xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เริ่มประกาศรับรอง ส.ว.3 ก.ค.เปิดให้ค้านใน 3 วัน สรุปมี 614 เรื่องร้องเรียน ปัดวิจารณ์คนได้รับเลือกไม่ตรงปกอาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ กกต.เตรียมประกาศรับรอง ส.ว. 200 คน นับตั้งแต่ 3 ก.ค. เผย ร้องคัดค้านภายใน 3 วัน ระบุ มีเรื่องร้องเรียน 614 เรื่อง เดินหน้าสอบโพย-บล็อกโหวต-พัก รร.ต่อ ปัดวิจารณ์โฉมหน้าวุฒิสภาชุดใหม่ ไม่ตรงปกอาชีพ

วันนี้ (27 มิ.ย.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือก ส.ว.ระดับประเทศ ว่า วันนี้ กกต.ได้มีการประกาศผลคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว. 200 ราย และสำรองอีก 100 ราย ตนในฐานะผู้อำนวยการการเลือก ส.ว.ระดับประเทศ และได้แจ้งผลคะแนนให้กับ กกต.แล้ว ซึ่ง กกต.ต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน ถ้าเห็นว่า การเลือก ส.ว.เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม จึงจะประกาศการเลือก ส.ว. คือ นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไป

ส่วนกรณีหากจะคัดค้านการเลือก ส.ว.ก่อนประกาศผล จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน นับจากวันที่กรรมการประจำสถานที่เลือก (กปล) วินิจฉัย ซึ่งจะเป็นการยื่นร้องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องของความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือสามารถร้องต่อ กกต.ก็ได้ หากเห็นว่าการดำเนินการในวันเลือกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเห็นว่าเป็นกรณีเป็นการเลือกที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ยังสามารถร้องต่อ กกต.เพื่อให้ กกต.พิจารณาเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลทั้งก่อนและหลังการประกาศผล

นายแสวง ยังกล่าวกรณีมีผู้สมัครหลายรายตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการลงคะแนน ว่า กกต.ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งได้ยืนยันมาว่าจะดำเนินการเรื่องความไม่สุจริต เที่ยงธรรม ทั้งเรื่องการฮั้ว การบล็อกโหวต

“หากระเบียบเก่ายังอยู่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้น้อย และ กกต.สามารถป้องกันได้ แต่เมื่อระเบียบยกเลิกต้องดูกฎหมาย อย่างแรกคือการกระทำว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดปกติหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นใครพูดว่าการบล็อกโหวต หรือโพย ว่าผิดกฎหมาย เมื่อ กกต.ทำงานก็ต้องมาพิจารณาว่าการกระทำเช่นนี้มีความผิดหรือไม่ อย่างที่ 2 คือ ความผิดนั้นมีองค์ประกอบความผิดอย่างไร และจะต้องไปหาข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายก่อนที่จะวินิจฉัย ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราบอกว่าเรื่องฮั้ว คือ การบล็อกโหวต พื้นฐานอาจจะเกิดจากเงินก็ได้ ซึ่งนั่นผิดกฎหมายอย่างแน่นอนตามมาตรา 77 พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำหนดในเรื่องของการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จะเข้าองค์ประกอบความผิดแน่นอน แต่ถ้าเป็นลักษณะชวนกันมา หรือแลกคะแนนกัน โดยไม่เสียเงินตรงนี้เป็นปัญหาทางกฎหมาย แต่ระเบียบ กกต.ได้ถูกยกเลิกไป ส่งผลให้เกิดปัญหาในการนำกฎหมายไปจับว่าเรื่องนี้จะสุดแค่ไหนอย่างไร แต่ กกต.ก็จะรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงแรม ก็จะต้องมีการตรวจสอบว่ากลุ่มไหนเข้าไปพัก ใครเป็นคนยอมใครเป็นคนจ่าย ลงทะเบียนใครเป็นคนให้เงิน ซึ่งตรงนี้จะเข้าข่ายความผิดเรื่องการจัดเลี้ยง”

นายแสวง ยังกล่าวถึงเรื่องร้องเรียนว่า ขณะนี้มีทั้งหมด 614 เรื่อง จำแนกเป็นเรื่องการร้องเรียนคุณสมบัติให้ลบชื่อ 400 กว่าเรื่อง หรือคิดเป็น 65% และร้องเรื่อง ความไม่สุจริต ให้เงิน ให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 14% ส่วนอีก 4% เป็นการร้องเรื่องการทุจริต ให้ลงคะแนน จ้างสมัคร เรียกรับ ให้ เพื่อลงคะแนน รวมถึงการนับคะแนน เจ้าหน้าที่ขานคะแนน ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นการร้องให้ลบชื่อออกในการเลือกระดับอำเภอมากที่สุด มีการยื่นเรื่องไปที่ศาลฎีกา และศาลมีคำวินิจฉัย โดยสิ่งที่ กกต. จะต้องดำเนินการต่อคือการระงับสิทธิสมัครชั่วคราว (ใบส้ม) ส่วนการร้องระดับจังหวัดมี 175 เรื่อง ระดับประเทศยังไม่มี

