xs
xsm
sm
md
lg

โคตรอภิมหาทุจริต! กระชากหน้ากากขบวนการ “สวาปา(ล์)ม ปตท.” ปล้นประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากคดีปาล์มอินโดฯ 2 หมื่นล้าน – สต็อกทิพย์ 2 พันล้าน - ฮั้วราคาน้ำมันปาล์มขาย OR ราคาแพง แฉเป็นกลุ่มขบวนการเดียวกันฝังรากลึกหากินกับ ปตท.มานาน ภายใต้อิทธิพลบารมีของนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ร่วมมือกับอดีตบิ๊ก ปตท.ชักใยสมคบคิดกับคนในองค์กร งาบผลประโยชน์โครงการ-จัดซื้อจัดจ้าง-ปล้นประชาชน!!?



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปิดโปงการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุด โดยคนกหลุ่มใน ปตท.และบริษัทในเครือ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น “โคตรอภิมหาทุจริตคอรัปชั่น” จากขบวนการกลุ่มคนที่ครอบงำองค์กรใหญ่ไว้ในมือ เป็นการปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชนอย่างเลือดเย็น ไม่สนใจชาวบ้านที่ต้องเดือดร้อนจากราคาน้ำมัน

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)
ข่าวแรก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เดินทางเข้าพบ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลังจากมี “ผู้ถือหุ้น” และ อาจถือเป็นผู้เสียหายของ ปตท.และ บริษัทในเครือ คือ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวโทษต่อดีเอสไอ และ ก.ล.ต. พร้อมทำหนังสือแจ้งประธานคณะกรรมการ ปตท. เพื่อให้ตรวจสอบขบวนการสมยอมราคาส่อฮั้วประมูล ทำให้ราคาผิดไปจากปกติ และ อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง และ อาจนำไปสู่พฤติการณ์เข้าลักษณะฟอกเงิน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหารระดับสูงบริษัทในกลุ่ม ปตท.


ขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าเข้าลักษณะที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ กล่าวว่า นายอรรถพลได้ให้ความร่วมมืออย่างดีในการสืบค้นเอกสาร ผลจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อาจจะมีมูลเข้าข่ายผิดปกติ แต่ยังไม่สามารถระบุฐานความผิด และผู้รับผิดได้อย่างชัดเจน คงต้องรอการรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการสืบสวนเบื้องต้นใน 3 เดือน


นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมันปาล์มระหว่างบริษัท GGC กับ PTTOR บริษัทในเครือ ปตท. ที่ดูเรื่องค้าปลีกน้ำมัน ว่า มีการกำหนดราคาในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใดผู้หนึ่งหรือไม่ รวมถึงเรื่องกรณีการซื้อขายน้ำมันที่จ่ายเงินไปก่อนแต่ไม่ได้ส่งสินค้าจริงก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ขอเอกสารไปยัง ปตท. ว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการในเรื่องใดหรือไม่?

โดยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นก่อน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ จะเข้ามารับตำแหน่ง CEO ปตท. แต่ประธานบอร์ดยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการรวบรวมเอกสารเพื่อดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสในกลุ่มบริษัท ปตท.ต่อไป

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ทราบมาว่า ประเด็นแรก ที่ผู้ร้องเรียน ยื่นให้ DSI กล่าวหาว่า ผู้บริหารบริษัทในเครือปตท. เช่น ผู้บริหาร PTTOR คนหนึ่งได้สั่งการข้ามบริษัท ถึงผู้บริหารของ GGC ที่มีอำนาจกำหนดราคา น้ำมัน B100 (ไบโอดีเซล 100%) สั่งการให้ GGC ทำหนังสือถึง PTTOR ว่า GGC ยินยอมลดราคาน้ำมัน B100 ให้กับ PTTOR ในอัตราลิตรละ 3 บาท เพื่อกดดันให้ผู้ค้ารายอื่นยินยอมขาย B100 ในราคาที่ต่ำและขาดทุนทำให้ PTTOR ได้กำไรจากส่วนต่างเป็นเงินจำนวนมาก โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดกับหลักธรรมาภิบาล และถือว่า เป็นการสมยอม หรือ ฮั้วราคากันหรือไม่?


