xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตัวการโกง STARK 3.4 หมื่นล้านส่อลอยนวล “ตลาดทุน” ปั่นป่วน “หุ้นกู้” ขายไม่ออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 9 องค์กรในตลาดทุน ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่าง ๆ ในกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) พร้อมทั้งเปิดเผยแนวทางการดำเนินการเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แรงสั่นสะเทือนจากเกมปล้น STARK สะท้านตลาดหุ้น ไม่เพียงสร้างความเสียหายรวมมูลค่ามหาศาลกว่า 3.4 หมื่นล้าน นักลงทุนรายย่อยรายใหญ่ล้มตายเป็นเบือเท่านั้น ความเชื่อมั่นที่สูญสิ้นยังปั่นป่วนตลาดทุน บรรดาหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง ความเสี่ยงสูงที่ออกมาระดมทุนซึ่งเคยขายดิบขายดีตอนนี้กลับตรงกันข้าม 

หลังมีเสียงร่ำร้องจากนักลงทุนให้  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับมหากาพย์โกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (STARK)  ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด ก.ล.ต.และ ตลท.พร้อมด้วย 9 องค์กร ออกมาแถลงเรียกความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน แต่ยังไม่ชี้แจงถึงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK โดยเบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

 นายธวัชชัย พิทยโสภณ  รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก คือ กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน การดูแลผู้ชำระหุ้นกู้และผู้ลงทุน แนวทางการเยียวยาสิทธิ์ และสุดท้ายคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)

ขณะที่การดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชี นายธวัชชัยระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะมีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีเท่านั้น ยอมรับว่ามีช่องโหว่และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย ส่วนผู้สอบบัญชี อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี

 นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ กรรมการ ผู้อำนวยการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณี STARK มากล่าวโทษต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาวิชาชีพฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากตรวจสอบพบว่าผู้สอบบัญชีกระทำผิดจรรยาบรรณจะมีบทลงโทษคือพักใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต

สำหรับผู้สอบบัญชีของ STARK คือ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เป็นบริษัทผู้สอบบัญชีหนึ่งในสี่รายใหญ่ หรือ BIG4 นักลงทุนจึงมีความเชื่อมั่น แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมานักลงทุนได้มีข้อเรียกร้องต่อ ก.ล.ต. ควรจะมีมาตรการลงโทษบริษัทผู้ตรวจสอบด้วย เช่น การขึ้นแบล็กลิสต์ เพื่อเป็นมาตรการที่จะทำให้บริษัทมีความเข้มงวดในกระบวนการทำงานภายในมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ดำเนินการกับบริษัทตรวจสอบบัญชีทั้งที่มีปัญหามาโดยตลอด

ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายของนักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันนั้น น.ส.สิริพร สงบธรรมเลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า จากการเปิดให้ผู้ลงทุนหุ้น STARK ลงทะเบียนเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ 19-25 มิถุนายน 2566 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท หลังจากนี้สมาคมฯ จะนำข้อมูลของผู้เสียหายมาตรวจสอบเบื้องต้น และให้ความรู้ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม

นางชวินดา หาญรัตนกูลนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC กล่าวว่า สมาคมฯ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 เพื่อหาข้อสรุปในการเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนสถาบันที่ลงทุนหุ้น STARK โดยการฟ้องร้องแบบรวมกลุ่มสมาชิก บลจ. ต่ออดีตทีมผู้บริหาร STARK ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับนักกฎหมายเพื่อดำเนินการฟ้องร้อ

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือ DSI ได้สืบทรัพย์ และยึดอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ทั้งยังเร่งตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดและยึดอายัดทรัพย์สินของบริษัทที่กลุ่มผู้กระทำผิดยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปกลับคืนมา ซึ่งดีเอสไอได้ขอความร่วมมือจาก ก.ล.ต.ให้เร่งดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมลอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่าขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกและพยานหลักฐานเรื่องเส้นทางการเงิน เอกสารการจัดซื้อสินค้า ฯลฯ หากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะดูว่าผู้ที่กระทำผิดมีใครเกี่ยวข้องบ้างคาดว่าประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและแจ้งข้อกล่าวหาหรือออกหมายจับบางส่วน ซึ่งดีเอสไอรู้ตัวผู้กระทำผิดบางคนแล้วโดยเป็นกลุ่มผู้บริหารและกรรมการบริษัท

ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่เชื่อว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ได้แก่ อดีตผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) 1 ราย ส่วนอีก 2 ราย เป็นลูกน้องของผู้บริหารรายดังกล่าว

ขณะที่ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อมูลตั้งแต่ปี 2562-64 ของ STARK ไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่ปี 2565 มีการแจ้งว่าจะร่วมทุนกับต่างชาติแล้วยกเลิก จากนั้นก็ส่งงบล่าช้า แล้วเลื่อนส่งงบปี 2565 อีกสองครั้ง จนถูกสั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นพิเศษ กระทั่งถูกขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย จนมาพบความผิดปกติ เช่น ตกแต่งบัญชีผิดปกติ แจ้งข้อมูลรับรู้รายได้เกินจริง ฯลฯ สิ่งที่จะดำเนินการต่อจากนี้ คือ ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย หาแนวทางดำเนินการกำกับควบคุมความผิดเพิ่มเติม เพื่อดูแลบริษัทจดทะเบียนต่อไปในอนาคต

