นั่งเครื่องบินเจ็ท ไปทริปดูงานเรื่องโครงการปาล์มที่ ประเทศอินโดนีเซีย

(จากซ้ายไปขวา) นายธนกร, นายประเสริฐ และนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา
จากภาพ จะเห็นถึงความสัมพันธ์อันไม่ธรรมดา ระหว่างอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ก็คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.และอดีตประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล กับ คนนอกซึ่งก็คือ นายธนกร นันที นั่นเอง

อย่างที่เคยบอก นายธนกร นันที นั้นเป็นอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านี้เคยเป็น ผอ.พรรคชาติพัฒนา และ เคยเป็น อดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เมื่อปี 2548 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ 2 ด้วย

นายธนกร ยังมีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกับ นางธนิภา พวงจำปา คู่สมรสของนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณี “ร่ำรวยผิดปกติ” ให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน และ ไล่ออก

นายประหยัด และ นางธนิภา พวงจำปา
บทบาทของคนนอกอย่างนายธนกรก็คือนายหน้า ร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.ก็คือ นายประเสริฐ

เวลาบินไปอินโดฯ นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวไปกัน ไม่ต้องประหลาดใจวิถีชีวิตคนพวกนี้ “บินหรู อยู่อย่างราชา” เพราะค่าใช้จ่ายไม่ได้ออกเอง เป็น ปตท.ควักจ่ายให้หมด

นายธนกร นันที
นายธนกร คนนี้ยังเป็น
  • นายหน้าเหมืองอินโดฯ ใน กรณีอื้อฉาวเรื่อง “เอิร์ธ-กรุงไทย” ทำงานประสานกับ อดีตผู้บริหารระดับสูงของกรุงไทย และ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
  • กรณีสต็อกทิพย์ GGC ก็ร่วมมือกับ ผู้บริหารระดับสูงของ GGC คนในที่ตกเป็นผู้ต้องหา
  • ขณะขบวนการฮั้ว B100 ให้ OR ซื้อแพงก็เป็นผู้มีบารมีครอบงำผู้บริหารปตท.สั่งการให้ผู้มีอำนาจในการรับซื้อของ OR ซื้อจากนายธนกรและพวก
ทั้งหมดนี้ต้องตั้งคำถามกับนายธนกรที่ส่งโนติส มาถึงรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ ให้หยุดขุดคุ้ยว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ ?

Notice จากทนายของนายธนกร นันที
คำแก้ตัวง่าย ๆ หรือ คำให้การกับ ป.ป.ช.ของคนกลุ่มนี้ คือ ปฎิเสธว่า “ไม่รู้จักกัน”

“ธนกร” ปฎิเสธว่า ไม่รู้จักกับ “ประเสริฐ” และ “ประเสริฐ” ก็ปฎิเสธว่า ไม่รู้จัก “ธนกร” แต่ภาพนี้คืออะไร ?

(จากซ้ายไปขวา) นาย Burhan, นายธนกร และนายนิพิฐ
อธิบายภาพ 3 คนนั่ง :คนเหล่านี้ชอบปฏิเสธว่า ไม่รู้จักกัน นายนิพิฐ คนดูแลโครงการปาล์มที่อินโดฯ บอกว่าไม่รู้จักนายธนกร นายธนกรก็บอกว่าไม่รู้จักนายนิพิฐ

ภาพนี้นั่งอยู่ด้วย คุยกัน นี่หรือคือไม่รู้จักกัน?? ส่วนคนซ้ายสุดที่เห็นนั่งด้วยนี้ คือ Mr.Burhan ดังนั้น ทั้ง นายธนกร และ นายนิพิฐ อย่าบอกว่าไม่รู้จักละ โดยสำหรับ Mr.Burhan คนนี้ก็คือนายใหญ่ตำแหน่ง President Director ของบริษัทที่ร่วมทุนกับ ปตท. ทำปาล์มอินโด

