xs
xsm
sm
md
lg

โบว์ ณัฏฐา ย้อนค่ายส้มด้อยค่าว่าที่ ส.ว. แฉโพยแคนาดาล็อบบี้-เทเสียง กทม.ไม่ต่างกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา อัดกลับกลุ่มการเมืองสีส้ม ตั้งคำถามว่าที่ ส.ว.เสียงตามสาย โวยวายว่าบล็อกโหวตหรือไม่ ชี้พรรคส้มไม่ต่างกัน มี "โพยแคนาดา" เทเสียงกลุ่มสตรี กทม.ทั้งที่โปรไฟล์น่ากังขาไม่ต่างกัน ตัวเองทำได้พอคนอื่นทำสำเร็จกลับโวยวาย ระบุทำตัวสูงส่งกว่าคนอื่น แต่พอคนอื่นทำด้อยค่าแบบนี้เหรอ

วันนี้ (30 มิ.ย.) บนโซเชียลฯ แชร์คลิป น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าวการเมือง และอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เฟซบุ๊กไลฟ์กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายพรรคการเมืองพรรคหนึ่งตั้งคำถามถึงว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากเสียงตามสายหมู่บ้าน ว่าเป็นความประมาทของการจัดตั้งบ้านใหญ่ อาศัยช่องที่กฎหมายอนุญาตให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง และตั้งคำถามว่าทำไมประชาสัมพันธ์เสียงตามสายของหมู่บ้านได้รับเสียงมากถึง 50-60 เสียง ว่า การตั้งคำถามว่าทำไมได้คะแนนเยอะกว่าสื่อที่มีชื่อเสียง อีกทั้งนายลอย ชุนพงษ์ทอง ผู้จัดตั้งคะแนนการเลือกตั้ง ส.ว. ตั้งแต่ระดับจังหวัด ซึ่งเป็นเครือข่ายค่ายการเมืองสีส้ม กล่าวว่า แต่ละกลุ่มมี 6 คนที่ได้คะแนนนำโด่งผิดปกติ นับได้ 120 คน เหมือนเอานักเรียนห้องกิฟต์ 6 คน กับห้องบ๊วย 4 คนมาทำข้อสอบชุดเดียวกัน คะแนนเลยเพี้ยนจนตัดเกรดตรงกลางไม่ได้ จึงเกิดการตั้งคำถามว่ามีการบล็อกโหวตหรือไม่

ตนเห็นว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การเลือก ส.ว. ระดับจังหวัดที่มีการจัดตั้งของกลุ่มการเมืองสีส้มอย่างเข้มแข็ง เพราะคะแนนกลุ่มสตรีในการเลือกตั้งระดับจังหวัด กรุงเทพมหานคร พบว่าคะแนนไปกองอยู่ที่ 2 หมายเลข และมีคนที่ไม่โหวตให้ตัวเองมากถึง 31 คน ดังนั้นคนที่ได้รับการจัดตั้งจากกลุ่มการเมืองสีส้ม หรือขนานนามว่าเป็น ส.ว.ประชาชน สองลำดับแรกมีคะแนน 20-30 คน ส่วนคนอื่นๆ ที่มีโปรไฟล์ที่โดดเด่นได้เพียง 6-7 คะแนน โดยพบว่าผู้ที่มีคะแนนสองอันดับแรก คนหนึ่งเป็นลูกของแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่พบว่าเคยเป็นผู้ประสานงานการจัดนิทรรศการ 6 ตุลาฯ อีกคนหนึ่งจบ ป.6 ทำงานเย็บผ้า ไม่ต่างจากคนที่ได้เป็นว่าที่ ส.ว.ในกลุ่มสื่อ แต่ที่ไม่ได้เขียนไว้คือ ไปม็อบทุกม็อบของกลุ่มราษฎร อยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเข้มแข็ง สองคนนี้มีคะแนนเทกองในรอบจังหวัดกรุงเทพมหานคร แต่พรรคสีส้มกลับบอกว่าผิดปกติเมื่อคัดเลือกระดับประเทศ