ประเด็นที่ 2 กล่าวหา ปตท. ว่าร่วมกับ GGC จ่ายเงินโดยที่ไม่มีการส่งสินค้า ระหว่างเดือนมีนาคม 2561 ถึงเดือนพฤษภาคม 2561

และ ประเด็นที่ 3 กล่าวอ้างว่า ผู้บริหารของ บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จากัด (TOL) หรือ บริษัท GGC ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันกระทำความผิด กับ บริษัทเอกชน และ ร่วมกันปกปิดการกระทำความผิด (ระหว่างปี 2550 – 2552) ปรากฏหลักฐานรายงาน/บันทึกข้อความเรื่อง การจัดซื้อวัตถุดิบ และการขายผลิตภัณฑ์ในปี 2550 – 3 มีนาคม 2552 ของบริษัท ปตท.เคมิคอล จากัด (มหาชน) ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 มีผลขาดทุนจากการซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าราคาประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 172 ล้านบาท มีการขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 142 ล้านบาท รวมผลขาดทุนประมาณ 314 ล้านบาท


ปรากฏ ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้น ของ บริษัท ไทยโอลิโอเคมี จากัด เบื้องต้น ลงวันที่ 31 มีนาคม 2552 ตามคำสั่งให้มีการสอบสวนโดยประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จากัด (TOL) ในสมัยนั้น สรุปได้ว่า มีการการร่วมกันทุจริตและคอร์รับชันในการจัดซื้อน้ามันปาส์มดิบ (CPO)

ข่าวชิ้นที่สอง เมื่อ วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 มีรายงานข่าวจาก บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC แจ้งความคืบหน้าคดีวัตถุดิบคงคลังของ GGC สูญหายช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ว่า ตามที่บริษัทได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัทได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยได้ตัดสินให้ผู้บริหารและพนักงาน ที่เกี่ยวข้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน และแจ้งความดำเนินคดีผู้บริหาร พนักงาน และคู่ค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ยังได้กล่าวโทษอดีตกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร GGC 2 ราย ได้แก่ นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ ขณะเกิดเหตุ (ระหว่างปี 2557 -2561) เป็นกรรมการผู้จัดการ และนายวัลลภ เทียนทอง ขณะเกิดเหตุเป็นผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการตลาด การขาย และจัดซื้อวัตถุดิบ กรณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนและในบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการทุจริตจนเป็นเหตุให้ GGC ได้รับความเสียหาย


โดยได้กระทำผิดพร้อมพวกอีก 9 ราย ซึ่งเป็นผู้ขายวัตถุดิบ ได้แก่
1.บริษัท อนัตตา กรีน จำกัด
2.นายพลลภัตม์ ศรีวิศาลวงษ์
3.บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด


4.บริษัท ยูนิตี้ ปาล์ม ออยล์ จำกัด


5.นายบรม เอ่งฉ้วน
6.บริษัท จีไอ กรีน ปาล์ม ออยล์ จำกัด


7.นางธนิภา พวงจำปา ภรรยาของนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ที่ถูกไล่ออก ด้วยข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
8.บริษัท โอ พีจีเทค จำกัด
9.นายเศรษฐ์ฐ พัฒนมาศ

กรณีร่วมกันดำเนินการให้บริษัทฯ ซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้แก่ผู้ขาย โดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน แต่กลับลงบันทึกในระบบบัญชีของบริษัทฯ ว่า ได้รับวัตถุดิบครบถ้วนแล้ว รวมทั้งกรณีส่งมอบวัตถุดิบไปกลั่นโดยไม่ได้มีการกลั่นจริง อันทำให้ GGC ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2,157 ล้านบาท


จากกรณีดังกล่าว GGC ในฐานะผู้เสียหาย ได้ดำเนินการปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับหลักการกำกับกิจการที่ดีของ ก.ล.ต. อีกทั้งยังได้ให้ข้อมูลและชี้แจงต่อ ก.ล.ต. และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) โดยหน่วยงานทั้งสองได้รับทราบข้อมูลการชี้แจงเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อปลายปี 2565 ซึ่ง GGC ก็ยังคงติดตาม เร่งรัดการดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญากับอดีตผู้บริหาร และคู่ค้าทุกรายมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สรุปว่า 5 ปีตั้งแต่เกิดคดี ขณะนี้คดีต่างๆ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก หลายคดีศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว โดยตัดสินว่า อดีตผู้บริหารและคู่ค้าร่วมกันกระทำความผิดจริง และ ตัดสินลงโทษจำคุกพร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ GGC