เริ่มต้นเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2552 คุยกับนิพิฐ President PTT Green Energy และนางแนนซี่

นางแนนซี่ มาตาชุตะ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวโทษโดย ป.ป.ช. ในคดีทุจริตปาล์มอินโดฯ - นายธนกร นันที
ต่อมาใน เดือนธันวาคม 2552 ก็มาคุยต่อที่เมืองไทยเพื่อเจรจาการร่วมทุนแต่นายนิพิฐ บอกกับ นาย Burhan ว่า ต้องไปเจอนายธนกรก่อนเขาถึงจะคุยได้

ต่อมาในการพบกันทั้งในกรุงเทพฯ และอินโดนีเซีย ที่จัดการโดย นางแนนซี่ นายธนกร จะมาร่วมประชุมตลอดไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหาร การพบกับผู้บริหารของ ปตท. และการไปเยี่ยมสถานที่ (Site) ที่อินโดนีเซีย

เขายังบอกอีกว่าโครงการนี้ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารในการทำธุรกิจปลูกปาล์มหรือ HGU เขาเสนอราคาที่ 1,000 เหรียญต่อเฮกตาร์ แต่นายนิพิฐบอกให้เพิ่มราคาเพื่อต่อรองสุดท้าย จนกลายเป็น 1,325 เหรียญต่อเฮกตาร์


เนื่องจากบริษัทร่วมทุนนี้ปตทถือหุ้น 75% ปตท จึงต้องจ่าย = 1,325 × 0.75
= 993.75 เหรียญต่อเฮกตาร์ ซึ่งบริษัทของเขาได้รับ 750 เหรียญและแบ่ง นายธนกร 243.75 เหรียญต่อเฮกตาร์

นี่เป็นเรื่องที่เราไม่ได้กล่าวลอย ๆ ขึ้นมาเอง หากเป็นคำบอกเล่าจากปากของ นาย Burhan ส่งมาให้ที่ ปตท. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 หรือ 10 ปีที่แล้ว (ดังเอกสารด้านล่าง)










ภาพเหล่านี้ เป็นภาพทริปที่ไปดูโครงการปาล์มอินโดฯ ของผู้บริหาร ปตท. และคนนอกซึ่งตัวละครที่กล่าวมาล้วนอยู่ในภาพเหล่านี้ ที่ว่านั่งเครื่องบินเจ็ตไปด้วยกัน อยู่ในเฟรมใกล้ชิดกัน และ พวกผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่นกลุ่มก๊วนของ นางแนนซี่ มาตาชุตะ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวโทษโดย ป.ป.ช. ในคดีทุจริตปาล์มอินโดฯ ที่เป็นคดีอยู่กับ กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ นายธนกร นันที , นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตผู้บริหาร ปตท. ที่ถูกส่งไปดูโครงการที่อินโดฯ ร่วมพบปะพูดคุยกันทั้งหลาย

ถามว่า ใกล้ชิดกันสนิทสนมกันตามภาพเหล่านี้ นี่หรือคือคนที่ไม่รู้จักกัน??

กล่าวถึง อดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ที่อยู่ในภาพ เขาคือคนที่ว่ากันว่าเป็นคีย์แมนของโครงการปาล์มอินโดฯ และ เป็นคนที่ ป.ป.ช.ตามหามาไต่สวนมานาน

ว่ากันว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท. รายนี้ เป็นบุคคลสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง PTT.GE. บริษัทลูก และ ปตท. ซึ่งทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นคนอยู่เบื้องหลังทั้งหมด

ถามว่า ป.ป.ช.มีข้อมูลหรือไม่ ตอบว่า รู้ทั้งรู้ แต่ทำอะไรไม่ได้สักที หรือจะเป็นเพราะ ผู้บริหารระดับสูงคนนี้ “แขวนพระรอด” อาศัยล็อบบี้เก่งก็ไม่อาจทราบได้ เขาเป็น “คนที่ 14” ที่ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนชี้มูลความผิด
ทำให้จนแล้วจนรอด ป.ป.ช.ก็ตั้งไต่สวนได้แค่ “13 คน” ไม่ถึง“คนที่ 14”สักที