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นมาจากแคมเปญ "สมัครเพื่อโหวต" มีการโฆษณาว่าอยากให้ประชาชนธรรมดาสมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์ โหวตให้คนที่เราอยากได้ แต่คนที่ทำแคมเปญนี้ชัดเจนที่สุด คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินสายไปทั่วประเทศ ด้วยแคมเปญ ส.ว.ประชาชน ชวนให้คนสมัคร ส.ว. และสมัครเป็นโหวตเตอร์ ตอนแรกคิดว่าอยากชวนฐานเสียงไปสมัครเยอะๆ ซึ่งไม่ปิดกั้นว่าเป็นใคร เพราะถึงเวลาก็น่าจะได้โหวตตามเจตจำนง แต่พบว่าเมื่อใกล้จะเริ่มการคัดเลือก ส.ว. มีการตั้งกลุ่มออนไลน์ขึ้นมาชื่อว่า "รวมพลคนสมัคร ส.ว." เป็นการรวมตัวของคนที่มีความคิดคล้ายกัน แอดมินคือนายลอย มีโพสต์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า "ผมเคยเตือน ถ้าโปรไฟล์ของคุณเด่นมาก ทุกคนจะรวมหัวกันเขี่ยคุณออกก่อนในการโหวตในกลุ่ม ไม่ให้เป็นคู่แข่งในรอบไขว้ ถ้าหวังจะเป็นตัวแทนของจังหวัด คุณต้องมีกลุ่มจัดตั้ง" เป็นเหตุผลให้เริ่มต้นการจัดตั้ง มีการรวบรวมรายชื่อและเบอร์ติดต่อของคนในเครือข่ายค่ายการเมืองความคิดเดียวกันเท่านั้น

หลังรวบรวมคนได้แล้ว ก็มีการสแกนว่าใครเคยแสดงจุดยืนยังไง จึงได้คนที่มีความคิดเดียวกันกับค่ายการเมืองสีส้ม หลังจากนั้นจึงเริ่มปล่อยรายชื่อที่จะชักชวนให้คนที่สมัครเพื่อโหวตเอาคะแนนมาเทกองรวมกัน เมื่อดูแต่ละรายชื่อล้วนแต่คนที่มีความคิดเดียวกันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เว้นหมวด 1 หมวด 2 การแก้ไขมาตรา 112 การนิรโทษกรรมโดยรวมทุกคดี ชัดเจนว่ารายชื่อทั้งหมดสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคเดียวกัน สุดท้ายจบที่โพยที่ชี้นำให้โหวตเตอร์เดียวกันเทเสียงไปให้ บอกว่าในกลุ่มไหนมีใครบ้างที่ให้เลือกได้ เกือบ 20 กลุ่ม ยกเว้นกลุ่ม 14 สตรีใช้วิธีบอกกันในทางลับ ไม่โชว์โปรไฟล์ เพราะไม่ใช่คนที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความสนใจต่างๆ และมีการเกลี่ยคะแนนโดยให้คนที่เกิดวันไหน เลือกตามโพยวันนั้น เพื่อกระจายคะแนนไปตามคนที่ชี้นำมาแล้วว่า ถ้าอยากเลือกให้ชนะต้องเลือกคนนี้เท่านั้น เมื่อการโหวตระดับจังหวัดเสร็จสิ้นแล้ว ได้ผู้สมัครตามโพยก็ลบโพสต์ออกจากกลุ่มเพื่อทำลายหลักฐาน แต่ทำลายไม่ได้เพราะมีการแชร์ว่อนไลน์กลุ่มไปหมด และผู้สมัครที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายบ่นกันว่าจะร้องเรียนได้หรือไม่ ตนบอกว่าร้องเรียนไม่ได้เพราะยังไม่ได้ผิดกฎหมาย อีกทั้งคนที่ทำโพยชี้นำไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่อยู่ที่ประเทศแคนาดา