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ได้รับเลือก ส.ว.เป็นคนของกลุ่มการเมืองหนึ่ง นายแสวง กล่าวว่า เรื่องนี้ เราตรวจสอบอยู่แล้ว คำร้องเดิมก็มีลักษณะอย่างนี้ แต่ตรวจสอบแล้วก็ต้องดูว่าเข้าความผิดตามกฎหมายหรือไม่ เราพยายามจะเอากฎหมายมาใช้ให้ได้เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม แต่กรณีที่บอกว่า “มีโพย” มี “บล็อกโหวต” ก็ไม่มีใครกล้าพูดคำว่าผิดกฎหมายสักคน มีแต่คนพูดว่า “เป็นข้อสังเกต” นอกจากเราจะไปสืบว่าการไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน ลงคะแนนให้กันมีการให้เงิน มีการให้ประโยชน์ มีการจัดเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งกำลังหาพยานหลักฐานตรงนี้มาสนับสนุน หากเป็นเช่นนี้ผิดกฎหมายแน่นอน ทั้งนี้ การฮั้วกรณีการไปเจอกันที่โรงแรม นนทบุรี ปทุมธานี หรืออยู่เมืองทองจริงๆ มาก่อน 3-4 วัน ไม่ถือว่าผิดแต่ว่าถ้าเกิดทำเกินนั้นเช่นมีคนจัดเลี้ยงมีการให้เงิน ให้ค่าที่พักเราก็ต้องหาส่วนนี้

เมื่อถามย้ำว่า มีผู้สมัครบางรายเขียนหมายเลขเหมือนกันทั้ง 3 ใบ เป็นการบล็อกโหวตหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เป็นสมมติฐานว่า เป็นการให้ประโยชน์ลงคะแนนแบบนี้หรือไม่ ไม่ว่าศูนย์คะแนนหรือคะแนนเดียวกัน กกต.ต้องไปสืบเสาะหาข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างย้อนไปในการเลือก ส.ว.ปี 2562 ที่มีการแลกคะแนนหรือขอคะแนนกัน ซึ่งก็เป็นความผิด แต่ในปัจจุบันไม่ผิด

เมื่อถามว่า มีการเข้าไปเจรจาในห้องน้ำ นายแสวง กล่าวว่า ตนก็เข้าห้องน้ำชายหลายรอบ และมีคนของ กกต. อยู่ในนั้น ก็พบเหตุการณ์ว่ามีการเจรจาแต่ว่าจับยาก การท่องหมายเลขต่างๆ เขาก็บอกได้ทำการบ้านมา หรือตัดสินใจมาจากข้างนอก หรือจากที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะ กกต.ไม่อนุญาตให้เอาเอกสารอะไรเข้าไปในห้องเลือก ให้ใช้เอกสารใหม่ที่แจกให้เท่านั้น ส่วนการพูดคุยเจาะจงว่าให้มีการเลือกหมายเลขนั้น หมายเลขนี้นั้นก็ต้องดูด้วยว่า มีการให้เงินกันหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นไปตามระเบียบเดิม จะห้ามขอคะแนน แลกคะแนนกัน แต่เมื่อศาลตัดสินให้การแนะนำตัวสามารถทำได้ ดังนั้น การที่ผู้สมัครพูดคุยกันเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ไม่มีการจ่ายเงิน ซึ่งคิดว่าไม่มีใครกล้าจ่ายเงินในนั้น อย่างไรก็ตาม ก็อยู่ที่การสืบสวนสอบสวน ยกตัวอย่าง กลุ่มคนที่ได้คะแนนใกล้ๆ กัน ก็อาจจะไปดูต้นทางการเงิน แต่ในห้องน้ำไม่มีการจ่ายเงินเพราะว่าเราดูแลดี

เมื่อถามว่า บางคนมี 0 คะแนน จะต้องมีการสะท้อนอะไรหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็ต้องมีการพิสูจน์

เมื่อถามว่า มีผู้สมัครโวยวายว่า ขีดคะแนนได้ 13 คะแนน แต่พอรวมคะแนนกลับได้เพียง 12 คะแนน แล้วคะแนนหายไป นายแสวง กล่าวว่า เพราะทุกคะแนนสำคัญมาก และการเลือกระดับประเทศเป็นการเลือกครั้งสุดท้ายแล้ว ดังนั้น ของเราอ่านช้า ชัด โปร่งใส และมีท่าทีที่เป็นมิตรแต่เด็ดขาด อีกทั้งยังมีกล้องวงจรปิด 4 ตัว เพื่อดูพฤติกรรมคนในแต่ละกลุ่ม ซึ่งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ศาลก็ใช้กล้องนี้มาตัดสินว่ามีการท้วงติง หรือไม่มีการทำถูกต้องหรือไม่