เชื่อหรือไม่ว่า สำนักงาน ป.ป.ช.พยายามเสนอตั้งเรื่องให้ไต่สวนอดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท. รายนี้ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถึง 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2565

แต่ละครั้งก็โดนตีเรื่องตกไปด้วยเหตุผลว่า หลักฐานไม่เพียงพอให้ไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพิ่งมาสำเร็จเอาครั้งที่ 5 ในการประชุมเมื่อตอนต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมานี้เอง

อาศัยว่า คณะกรรมการบางคนพ้นจากวาระ กำลังภายในที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอดีตผู้บริหาร ปตท.รายนี้อ่อนกำลังลง เขาจึงชงเรื่องขึ้นมาใหม่แต่ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยจำนวนเสียง 3 ต่อ 3 เสียง จวนอยู่เจียนไปว่าจะตกไปอีก แต่สุดท้ายเป็น พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องลงคะแนนชี้ขาดให้ตั้งไต่สวนได้


นั่นหมายความว่า หลังจากนี้ กรรมการไต่สวนคดีนี้จะสามารถเข้าไปตรวจสอบ อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท ปตท. รายนี้ได้เป็นทางการ

ที่ผ่านมา นายประเสริฐ วิ่งล็อบบี้ไม่ให้ ป.ป.ช.ตั้งเรื่อง โดยที่ ข้อต่อสู้ของประเสริฐก็คือ ปฎิเสธว่า ไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมกับนายธนกร และ กลุ่มผู้ถูกกล่าวหา แต่ภาพถ่ายทีเป็นหลักฐานว่า คนทั้งสองบินไปอินโดฯ ด้วยกัน อยู่ด้วยกันที่เราเอามาโชว์นี้หมายความว่าอย่างไร?

อย่างที่บอกไว้แล้ว วิญญูชนทั่วไปสามารถพิเคราะห์ได้ด้วยตัวเองว่า จริงอย่างที่ ประเสริฐ และ ธนกร บอกกับ ป.ป.ช.ว่าไม่รู้จักกันจริงหรือ?

ประเด็นสำคัญคือ กว่า ป.ป.ช.จะเอาประเสริฐ เข้ามาเป็น 1 ใน 14 รายที่ต้องถูกไต่สวนในคดีนี้ได้ ระหว่างที่เรื่องยื้ดเยื้อก็มีเหตุการณ์ที่ชวนสงสัย ทีมงานรู้มาว่า เอกสารสำคัญที่ ป.ป.ช.ขอไป ปรากฏว่า ได้รับแจ้งจาก ปตท.ว่า เอกสารที่ ป.ป.ช.ต้องการนั้น “ไม่มี” เพราะ ได้อันตรธานหายไปแล้ว !?!

นี่ยังไม่นับรวมกับ เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีเหตุจู่ ๆ อาคารที่เก็บเอกสารสำคัญเกิดเพลิงไหม้เป็นปริศนาหาสาเหตุไม่ได้ เรื่องมันน่าสงสัยเหลือเกิน ว่า เกี่ยวข้องกับคดีปาล์มอินโดฯหรือไม่?

เหตุการณ์มันช่างประจวบเหมาะกันอย่างน่าเหลือเชื่อ !!!

กรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในชั้น 33 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (EnCo) อาคาร A ถ.วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2565
เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หลอกทำเหมืองทิพย์ กรุงไทยหนี้สูญกว่า 1 หมื่นล้าน

คดีต่อมาคดีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ทำให้ธนาคารกรุงไทย ได้รับความเสียหายเป็น “หนี้สูญ” สูงถึง 10,500 ล้านบาท

พบว่า กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาผลประโยชน์เป็นขบวนการเดียวกันกับคดีสวาปาม ปาล์มอินโดฯ 22,000 ล้านของ ปตท.อย่างไม่น่าเชื่อ

พฤติกรรมการฉ้อฉลแทบจะก๊อปปี้กันมา กล่าวคือ มีคนภายนอกสมคบคิดกับคนภายใน จากนั้นก็ปั้นแต่งโครงการ-เอกสารสวยหรูดูแพง ผลักดันเข้าแบงก์เพื่อขอสินเชื่อ โดยที่พื้นฐานของการทำธุรกิจไม่มีอยู่จริง

ที่ไปที่มาของคดีนี้“เอิร์ธ” นั้นเริ่มเข้ามายื่นขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงไทยในสมัย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ช่วงปี 2547-2551แต่ถูกปฎิเสธแบบไม่มีเยื่อใย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
เหตุผลการปฎิเสธ ต้องไม่ลืมว่า นายอภิศักดิ์ นั้นเป็นนายแบงก์มืออาชีพมีประสบการณ์สูง เคยอยู่ธนาคารนครหลวงไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะก็คงพิจารณาดูตามหลักแล้วว่า“เอิร์ธ”จะกู้เงินก้อนโตโดยที่ความเป็นไปได้ในทางธุรกิจมีข้อกังขาจึงไม่ปล่อยผ่าน

“เอิร์ธ”กลับมากู้เงินแบงก์กรุงไทยใหม่ ในสมัยที่ นายวรภัค ธันยาวงษ์ มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ช่วงระหว่างปี 2555-2559 หรือก็คือคนก่อนหน้าที่จะเป็น นายผยง ศรีวณิช ในปัจจุบัน ซึ่งก็ปรากฎว่า คราวนี้ผ่านฉลุย

.วรภัค ธันยาวงษ์
น่าแปลกใจว่า สมัยนั้นเดิมที“เอิร์ธ” เป็นแค่บริษัทขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ทำไปทำมากลายเป็นบริษัทเทรดดิ้งขนาดใหญ่โต คิดอ่านทำแผนอลังการงานสร้างในธุรกิจถ่านหิน ทั้งการซื้อถ่านหินล่วงหน้า หรือ การซื้อสิทธิในการทำเหมืองอินโดนีเซียเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และ แบงก์กรุงไทยก็ให้กู้ หรือ ภาษาแบงก์เขาเรียก “เริ่มไขก๊อก” ตั้งแต่ปี 2558 ประเดิมปล่อยน้ำไหลไปตามท่อ


นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเอิร์ธที่เข้ามาเบิกเงินกู้ที่กรุงไทย และ ความซวยของแบงก์กรุงไทยมาถึงทุกวันนี้

เพราะ อะไรทำไมถึงกล่าวเช่นนี้?

ก็เพราะต่อมา แบงก์มาทราบว่า โดนหลอกให้ปล่อยกู้ มีทั้งที่ไปตรวจเจอว่า หลักฐานเอกสารโครงการที่ยื่นให้แบงก์ “กรณีเหมืองที่อินโดนีเซีย” ที่เอิร์ธอ้างว่าขอกู้เงินจำนวนมหาศาลไปลงทุนเหมือง และ ซื้อถ่านหินนั้น ไม่ตรงปก!!!

ไม่ตรงปกเพราะ เหมืองที่อินโดฯ ไม่มีอยู่จริง ตอนส่งเอกสารขอกู้ก็ไปถ่ายเหมืองที่ไหนมาไม่รู้ ทำให้ดูดีไว้ก่อน แต่พอผู้บริหารแบงก์กรุงไทยซึ่งตอนหลังเริ่มรู้ว่าโดนเอิร์ธหลอกแน่บินไปพิสูจน์ที่อินโดฯ ที่นั่นที่ที่เอิร์ธ ระบุว่าเป็นแปลงที่ดินที่เตรียมเปิดทำเหมืองในอินโดฯ ปรากฎว่า อยู่ไกลทุรกันดานมาก และ เป็นดินแดนโซนอันตราย การจะเข้าไปถึงต้องมีทหารถืออาวุธครบมือคุ้มครองเข้าไปด้วย พอไปถึงที่แปลงที่ว่า บรรดาคณะที่บุกไปพิสูจน์ก็ตะลึงงันกัน เพราะมองไปไหนมีแต่ป่า และ บ่อน้ำเล็กๆ