มาถึงรอบคัดเลือกระดับประเทศ ก็มีการชี้นำใหม่อีกครั้ง โดยสื่อสารในกลุ่ม "รวมพลคนสมัคร ส.ว." เช่นเดิม โดยนายลอยโพสต์บัตรเลือกตั้งเอาไว้ บอกว่า "ใบแรกต้องมีคนเสียสละโหวต คุณจึงจะได้เข้ารอบ หาจากกรุ๊ปไลน์" มีการเปิดกรุ๊ปไลน์เกิดขึ้น มี QR Code ให้สแกนว่าสำหรับผู้สมัครผ่านเข้ารอบระดับประเทศเท่านั้น แล้วมีการจัดตั้งโหวต โดยใช้ชื่อกรุ๊ปไลน์ว่า "ส.ว.เปลี่ยนประเทศ" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 450 คน โดยมีผู้สมัครส่งประวัติส่วนตัว และมีแอดมินคือนายลอย ตั้งตัวเป็นแม่ทัพ ส่งข้อความ เช่น "ถ้าใครชวนคนมาร่วมในกลุ่มเดียวกันได้ 1 คน แม่ทัพให้เข้ารอบได้ 1 โดยจับสลากเข้า รายละเอียดถามเลขาฯ แม่ทัพ" โดยมีการตั้งเลขาฯ เอาไว้ควบคุมดูแลแต่ละกลุ่ม เท่ากับคนที่อยู่นอกกลุ่มหมดสิทธิ์ในการแนะนำตัว เพราะคัดกรองเอาไว้จัดตั้งสำหรับเครือข่ายสีส้มเท่านั้น โดยมีเบี้ยขาว หรือโควตาในการจัดตั้งคน กลุ่มละ 10 คนเอาไว้ทำบล็อกโหวตกันเอง มีการแต่งตั้งตัวแทนแต่ละกลุ่มและนัดหมายประชุมออนไลน์เป็นระยะ เพื่อคัดเลือกคนที่เข้าสู่บล็อกโหวตในครั้งนี้

เมื่อถึงคืนสุดท้ายก่อนที่จะมีการคัดเลือก ส.ว.ระดับประเทศ นายลอยกล่าวว่า "คืนนี้ไม่มีประชุมนะครับ ขอให้ทุกท่านรักษาสัตย์ ใครที่ไม่รักษาสัตย์ เราจดจำไว้หมด โชคดี" แล้วก่อนหน้านี้ก็มีการจัดงานตลาดนัด ส.ว. เพื่อให้คนในเครือข่ายพบปะและแสดงจุดยืนต่างๆ ตนได้ไปงานซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มไอลอว์ เปิดให้ผู้สมัครทั่วไปเข้าได้ แต่พอเข้าไปพบว่างานนั้นจัดขึ้นเพื่อตอกย้ำวาระทางการเมืองของเครือข่ายตัวเอง และในงานมีการพูดว่ากลุ่มไหนวางตัวไว้แล้วให้เลือกใคร มีการบอกชื่อเสียง สถานการณ์ในช่วงหลังไม่สู้ดี เพราะผู้สมัครรอบระดับประเทศ ต่างคนต่างอยากโหวตตัวเองด้วย ไม่อยากถูกตัดสิทธิเพื่อไปเทคะแนนให้คนอื่น นายลอยก็เริ่มสื่อสารว่า "ผู้สมัคร ส.ว. 99.5% จะได้เห็น 2 สิ่ง 1. เห็นมิตรภาพ 2. เห็นสันดานคน" คืนสุดท้ายก่อนวันโหวต มีการจัดงาน ส.ว.ประชาชน รวบรวมคนในเครือข่ายที่ห้องประชุมโรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อให้คำมั่นสัญญา ชี้นำว่าแต่ละกลุ่มจะต้องโหวตใครบ้างเพื่อให้ได้เสียงมากพอไปสู้กับกลุ่มจัดตั้งอื่นๆ พอมีการถกเถียงกันก็เริ่มเสียงแตกในคืนนั้น

ระหว่างนั้นก็มีโพสต์ของนายธนาธร บอกผู้สมัครที่เรียกว่า "ผู้สมัคร ส.ว.ฝ่ายประชาธิปไตย" ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม อย่าเห็นแก่ตัว ต้องเทคะแนนไปในทิศทางที่จะทำให้กลุ่มจัดตั้งชนะได้ แต่ตนได้ทราบจากข่าวสารในภายหลังว่า มีการเสียงแตก มีการหักหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่รับรู้ในเวลาต่อมา คือ เครือข่ายค่ายสีส้มมีตัวเล่นที่ไม่แข็งแรงพอ และเสียงที่บล็อกเอาไว้มีจำกัด ก็มีเฉพาะในหมู่ 300 คนที่เข้าไปประชุมในคืนก่อนหน้านั้น ผลก็คือได้ ส.ว.สีส้ม 20 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ผิดปกติ ซึ่งนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้สมัคร ส.ว. กล่าวว่า ต้องใช้ต้นทุนอะไรผ่านการคัดเลือก และที่ว่ามีกลุ่มจัดตั้งนั้น กลุ่มการเมืองอื่นๆ ก็มีเช่นนั้นหรือไม่ กลุ่มสื่อในหลายจังหวัดพบว่าโหวตเตอร์ไม่ได้เลือกตัวเอง แต่เลือก 2 หมายเลข มีเครือข่ายแน่นอน ถือว่าปกติ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบมาไม่ได้บอกว่าไม่มีการฮั้ว แต่กลไกการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ออกแบบมาเพราะรู้อยู่แล้วว่าจะมีการฮั้ว จึงให้ฮั้วแล้วยากขึ้น ปัญหาก็คือว่าแข่งกันฮั้วแล้วกลัวแพ้ ประเทศนี้เล่นวาทกรรมว่าฝ่ายหนึ่งฮั้วได้ โดยอ้างว่าไพรมารีโหวต อันนี้ไม่แฟร์ เพราะกติกาเหมือนกัน และเขาก็ฮั้วเหมือนกัน ใครๆ ก็ไปล็อบบี้ ที่น่าสนใจคือเขาจัดตั้งแบบไหนต่างหาก ไปว่าเครือข่ายอุปถัมภ์แล้วอีกฝ่ายไม่อุปถัมภ์เหรอ ในกติกาเดียวกันไม่สามารถปรามาสหรือดูแคลนใครว่าเขาจะมาแบบไหน