“ส่วนวันที่ 26 มิ.ย. ผู้สมัครนับและขีดคะแนนเอง แต่ในกระดานไม่ใช่ มันเหมือนคนตกลงกันมา ได้ 3 คะแนน แต่พอผลออกมาได้ 2 ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเพื่อนที่เข้าคูหาแล้วเขียนเลขให้หรือไม่ ซึ่งมีกล้องชัด ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กับความรู้สึกของคน เหมือนที่มีคนเข้าห้องน้ำแล้วพูดว่า “ผมถูกหักหลัง” มันก็เป็นลักษณะเดียวกัน”

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ผู้สมัครคนดังตกรอบ นายแสวง กล่าวว่า สำหรับตนผู้สมัครเท่ากันหมด

เมื่อถามเพิ่มเติมว่า หากจะมีการจัดเลือก ส.ว.ครั้งต่อไปจะใช้เวลานานเช่นนนี้หรือไม่ นายแสวง ขำก่อนที่จะกล่าวว่า ถ้ายังใช้ระบบนี้อยู่ อย่างน้อยต้องดีขึ้น ใช้เวลาแน่นอน แต่ กกต.อาจจะรับมือยากขึ้นก็ได้ เช่น ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นครั้งแรก เราทำอะไรก็ง่ายเพราะคนยังไม่ไหวตัว แต่พอการเมืองไหวตัวจะยากทันที จะมีการเตรียมการเพราะรู้ว่าเกมจะเดินไปเช่นนี้ แต่กกต.ต้องรับมือให้ได้ และเชื่อว่า การบริหารจัดการจะดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตอนนั้นคงไม่ใช่ตนที่จะมารับผิดชอบแล้ว

ส่วนว่าที่ ส.ว.บางรายมีคุณสมบัติไม่ตรงกลุ่มอาชีพ แต่ได้รับเลือกนั้น เดิมตามกฎหมาย อาชีพจะต้องมีองค์กรรับรอง แต่เมื่อไปดูรัฐธรรมนูญไม่ต้องมีองค์กรรับรอง เพราะไม่อยากให้มีเจ้าพ่ออีกคนหนึ่ง เพื่อมากรองคนเข้ามา ในกลุ่มวิชาชีพนั้น องค์กรนั้น แต่อยากให้ประชาชนเดินเข้ามาสมัครโดยมีผู้รับรองไม่ต้องจบปริญญาตรี ความรู้คือความรู้จริงๆ มาจากอาชีพจัดการทำงาน ไม่ใช่ปริญญา ให้ทุกคนสามารถเข้ามาสมัคร และกฎหมายก็ออกแบบมาครอบคลุม 20 กลุ่มอาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ เพื่อเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย แล้วให้ตัวเองเป็นผู้ถูกเลือก และผู้มีสิทธิได้รับเลือกด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่สามารถไปคลุมพฤติกรรมคนได้ทุกอย่าง ซึ่งจนถึงตอนนี้มีคนร้องเข้ามาเยอะที่สุด คือ เรื่องคุณสมบัติ ทั้งนี้ กฎหมายได้ให้สิทธิเขา ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาชีพทำนา บางคนทำนาเกลือ ก็มาอยู่กลุ่มอาชีพทำนา แต่ถ้าไปดูตามกฎหมายมันให้สิทธิเขา

เมื่อถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า มันเกินกำลังคนตัวเล็กๆ อย่างตน ก็เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน เพราะสภาออกแบบมาเช่นนี้ กกต.ก็มีหน้าที่ทำ เพียงแต่ต้องทำให้ดีที่สุด ขณะนี้คนได้เห็นหน้าตา ส.ว.ชุดใหม่แล้ว บางคนบอกให้ลองไปก่อน หรือถ้าทำผิดก็สอบอยู่แล้ว แต่บอกว่าได้ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญออกแบบไว้สวยแน่นอน แต่เมื่อใช้แล้ว กกต.ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และจนถึงวันนี้ก็กำลังจะส่งรายชื่อแล้ว นอกจากจะขวักคนผิดออก ส่วนข้อวิจารณ์ต่อหน้าตา ส.ว.ชุดใหม่ที่สังคมมอง ตนขอไม่ออกความเห็น อย่าให้ตนมีความเห็นเลย เพราะตนจะเดือดร้อน


กำลังโหลดความคิดเห็น