ขณะที่หลายหน่วยงานต่างเร่งมือตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและเอาผิดกับอดีตผู้บริหาร STARK นั้น คณะผู้บริหารบริษัทฯ ชุดปัจจุบันได้เตรียมยื่นศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ  กรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่บริษัทได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีและปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปี 2564 (ปรับปรุงใหม่) และปี 2565 มีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น ตลท.จึงประกาศให้หลักทรัพย์ของบริษัทมีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน

บริษัทชี้แจงว่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนดังกล่าว บริษัทมีความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลักเพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์ และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางดำเนินการแก้ไข ดังต่อไปนี้

1.เจรจากับเจ้าหนี้ที่สำคัญทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหนี้ต่างๆ ระงับการใช้สิทธิ์เรียกร้องให้ชำระหนี้โดยพลัน สนับสนุนแผนการปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ของบริษัท รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อวางแผนการบริหารการชำระหนี้ และวางแผนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

2.จำหน่ายทรัพย์สิน (เช่น หุ้นในบริษัทย่อยที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท สิทธิเรียบร้อยในสัญญาที่สำคัญ) และปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุนคงที่ และค่าใช้จ่ายของบริษัท

3.เพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ดูหุ้นเดิมในปัจจุบัน หรือพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท และ 4.ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ของบริษัท รวมถึงให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาเลือกแนวทางแก้ไขส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ บริษัทจะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ภายใต้สัญญาทางการเงิน แล้วสัญญาที่สำคัญต่างๆ ความต้องการของตลาดในการเข้าซื้อทรัพย์สินของบริษัท และปัจจัยในการกำหนดราคาที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือและการสนับสนุนของเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้อง การให้การสนับสนุนของผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ตลอดจนผลกระทบต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณสมบัติในการดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียน เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกรายของบริษัท

คณะกรรมการและผู้บริหารชุดปัจจุบันของบริษัทมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแก้ไขเหตุดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและบริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงแนวทางดำเนินการแก้ไขเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และกำหนดเวลาของการดำเนินการดังกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ผลกระทบกรณี STARK ไม่เพียงสร้างความเสียหายโดยตรงต่อนักลงทุนและตลาดหุ้น แต่ยังลามไปยังการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนอีกด้วย

 นายสงวน จุงสกุล  ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เผยผ่านสื่อว่า กรณีของ STARK ที่พบการทุจริตและมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เกือบหมื่นล้านบาท ทำให้กระบวนการรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้งระบบเกิดปัญหาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทุกบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้น และธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้จะคิดค่าบริการเพิ่ม เพราะการทำธุรกรรม due diligence มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดความเสี่ยงที่ตรวจสอบไม่ได้

 สำหรับต้นทุนการกู้ผ่านการออกหุ้นกู้เทียบจากสิ้นไตรมาส 1/2566 จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2566 พบว่า ระดับเรตติ้ง AAA รุ่นอายุ 3 ปี ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.24% มาอยู่ที่ 2.74%, อายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.27% มาอยู่ที่ 3.03% และระดับเรตติ้ง A- รุ่นอายุ 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.27% มาอยู่ที่ 3.29%, รุ่นอายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.33% มาอยู่ที่ 3.69% และระดับเรตติ้ง BBB+ รุ่นอายุ 1 ปี เพิ่มขึ้น 0.12% มาอยู่ที่ 3.57%, รุ่นอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้น 0.13% มาอยู่ที่ 3.92%, รุ่นอายุ 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.09% มาอยู่ที่ 4.14% 

นายสงวน กล่าวว่า สถานการณ์การออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มไฮยีลด์ ที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำ ความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนสูง ซึ่งตลาดเริ่มปิด เพราะเห็นสัญญาณขายหุ้นกู้ไม่หมด บางบริษัทต้องการโรลโอเวอร์ 100% แต่ขายหุ้นกู้ใหม่ได้แค่ 50% ขณะที่ความพยายามจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ความเสี่ยงสูงไม่สำเร็จเนื่องจากกำลังซื้อถดถอย และเวลานี้นักลงทุนเริ่มกลับไปให้ความสนใจในผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มากกว่าจะดูจากงบการเงินอย่างเดียว เพราะตอนนี้งบการเงินกำลังถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ

“การตรวจสอบชี้ให้เห็นว่ากรณี STARK ซ้ำรอย บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ซึ่งผ่านไปแล้ว 4 ปี ทำอะไรไม่ได้เลย และเคส STARK ก็มีขนาดใหญ่กว่า มีผลกระทบกว้างไกลกว่าด้วย ตอนนี้ถ้าคิดเม็ดเงินความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ประมาณ 60,000 หมื่นล้านบาท คือจากมาร์เก็ตแคปของหุ้นที่หายไปกว่า 50,000 ล้านบาท และพอร์ตหุ้นกู้อีกเกือบ 10,000 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าวัดความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเลขมหาศาลกว่านั้นมาก น่าจะเป็นเคสทุจริตที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย” นายสงวน กล่าว

 นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและรับประกันการขายหุ้นไอพีโอ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรณี STARK มีผลในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนที่ขาดความมั่นใจต่อหุ้นทั้งตลาด รวมถึงการระดมทุนขายหุ้นไอพีโอด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะมีหุ้นตัวไหนอีกบ้างที่มีลักษณะคล้ายกับ STARK และประกอบกับโดนกดดันจากภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเรื่อง STARK
ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. พบว่า มีบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก โดยบริษัทที่เตรียมเปิดขายหุ้นกู้ไฮยีลด์ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated) จูงใจด้วยผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงสูง เปิดขายในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2566 เช่น บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งงานระบบวศิวกรรมสำหรับอาคาร หุ้นกู้อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 6.50% ต่อปี วงเงินเสนอขาย 600 ล้านบาท ช่วงวันที่ 22-26 มิ.ย. 2566 (nonrated)

บริษัท สิวารมณ์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบ วงเงินเสนอขาย 600 ล้านบาท รุ่นอายุ 1 ปี 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 7% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 7.35% ต่อปี เสนอขายช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย. 2566 (nonrated)

บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) ธรุกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 6.90% ต่อปี วงเงินเสนอขาย 500 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 30 มิ.ย.-4 ก.ค. 2566 (nonrated)

บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7% ต่อปี วงเงิน 500 ล้านบาท เสนอขายวันที่ 3-5 ก.ค. 2566 (nonrated)

บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) ธรุกิจพัฒนาอสังริมทรัพย์ รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.30% ต่อปี วงเงิน 440 ล้านบาท เสนอขายวันที่ 10-12 ก.ค. 2566 (nonrated)

บริษัท เอสจีเอฟ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียน รุ่นอายุ 1 ปี 10 เดือน 16 วัน จ่ายดอกเบี้ย 6.80% ต่อปี วงเงิน 500 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 11-13 ก.ค. 2566 (nonrated)

บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำแบบขายตรง รุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 6.60% ต่อปี วงเงิน 500 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 24-26 ก.ค. 2566 (nonrated)

บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.25% ต่อปี เสนอขายช่วงวันที่ 24-26 ก.ค. 2566 (nonrated)

บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 6.70% ต่อปี วงเงินเสนอขาย 700 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย. 2566 ทริสเรตติ้งจัดอันดับเครดิต BB+

บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจโรงแรมและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 3 ชุด วงเงินเสนอขายรวม 1,300 ล้านบาท รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.25% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.40% ต่อปี และรุ่นอายุ 1 ปี 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 6.90% ต่อปี เสนอขายช่วงวันที่ 11-13 ก.ค. 2566 ทริสเรตติ้งจัดอันดับเครดิต BB-
ส่วนหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับเครดิต ซึ่งเปิดขายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) เช่น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (TBEV), บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAF, บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC), บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI), บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW) เป็นต้น

ก่อนหน้านี้  นางสาวอริยา ติรณะประกิจ  รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มองว่า ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ การออกหุ้นกู้จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งประเด็นการผิดนัดชำระหนี้จากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ไม่ได้กระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุน และบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งระดับสูงสะท้อนว่ามีความมั่นคงทางการเงินสูง และมีความสามารถในการชำระหนี้ให้นักลงทุนได้จากเกณฑ์การให้เครดิตเรตติ้งของบริษัทจัดอันดับที่พิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัทเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ STARK ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งหรือมีเครดิตเรตติ้งต่ำ ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากนักลงทุนให้ความสนใจลดลง เห็นได้จากมียอดจองซื้อหุ้นกู้ไม่คึกคักเมื่อเทียบกับอดีต

นางสาวอริยา ย้ำเตือนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของนักลงทุน สิ่งสำคัญของการลงทุน คือต้องกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหลายบริษัท จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่คุ้มค่าต่อการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งกระบวนการติดตามบังคับให้ชำระหนี้ตามกฎหมายต้องใช้เวลายาวนานมาก

นอกเหนือจากกรณี STARK ที่มีปัญหา เวลานี้ยังมีรายที่ส่อแววขอเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้คือ  ซาฟารีเวิลด์  ซึ่ง  บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAFARI แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของ  บริษัทภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน)  ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 สำหรับหุ้นกู้รุ่น PHUKET208A, PHUKET20DA, PHUKET206A, PHUKET207A, PHUKET207B, PHUKET216A และหุ้นกู้ปรับโครงสร้างหนี้ฯ มูลค่าหุ้นกู้รวม 2,288.70 ล้านบาท โดยที่ประชุมพิจารณาอนุมัติการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการแบ่งชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้คงค้างที่พักไว้ทั้งหมดที่ครบกำหนดในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2566 และยังแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ในวันครบกำหนดไถ่ถอนทั้งหมด

 แรงสั่นสะเทือนจากมหากาพย์โกง STARK ที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาล เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ด้านมืดของตลาดหุ้นไทยที่กำลังรอการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา เพราะกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกและเชื่อว่าไม่ใช่กรณีสุดท้ายอย่างแน่นอน 


กำลังโหลดความคิดเห็น