ส่วนคดีที่เหลือยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ GGC ขอยืนยันว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามมาตรฐานสากล รวมทั้งจะยังคงดำเนินคดีต่างๆ ที่ค้างอยู่อย่างต่อเนื่อง

เปิดข้อมูลเชิงลึก พฤติการณ์การทุจริต

จากข่าวสองข่าวจะเห็นว่า มีความเชื่อมโยงกันด้วยประเด็นและพฤติการณ์การทุจริต เกี่ยวกับกับผู้บริหาร ปตท. ในฐานะบริษัทแม่ที่ถือหุ้นใน GGC และ ตัวของ GGC เองที่ดำเนินธุรกิจผลิตพลังงานทดแทน เช่น B100 ที่ผลิตจากปาล์ม ค้าขายอยู่กับ PTTOR ผู้ค้าน้ำมันเอาไปเป็นส่วนผสมนำมันดีเซลให้กับผู้บริโภคประชาชนอย่างเรา ๆ ใช้กัน

จากภาพรวม ๆ ตรงนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมที่จะขยายให้เห็นนัยของข่าวสองข่าว แม้จะเกิดขึ้นในช่วงคนละเวลาแต่ “ความจริงมีหนึ่งเดียว”

กล่าวคือ มีข้อสังเกตว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2564 จนมาถึง 2566 นี้ เกี่ยวกับคดีทุจริตบริษัทในเครือ ปตท. โดยเฉพาะ “คดีสต็อกทิพย์” หรือ วัตถุดิบในคลังสินค้าไม่มีอยู่จริง ล่องหนสูญหายของ GGC มีหลาย ๆ คดีที่ศาลได้พิพากษาตัดสินถึงที่สุด และ หลายคดีมีความคืบหน้าไปอย่างมาก


ย้ำอีกครั้งว่า ศาลได้ตัดสินว่า อดีตผู้บริหารและคู่ค้าร่วมกันกระทำความผิดจริง และ ตัดสินลงโทษจำคุกพร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ GGC เวลานี้อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เกี่ยวข้องก็นอนอยู่ในคุกแล้ว ส่วนคดีที่เหลือยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

ตรงนี้เองทำให้ “ขบวนการผู้คนที่เกี่ยวข้องคดี” ตอนนี้ออกอาการเครียดจัด เพราะการพิจารณาคดีบีบคั้นงวดเข้ามาทุกขณะ ก็เลยกลัวจะติดคุกตามๆกันไป หรือไม่ก็กลัวว่า จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีดังกล่าว จึงอยู่เฉยไม่ได้ ออกมาเคลื่อนไหว วิธีที่ดีที่ดิตได้ก็คือ “ร้องเรียน” ทำให้สถานการณ์ยุ่งเข้าไว้

ดังนั้น เรื่องร้องเรียนจึงเกิดขึ้น โดย กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 10 ปี เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบในช่วงปี 2550-2552 หรือ ปี 2560-2561 ซึ่งในขณะนั้น “ผู้ร้องเรียน” ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของ TOL (ชื่อเดิม) หรือ GGC แต่อย่างใด

คำถามจึงมีว่า การร้องเรียนนี้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นได้อย่างไร? และ หากทราบข้อมูลแล้ว เหตุใดจึงไม่ทำการร้องเรียนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว? ดังนั้น เหตุที่เลือกร้องเรียนในช่วงนี้เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ GGC หรือ กลุ่ม ปตท.สูญเสียความน่าเชื่อถือทางธุรกิจหรือไม่?

อีกทั้งระยะเวลาที่เกิดขึ้นตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างนั้นเกินกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเกินกว่า GGC หรือ บริษัท หรือ ปตท.จะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องทางกฎหมาย หรือ อายุความ เพื่อเรียกร้องความรับผิด

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ร้องเรียนมิได้มุ่งหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด


ประการสำคัญที่สุด ถามว่า ผู้ร้องเรียนที่ไปร้อง DSI และ กลต.จนเป็นที่มาของ DSI เข้าพบ CEO ของ ปตท.นั้นเป็นใคร?