นักธรณีวิทยาชาวอินโดฯที่คณะพาไปดูด้วยถึงกับบอกว่า มันจะเป็นเหมืองถ่านหินไปได้อย่างไร อย่างมากเป็นได้ก็แค่ บ่อน้ำ ที่เห็นเท่านั้น

เรื่องหลอกที่ดินเหมืองไม่ตรงปก เชื่อหรือไม่ว่า อะไรจะบังเอิญขนาดนั้นว่า สืบไปสืบมา ปรากฏว่า “เหมืองอินโดฯ ของเอิร์ธ” เป็นพอร์ตของ นางแนนซี่ มาตาชุตะ

โดย นางแนนซี่ คนนี้ก็คือคนที่จัดหาที่ดินปลูกปาล์มให้กับ ปตท. ซึ่งไม่ต้องสงสัย พวกคนไทยที่ร่วมเป็นนายหน้าก็กลุ่มเดียวกัน ที่มี นายธนกร นันที เป็นหัวขบวนนั่นเอง

นางแนนซี่ มาตาชุตะ
ประเด็น :เรียกว่า กลุ่มคนพวกนี้หลอก ปตท. เอาที่ดินป่าสงวนบ้าง เป็นที่ดินที่ไม่สามารถปลูกปาล์มได้มาหลอกขายราคาแพง กินค่านายหน้าหลายสิบล้านดอลลาร์ กรณีธนาคารกรุงไทยก็โดนแบบเดียวกัน ทำนองตัดแปะกันเลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในความเป็นจริงช่วงก่อนปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย ก็เคยได้รับข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจ จากที่ปรึกษาซึ่งเขาก็แทงมาเลยว่า เป็น Monkey Business หรือ เป็นธุรกิจที่ไม่มีความคุ้มค่า ไม่ควรลงทุน แต่ทำไมเอิร์ธจึงกู้ผ่านเดี๋ยวมาว่ากัน

วิทยายุทธท่าพิศดารของเอิร์ธที่ทำกับแบงก์กรุงไทยยังมีอีกหลายเรื่อง โดยที่ ฝีมาแตกเอาตอนช่วงท้าย ๆ ปี 2558-2559 ที่ นายวรภัค นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ นั่นเอง

นอกจากมี “เหมืองทิพย์” แล้วยังมีกรณี “ สต็อกทิพย์”

ปกติแล้วการทำธุรกิจของเอิร์ธ คือ เทรดดิ้ง ซื้อมา - ทำการสต็อก และ ขายออก แต่แล้วแบงก์ก็จับพิรุธได้ว่า สต็อกที่เก็บถ่านหินทะแม่งๆ หรือ สต็อกบวม แล้วทำไมยังมาขอเบิกเงินสินเชื่อเพื่อขอซื้อถ่านหินล่วงหน้าอยู่อีก มันผิดปกติ แบงก์จึงขอตรวจสอบ บริษัทก็บ่ายเบี่ยง ไม่ยอมให้ตรวจ

นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด
ตอนหลังก็ถึงบางอ้อ ว่า สต็อกถ่านหินที่เก็บไว้ปริมาณมากบวม ๆ นั้นเป็นสต็อกทิพย์ โดยการปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L) หรือ ใบขนถ่านหิน นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียปลอมมาเบิกเงินกู้ไปเรื่อย ๆ รวม ๆ แล้วกว่า 84 ฉบับ

พอเรื่องแดง และ ถูกตัดวงเงิน ก็โวยวายใช้วิชามารกดดันแบงก์ ถ้าจำได้ช่วงนั้นจะมีข่าว คนกลุ่มนี้เกณฑ์คนปลุกระดมคนมากดดันที่แบงก์กรุงไทยอยู่บ่อย ๆ

