“ปานเทพ” ยกเหตุช่วงคลายล็อก สุดท้ายยากัญชา ไม่ถึงมือประชาชนเพราะหมอบางคนมีอคติ ผลประโยชน์ทับซ้อน แนะควรออก พ.ร.บ.ควบคุม เหมาะสมกว่า
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่ออนาคตกัญชาไทยที่มีความพยายามจากบางฝ่าย ในการให้กลับเป็นยาเสพติด ว่า กลุ่มที่ต้องการนำกลับไปเป็นยาเสพติดมักจะให้เหตุผลว่า แม้จะเอากลับไปแล้วก็ยังสามารถใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขอย้ำว่าประเทศไทยได้เคยมีช่วงเวลาในการที่ให้ช่อดอกของกัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดแต่ยังคงใช้ในทางการแพทย์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ของสังคมไทยตามมา
คือ แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชาให้ผู้ป่วย ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ใช้กัญชานอกระบบทางการแพทย์ จึงทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนถูกจับกุมไปอยู่ในเรือนจำ
ขอให้ศึกษารายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดในผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 ในประเทศไทย ซึ่งศึกษาโดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและคณะ
โดยการศึกษาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่กัญชายังเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ กลับพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆ นอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 ทั้งที่ตอนนั้นก็คลายล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ได้ แต่กลับมียากัญชาถึงมือประชาชนน้อยเหลือเกิน ทั้งที่กัญชามีประสิทธิภาพในการรักษา เพราะผลการศึกษาเดียวกันนี้พบว่าหลังใช้กัญชา ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ 93 ทั้งผู้ป่วยเบาหวาน แพ้เหงื่อตัวเอง แพ้ความร้อน งูสวัด ก้อนเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ AIDS สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ ก้อนเนื้อที่ต่อมลูกหมาก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อัมพาตครึ่งซีก เกาต์ ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจอ่อนๆ เป็นต้น นี่คือประสิทธิภาพของกัญชา ซึ่งประชาชนต้องลอบใช้ แม้ว่าตอนนั้นจะคลายล็อกก็ตาม
เราทราบกันดีว่าที่แพทย์ไม่จ่ายยากัญชาก็เพราะข้ออ้างว่าไม่ได้มีงานวิจัยที่ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ และไม่ได้เป็นข้อบ่งใช้ภายใต้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข หรือมีอคติและความไม่เข้าใจในเรื่องกัญชา แม้กระทั่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับยาแผนปัจจุบันอย่างอื่น สุดท้ายแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ ประชาชนที่ใช้กัญชาเป็นทางเลือกด้านการรักษาสุขภาพก็หมดโอกาสนั้นเพราะหมอไม่สั่งยา นี่คือปัญหาของการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด แล้วให้สิทธิ์เฉพาะกับแพทย์ในการจ่ายยา ก็เหมือนทำลายยากัญชาไปโดยปริยาย
“ดังนั้น อย่ามาอ้างว่าถึงเอากลับเป็นยาเสพติด ประชาชนก็ใช้กัญชาดูแลสุขภาพตัวเองได้ เพราะประสบการณ์มันให้คำตอบไว้หมดแล้ว ขนาดคลายล็อกให้ใช้ ประชาชนยังเข้าไม่ถึง หากเอากลับไปเป็นยาเสพติด ก็อวสานได้เลย”
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก คนที่ใช้กัญชานอกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพราะแพทย์ไม่จ่ายยาให้ ก็ต้องกลับไปเป็นอาชญากรนำไปติดคุกตะรางนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่ นี่ก็เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ได้
ทั้งนี้ หากมีการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การมีข้อกำหนดที่ยุ่งยากและเป็นภาระเกินไปในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เป็นมิตรกับการจ่ายกัญชาให้คนไข้ แล้วก็เลือกที่จะไม่จ่าย แม้ชาวบ้านจะร้องขอก็ตาม
และในความเป็นจริงในช่วงกัญชาเป็นยาเสพติดแต่อ้างว่าใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์กัญชาที่รัฐบาลลงทุนผลิตให้โรงพยาบาลต่างๆ จ่ายให้ผู้ป่วย กลับปรากฏว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชาให้คนไข้และปล่อยให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาหมดอายุไป ในขณะที่ประชาชนกลับต้องหาน้ำมันกัญชาใต้ดินเพื่อมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
ณ จุดหนึ่งประชาชนจะหาทางเข้าถึงยากัญชาเอง แล้วจะเกิดเรื่องแบบเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่คุณยายอายุ 70 ปี ปลูกกัญชาเพื่อต้มกินรักษาโรคเพื่อการพึ่งพาตัวเอง แต่กลับถูกจับกุมและขังคุก เราต้องการให้เหตุการณ์ทำนองนี้กลับมาอีกหรือไม่
“เรื่องของกัญชาจะต้องคำนึงถึง 2 ด้าน คือ เมื่อกัญชา คือ ยา มีสรรพคุณในการรักษา เราต้อง
1. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นโดยไม่ถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนทางการแพทย์บางกลุ่ม
2. ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชาอย่างเข้มงวด และผู้ที่ห้ามใช้กัญชาอย่างเคร่งครัด และยังกำหนดให้มีบทลงโทษรุนแรงกว่ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ก็ยังได้
และการจะทำเช่นนั้นได้ ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาด้วยการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดโดยอ้างว่าจะยังคงใช้ทางการแพทย์ได้ แต่จะปล่อยให้สถานการณ์ที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมทั้งระบบก็ไม่ได้เช่นกัน
ทางออกเรื่องนี้จึงทำได้เพียงประการเดียวคือ ต้องเร่งตราพระราชบัญญัติในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา และกัญชงทั้งระบบ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเอาความจริงมาพูดกันเท่านั้น”