ถามว่า ผู้ร้องเรียนในครั้งนี้เป็นใคร จากที่ตรวจสอบมาปรากฎชื่อ “นายสยามราช ผ่องสกุล” โดยใช้สิทธิว่าเป็นผู้ถือหุ้นของ ปตท. และบริษัทในเครือ

นายสยามราช ผ่องสกุล ที่ปรึกษากฎหมายของนางแนนซี่ มาตาซูตะ อดีตประธานสภาหอการค้าไทย-อินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซีย
จากการตรวจสอบ นายสยามราช ผู้นี้มีอาชีพเป็นทนายความ ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เขาเป็นทนายความให้ “นางแนนซี่ มาตาชุตะ”

ถามว่า นางแนนซี่ มาตาชุตะ คือใคร?


นางแนนซี่ ก็คือหนึ่งในผู้ถูกกล่าวโทษโดย ป.ป.ช.ในคดีทุจริตปาล์มอินโดนีเซียที่เป็นคดีอยู่กับกลุ่ม ปตท. ร่วมกับ นายธนกร นันที จำชื่อนี้ให้ดี ๆ นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตผู้บริหาร ปตท.ที่ถูกส่งไปดูโครงการที่อินโดฯ และ พวกผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

สำหรับคดีทุจริตปาล์มอินโดนีเซีย ถ้าจำกันได้ คือ คดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่ บริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE. บริษัทลูกของ ปตท. ไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่พบความไม่ชอบมาพากลในการลงทุน และ มีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็นับพันล้านบาท โดยเป็นคดีอยู่ที่ ป.ป.ช.


เรียกว่า บริษัทลูก ปตท. โดนปั่นให้ไปลงทุนแล้วโดนขบวนการคนกลุ่มหนึ่ง เล่นแร่แปรธาตุ หลอกให้ซื้อที่ดินเป็นที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนเป็นส่วนมาก ทำให้ไม่สามารถขอให้หน่วยงานในประเทศอินโดนีเซียออกเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรมได้ ส่วนที่ดินที่เหลือไม่ทับซ้อนป่าสงวนก็เหลืออยู่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นอกจากนี้ยังมีค่านายหน้าในการจัดซื้อที่ดินที่สูงกว่าผิดปกติถึง 40% แพงลิ่บลิ่ว

รวมค่าเสียหายที่ไปลงโครงการปาล์มอินโดฯ รวมค่าบริหารจัดการรวมทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 20,307 ล้านบาท !!!

กลับมาที่เรื่องของ นายสยามราช และ การร้องเรียน บริษัท ปตท.และ GGC เพื่อให้มองภาพชัดเจน เราได้ทำแผนผังเพื่อฉายภาพว่า นายสยามราช ตัวละครที่มีบทบาทเป็นผู้หาเหตุมาร้องเรียน ปตท.และ บริษัทในเครือ เกี่ยวข้อง เกี่ยวโยงกับใครบ้าง ดังนี้


จากนายสยามราช จะเห็นว่า เขาเป็นทนายความให้นางแนนซี่ ซึ่งนางแนนซี่อยู่ในกลุ่มผู้ถูกแจ้งข้อหาพัวพันคดีปาล์มอินโดฯจาก ป.ป.ช.ร่วมกับ นายธนกร นันที ที่บอกว่าให้จำชื่อคน ๆ นี้ให้ดี ๆ ตอนต้น เพราะ คนนี้ไม่ธรรมดา


นายธนกร นันที นั้นเป็น อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านี้เคยเป็น ผอ.พรรคชาติพัฒนา และ เคยเป็นอดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เมื่อปี 2548 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ 2 ด้วย

นายธนกร ยังเป็นพี่น้องกับ นางธนิภา พวงจำปา นามสกุลคุ้นๆ มั้ย?


นางธนิภา เป็นคู่สมรสของนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณี “ร่ำรวยผิดปกติ” ให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน และ ไล่ออก นั่นเอง

ประหยัด และ ธนิภา พวงจำปา
กรณีนี้ นายประหยัด ถูกศาลศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พิพากษาให้มีโทษจำคุกเมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานี้เอง จากเหตุจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อ วันที่ 4 มกราคม 2560 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์ควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน 6 รายการ ซึ่งเป็นทรัพย์สินและหนี้สินในชื่อของ นางธนิภา พวงจำปา คู่สมรส เป็นทรัพย์สินในประเทศ 2 รายการ รวม 2,010,000 บาท และ ทรัพย์สินในต่างประเทศ 4 รายการ รวม 225,383,103 บาท มูลค่ารวม 227,393,103 บาท