ต่อมา “เอิร์ธ” อาการหนัก ธนาคารตั้งข้อสังเกตเห็น งบการเงินที่ผิดปกติ ตามด้วยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีในปี 2560 ซึ่งถือว่า ผิดเงื่อนไขของสัญญา บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายจึงไม่ให้เบิกเงินกู้ได้อีก ตอนนั้นเอิร์ธก็ถึงแก่กาลอวสาน

สุดท้ายเรื่องระหว่าง เจ้าหนี้กรุงไทย กับ ลูกหนี้เอิร์ธฯ ก็จบลงด้วย “หนี้เน่า” 10,500 ล้านบาท ที่เหลือทิ้งไว้ให้แบงก์ไว้ดูต่างหน้า ส่วน เอิร์ธ ธุรกิจไม่เหลือซาก และ คดีความที่ตามมาเป็นพรวน อย่างที่รับทราบกัน

ในกรณีนี้แบงก์กรุงไทยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเอิร์ธ ยื่นให้ DSI, กองปราบ และ ป.ป.ช.แต่อย่างที่รู้กัน เรื่องนี้เป็นกรณีฉาวโฉ่มหากาพย์ต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ แต่ความคืบหน้าคดีเพื่อเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องช้ากว่าเต่าคลาน คนใน DSI น่าจะรู้ดีว่าใครดึงเรื่องเอาไว้ คงต้องฝากให้ รมว.ยุติธรรมคนใหม่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดี DSI กรุณาอย่าลืมเรื่องนี้ ทำความจริงให้ปรากฏ ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง อย่าเข้าในข่ายที่วิ่งเต้นได้ เอาเงินเอาทองยัดได้ อยากให้กระทุ้งไปที่ DSI ว่าทำไมคดีเอิร์ธที่ร้องเรียนมาที่ DSI ตั้งนานยังไม่ไปไหนเลย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ย้อนกลับมาที่ข้อสงสัยว่า ทำไมแบงก์กรุงไทย้จึงปล่อยกู้ให้เอิร์ธ? ทั้ง ๆ ที่เคยถูกปฎิเสธไปในสมัย นายอภิศักดิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการแบงก์กรุงไทย? เรื่องนี้ต้องดูที่สายสัมพันธ์กันว่าใครเป็นใครโยงใยกันอย่างไรด้วย

เริ่มจากนายวรพัค ธันยาวงษ์ (ชื่อเล่น ต่อ) กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย ในขณะนั้น ช่วงที่อนุมัติเงินกู้ให้เอิร์ธ เขาเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ร่วมห้องเรียนเทพศิรินทร์กับ นายธนกร นันที หัวขบวนที่เป็นนายหน้าใน “โครงการปาล์มอินโดฯ ของ ปตท.” ส่วนจะรู้เห็นเป็นใจกันกับนายธนกรกรณีเอิร์ธฯ แค่ไหนนั่นเป็นคำถาม

ถามต่อว่านายวรพัค เข้ามากุมบังเหียนกรุงไทยได้อย่างไร? ปี 2555 นายวรพัคนั้นเข้ามาในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ว่ากันว่า ภรรยาของวรพัค เป็นลูกสาวร้านเพชรชื่อดังที่เพนนินซูล่า ซึ่งคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร สนิทกับเจ้าของร้าน ด้วยเหตุนี้จะฝากฝังกันมาหรือไม่? ก็แล้วแต่จะคิดกัน

ถ้าดูจากโปรไฟล์การทำงานของวรภัค ก็ต้องบอกว่า อยู่ในวงการวานิชธนกิจ เคยอยู่ที่ JP Morgan Chase แล้วไปทำงานที่ ไทยพาณิชย์ และ ฟินันซ่า เป็นลำดับ ก่อนที่จะมาอยู่กรุงไทย