"เครือข่ายการเมืองหรือความสัมพันธ์ของเขา ทำสิ่งเดียวกับเครือข่ายค่ายการเมืองสีส้มทำ แต่เขามีเครือข่ายที่กว้างขวางกว่าแล้วประสบความสำเร็จ หยุดสองมาตรฐานได้แล้ว ตอนที่พวกคุณทำในรอบจังหวัด กทม. คุณก็ดันคนที่โปรไฟล์น่าตั้งคำถามขึ้นมาเหมือนกัน จบ ป.6 เหมือนกัน ทำงานเย็บผ้าเหมือนกัน เอกลักษณ์เดียวที่ต่างกันก็คือ เขาเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองเดียวกับคุณ แต่เมื่อมีการจัดตั้งจากกลุ่มอื่น คุณกลับไปตั้งคำถามกับโปรไฟล์ของเขา และคะแนนที่เขาได้แบบนี้เหรอ ทั้งที่ในรอบ กทม. คะแนนของคุณโดดหนักกว่าอีก คุณจัดตั้งสำเร็จใน กทม. คุณจัดตั้งไม่สำเร็จในรอบประเทศ มันก็แค่นั้นเอง ...

ฝ่ายหนึ่งใส่เสื้อสีเหลือง ส.ว.ประชาชนถ้าให้ใส่เสื้อก็ต้องเป็นสีส้ม ถามว่าความต่างคืออะไร อาจจะมีความต่างทางอุดมการณ์ เครือข่ายที่อยู่คนละเครือข่ายกัน ถามว่าเขาไม่ใช่ประชาชน ไม่ใช่ ส.ว.ประชาชนเหรอถ้าเขาได้รับเลือกเข้าไป แล้วสิ่งที่เขาทำต่างกับคุณยังไง คุณระดมผู้สมัครให้สมัครกันทั่วประเทศ เขาก็ระดมผู้สมัครให้สมัครกันในจังหวัดที่เขาระดมได้ คุณมีการชี้นำว่าให้เลือกโหวตใคร พวกเขาก็ชี้นำได้เช่นกัน แต่ถึงเวลาตอนที่คุณทำแล้วประสบความสำเร็จในรอบกรุงเทพฯ คุณไม่พูดอะไรเลย ทั้งที่ความผิดปกติไม่ได้ต่างกัน ถึงเวลาคนอื่นทำ เขาประสบความสำเร็จในรอบประเทศ คุณกลับมาด้อยค่า นี่คือความสองมาตรฐานของค่ายการเมืองสีส้ม เพราะฉะนั้นหยุดตั้งคำถามได้แล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระดานผลโหวต แนวร่วมพยายามที่จะออกมาปั่นกันใหญ่เลยว่า เอาผลคะแนนออกมาดูสิ มันผิดปกติไหม มีคนไม่โหวตตัวเองเต็มไปหมด อ้าว แล้วตอนคุณบอกให้คนสมัครเพื่อโหวตแล้วไม่โหวตตัวเองล่ะ คนของคุณทำมันสูงส่งกว่าคนอื่น แต่พอคนอื่นทำกลับเป็นเรื่องที่ต้องถูกมาด้อยค่าแบบนี้เหรอ" น.ส.ณัฏฐากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น