นางธนิภา พวงจำปา ภรรยานายประหยัด มีห้องชุดที่ตั้งอยู่ถนนเคนซิงตัน ไฮสตรีทมูลค่าประมาณ 4 ล้าน 9 แสนปอนด์ คิดเป็นเงินไทย 220 ล้านบาท มีรายการเงินฝากในบัญชีธนาคารกว่า 194 ล้านบาท เงินลงทุนอีกประมาณกว่า 243 ล้านบาท
ในคำพิพากษายังระบุตอนหนึ่งด้วยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับหนังสือแจ้งเบาะแสจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและได้รับข้อมูลจากสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจว่า นางธนิภาต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ถือว่ามีพฤติการณ์ ที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว

จากการที่ นายธนกร ที่เป็นพี่น้องของ นางธนิภา มาเกี่ยวพันกับ “คดีสต็อกลม” ที่ GGC เพราะ นางธนิภา เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการ ของบริษัท จีโอ กรีน ปาล์ม ออยล์ จำกัด (กลุ่ม GI) คู่ค้าของ GGC ที่ถูก GGC เป็นโจทก์แจ้งดำเนินคดีอาญา 8 คดี มูลค่าความเสียหาย 171 ล้านบาท

นอกจากนี้ นางธนิภา ยังเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท โกลบอล อินเตอร์ จำกัด(กลุ่มGI) ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีแพ่งกับ GGC โดยที่ GGC เป็นโจทก์ มูลค่าความเสียหาย 122 ล้านบาท และ GGC เป็นจำเลย มูลค่าความเสียหาย 450 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น ความร่ำรวยผิดปกติของอดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ที่มาจากซุกทรัพย์สินภรรยา จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามว่ารวยมาจากไหน

จากภาพรวมและแผนผังจะเห็นชัดเจนว่า ตัวละคร ผู้เกี่ยวข้องกับคดีปาล์มอินโดฯ สองหมื่นล้านจนมาถึง คดีสต็อกน้ำมันปาล์มทิพย์ มูลค่าเสียหาย 2 พันล้านบาท เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

คำถามก็คือ ขบวนการกลุ่มคนเหล่านี้ สามารถเข้ามาทำมาหากินกับกลุ่มบริษัท ปตท.ได้อย่างไร?

ว่ากันว่า ขบวนการนี้หยั่งรากหากินกับโครงการ ,การจัดซื้อจัดจ้างของ ปตท.และ บริษัทในเครือ มาช้านาน มีเส้นสนกลในรู้ว่า ปตท.กำลังจะทำโครงการอะไร กระทั่งสามารถปั้นแต่งโครงการเสนอให้ ปตท.และ บริษัทในเครือทำโครงการ ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างก็นำบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นและเป็นกรรมการเข้ามาเป็นคู่ค้า

เพราะฉะนั้น การที่จะทำอย่างนี้ได้แน่นอนต้องมีคนที่มีอิทธิพลบารมีต่อ ปตท.อยู่เบื้องหลัง ซึ่งว่ากันว่า คน ๆ นี้เคยเป็น อดีตผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ นักการเมืองใหญ่ชื่อย่อ “ส.” ระดับเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง เอ่ยชื่อมาทุกคน โดยเฉพาะ “ด้อมส้ม” เมื่อเอ่ยชื่อแล้วต้องร้องอ๋อ!!!

ทั้งสองคนจับมือร่วมกันซึ่งถามว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลครอบงำแค่ไหน? ก็ต้องบอกว่า สามารถชักใยกลุ่มขบวนการให้ “คนใน”สมคบคิดทำตามสั่งได้ รู้เห็นเป็นใจเปิดทางสะดวกให้เครือข่ายและกลุ่มเข้าหาผลประโยชน์ กับปตท.และ บริษัทในเครืออย่างง่ายดาย

ยกตัวอย่างผลประโยชน์จาก การหากินกับน้ำมันปาล์ม หรือ B100 นอกจาก “โป๊ะแตก” ถูกจับทุจริตวัถุดิบในคลังสินค้าสูญหายของ GGC แล้วยังมีกรณีที่ยังไม่ถูกจับได้ โดยที่ทำกันมานานแล้ว รู้เฉพาะคนวงในเท่านั้นก็คือ การหากินกับน้ำมันปาล์มที่ขายให้กับ OR หรือ บริษัทแม่ของปั๊ม ปตท.ทั้งหมด