ตอนทำงานอยู่ที่ฟินันซ่าของวรภัคนั้นน่าสนใจ ว่ากันว่า ที่นี่เขาได้ทำงานกับคนกลุ่มของ นายธนกร และ อดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. (ประเสริฐ บุญสัมพันธ์) ด้วย

เพราะฉะนั้น ด้วยคอนเนกชั่นคนคุ้ยเคยกันระหว่าง วรภัค กับ ธนกร และ ประเสริฐ ทั้งหมดได้มาประสานสัมพันธ์กันอีกครั้งที่กรุงไทย !


นายวรภัค นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขณะที่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. เป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย ระหว่างปี 2554-2558 นายธนกรเป็นนายหน้าให้เอิร์ธเรื่องเหมืองอินโดฯ

ด้วยเหตุนี้หรือไม่การปล่อยกู้เอิร์ธจึงได้รับไฟเขียวผ่านฉลุย? ... นั่นเป็นคำถาม

ขณะที่ระดับปฎิบัติการเพื่อดันให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้เนียน ๆ ให้กับเอิร์ธ ว่ากันว่า ยังมีกลุ่มคนที่เคยเป็นคนเก่าของ ปตท.ที่ย้ายเข้ามาทำงานที่กรุงไทย และ คนเก่าของแบงก์กรุงไทย ที่ไปทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงิน และ ปฎิบัติหน้าที่เหมือนเป็น CFO ให้กับเอิร์ธฯ รับผิดชอบโปรเจกต์ในการขอสินเชื่อกับกรุงไทย

เรียกว่า งานนี้ คนนอกคุ้นเคยภายในกรุงไทย ขณะที่คนในก็แปลงร่างจาก เกลือเป็นหนอน

เมื่อข้างบนไฟเขียว กลุ่มคนเหล่านี้ก็สร้างสตอรี่ต่างๆ ปั่นเอกสารหลักฐาน ตามสั่ง ส่งผ่านเข้าคณะบอร์ดกลั่นกรอง สอดรับกันเป็นทอด ๆ ด้วยการวางแผนคิดไตร่ตรองกันเป็นขบวนการ การขอกู้เงินกรุงไทยให้กับเอิร์ธทั้งที่ควรสงสัยในตัวธุรกิจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่จึงไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น

ผลที่เกิดขึ้น ธนาคารเสียหายนับหมื่นล้าน ส่วนใครที่ได้ผลประโยชน์ มาถึงตรงนี้เดากันไม่ยาก

ข้อเท็จจริงต่าง ๆ กรณีเอิร์ธกับกรุงไทยก็ดี ปาล์มอินโดฯ กับ ปตท. ก็ดี นี้ทั้งหลายทั้งมวลอยู่กับ ป.ป.ช. หมดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นว่าจะมีหลายคนเข้ามาใหม่จะรับตำแหน่งต่อจากคนเก่ามาพ้นวาระ และ หนึ่งในนั้นเป็นคนที่รู้ข้อมูลปาล์มอินโดฯ ดีที่สุด เป็นคนที่อดีตผู้บริหาร ปตท.กลัวที่สุดด้วยจะเข้ามาฟาดฟันขบวนการนี้แค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามยิ่ง

นอกจากคดีที่เกิดขึ้นแล้ว งาบผลประโยชน์กันไปเรียบร้อยแล้ว ความที่ไม่รู้จักพอ หรือ ย่ามใจว่า ไม่มีใครจะเปิดโปง ขุดคุ้ย ได้ เพราะ ทราบมาว่า ขุมข่ายของขบวนการนี้ มีทั้งนักกฎหมาย นักร้องเรียน เลี้ยงดูสื่อมวลชนบางกลุ่มที่ทำตัวเป็นสุนัขรับใช้คอยบิดเบือนข่าว เขียนเชียร์ เรียกว่า ครบวงจรจริงๆ