ว่ากันถึงขั้นล็อกสเปก ล็อบบี้ให้มี “การฮั้วราคา” บีบคู่ค้ารายอื่น ๆ ของ OR ให้เสนอขายน้ำมัน B100 (หรือ ไบโอดีเซล 100%)ในราคาแพงเกินจริง หนึ่งในของขบวนการตัวสำคัญ ถึงขึ้นนั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับคู่ค้ารายอื่น ๆ สั่งการให้ฮั้ว และเรียกรับผลประโยชน์ส่วนแบ่งจากคู่ค้ารายอื่นๆ ในอัตราลิตรละ 25 สตางค์


กระทำกันมานานแค่ไหนไม่มีใครทราบ หากคิดมูลค่าที่ OR ต้องจ่ายซื้อน้ำมันปาล์มในราคาที่สูงเกินจริงน่าจะมีมูลค่ามหาศาล

ประการสำคัญ ราคาต้นทุนน้ำมันปาล์มที่ OR ต้องจ่ายถูกบวกเข้ามาเป็นต้นทุนราคาน้ำมันที่ขายปลีกให้ผู้บริโภคส่งผลให้ต้องจ่ายราคาแพงไปตามที่คนกลุ่มนี้ตักตวงกำไรไป เรียกว่า ท่ามกลางภาวะน้ำมันแพง แทนที่ผู้บริโภคจะได้ใช้ราคาน้ำมันเป็นไปตามเหตุตามผลที่แท้จริง ประชาชนตาดำๆกลับถูกปล้นจากขบวนการนี้ไปอย่างเลือดเย็นที่สุด

กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน OR ผู้มีอำนาจสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้าง B100 ของ OR สั่งการให้เปลี่ยนแปลงวิธีจัดซื้อ ส่งผลให้ “ฮั้วแตก” ความจริงจึงปรากฏ พบว่า ราคาที่แท้จริงของน้ำมันปาล์มที่รับซื้อถูกลงภายในวันเดียวถึง 400 ล้านบาท

ขณะนี้เรื่องนี้กำลังถูกสอบสวนกันภายในซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจาก กลุ่มคนกลุ่มเดียวกันที่พัวพันกับ คดีปาล์มอินโดฯของ ปตท. สต็อกทิพย์ใน GGC แล้วยังมีใครบ้างที่เข้ามาร่วมแสวงหาผลประโยชน์ใน OR

สรุป :งานนี้ขบวนการสวาปาม ปตท.โดยที่มี “อดีตนักการเมืองใหญ่-อดีตบิ๊ก ปตท.” ชักใยลิ่วล้อและเครือข่ายกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก เขย่าขวัญด้วยคดีที่มีความคืบหน้าไปมาก มิหนำซ้ำทำลายฮั้วราคา ตัดหนทางทำมาหากินที่นอนกินกันมานานให้แตก จึงออกโรงมาเคลื่อนไหวการขุดเรื่องนั้นเรื่องนี้ในอดีตของ ปตท.มาร้องเรียนเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของสังคม
แต่ลืมไปว่า ขว้างงูไม่พอ คดีทุจริตอภิมหาโคตรคอร์รัปชั่นเริ่มต้นจากขบวนการตัวเองทั้งสิ้น ทั้งหลายทั้งปวงย้อนกลับมาตวัดรัดคอตัวเอง ด้วยความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว


นอกจากขบวนการนี้จะหากินกับ ปตท. ยังมีข้อมูลหลักฐานที่ชี้ว่า คนกลุ่มนี้ได้เข้าไปพัวพันกับคดีฉาวปล่อยกู้ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH มูลค่านับหมื่นล้านของ แบงก์กรุงไทยอีกด้วย รวมไปถึงเคยเสนอให้บอร์ด ปตท. เข้าไปถือหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หุ้นเน่าที่สุดแห่งยุคนี้ก็เคยมาแล้ว

เอาไว้จะมาขยายตีแผ่ไปทีละคดี แฉพฤติการณ์ กระชากหน้ากากหัวหน้าขบวนการออกมาทีละคน โปรดติดตามตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น