กลุ่มคนขบวนการนี้ก็เลยขยันปั้นโปรเจ็กต์ส่งให้ ปตท.ไม่หยุดไม่หย่อน ดังที่เคยเปิดประเด็นไว้ว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นี้ก็เคยชงเรื่องให้ บอร์ด ปตท. พิจารณาเข้าถือหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น หรือ STARK ที่ตอนนั้นถ้า บอร์ด ปตท. อนุมัติละก้อดูไม่จืด ถึงขั้นเน่าไปด้วยกันแน่ๆ

ที่แน่ ๆ แววเน่าก็มีมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า สตาร์ค ถูกปั่นขึ้นมาโน้มน้าวบอร์ดว่า ธุรกิจของ ปตท.ที่จะขยายไปข้างหน้าจำเป็นที่ต้องพึ่งพาสายไฟและสายเคเบิ้ล ถ้าถือหุ้นในสตาร์คได้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า คุ้มราคา

การนำเสนอโปรเจ็กต์ก็ก็อบบี้มาในรูปแบบของปาล์มอินโดฯและเอิร์ธ ไม่มีผิด โดยถือดีมีแต้มต่อตรง “สั่งได้” มีท่าพิสดาร ไม่ต้องผ่านบอร์ดกลั่นกรอง ทะลุเข้าบอร์ดพรวดๆ ได้เลย แต่เดชะบุญของ ปตท.มีกรรมการที่ไม่เห็นด้วย และ รู้ข้อมูลภายในสตาร์คดีว่า เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ดีเหมือนภาพที่สร้าง และ คนกลุ่มนี้พยายามจะสร้างจึงเบรกไว้

มีข้อมูลว่า ตอนนั้นก่อนจะชงเรื่องสตาร์คให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติให้ ปตท. ถือหุ้น หุ้นสตาร์คในตลาดหุ้นกราฟพุ่งปรี๊ด ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า คนกลุ่มนี้รู้อินไซด์ และมั่นใจว่า บอร์ด ปตท.ต้องอนุมัติแน่ ๆ เหมือนหลาย ๆโครงการที่เสนอ ทำอินไซเดอร์เทรดดิ้ง ปล่อยข่าวออกไป เมื่อบอร์ดอนุมัติจะได้เทขายทำกำไรงาม ๆ ปรากฏว่า พอบอร์ดเบรกโครงการ หุ้นสตาร์คก็ร่วงลงไม่เป็นท่า และ ที่สุด สตาร์คก็ฝีแตก กลายเป็นหุ้นเน่าที่อื้อฉาวที่สุดที่เรารับรู้ข่าวกันไปแล้ว


คำถามถือ ใครเป็นคนคนเอาดีล STARK นี้มาให้ ปตท. และใครเป็นคนผลักดันเรื่องนี้?

นี่เป็นเบื้องหลังคดีอื้อฉาวของ ปตท.และ กรุงไทย โดย “ขบวนการสวาปาม ปตท.” และกรุงไทย คือ กลุ่มผู้เล่นเดียวกัน แพทเทิร์นเดียวกัน ที่เรานำมาเสนอ ซึ่งก็ต้องบอกว่า บอร์ด ปตท. และ กรุงไทย ต้องใช้โอกาสนี้ตัดวงจรอุบาทว์เครือข่ายพวกนี้ออกไปจากองค์กรให้ได้ แสดงถึงความมีธรรมาภิบาล ให้ได้อย่างที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อกับสังคมไทย

"อยากฝาก ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ท่านเป็นคนที่ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ตั้งคณะกรรมการพิเศษสักชุดได้ไหม จากกระทรวงพลังงาน เข้าไปตรวจสอบเรื่องที่ผมพูดอันนี้ จัดการกับผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการโกงบ้านโกงเมืองให้เด็ดขาด ถ้าท่านทำเรื่องโฮปเวลล์สำเร็จ กรุณาทำเรื่องนี้ต่อให้สำเร็จด้วยก็แล้วกัน” นายสนธิกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น