วันนี้(18 มิ.ย.)นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อความเชื่อเรื่องกัญชา มีผลต่อสติปัญหา หรือ IQ ของเด็ก และเยาวชน ว่า แม้ว่ากฎหมายในประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้กัญชา หรือและยาเสพติดใดๆ อย่างไรก็ตามเมื่อความจริงปรากฏว่าเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งมีปัญหาทางสุขภาพจิตจากภาวะความเครียด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาส่วนตัว จึงมีโอกาสที่จะมีคนบางกลุ่มฝ่าฝืนกฎหมายขายสุรา ขายบุหรี่ ขายกัญชา ขายยาบ้า หรือหรือยาเสพติดอื่นๆให้กับเด็กและเยาวชนได้
แม้ว่ากัญชาจะเสพติดยากกว่าสุราและบุหรี่ และมีอันตรายน้อยกว่ายาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท แต่ถึงกระนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไม่มีกฎหมายควบคุม หากแต่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการจับกุมและลงโทษผู้ใหญ่ที่จำหน่ายสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้นและจริงจัง
อย่างไรก็ตามเมื่อติดตามผลการศึกษาในมลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการเปิดการนันทนาการกัญชาให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายมาหลายปี ก็มีปัญหาในลักลอบการใช้กัญชาในเยาวชนเพิ่มขึ้นอยู่ดี หากแต่ผลการศึกษาอีกด้านกลับพบว่าเด็กเยาวชนดื่มสุราลดลง สูบบุหรี่ลดลง และลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงอื่นๆลดลง มีการจบการศึกษามากขึ้นและตกออกน้อยลง ย่อมแสดงว่ากัญชาอาจจะไม่ได้ทำให้ระดับสติปัญญาลดลงเสมอไปเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยจำนวนมากก็ได้
ทั้งนี้เมื่องานวิจัยจำนวนมากส่วนใหญ่พบว่าผู้ใช้กัญชาซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา แต่อาจจะแปลได้ 2 ทาง คือ ทางที่หนึ่งแปลว่ากัญชาทำให้ระดับสติปัญญาของเด็กต่ำลงจริงๆ หรือ ทางที่สองแปลว่าเด็กมีปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาส่วนตัวอยู่แล้ว จึงทำให้ระดับสติปัญญาต่ำอยู่แล้ว จึงใช้กัญชาเพื่อลดความเครียด ลดภาวะวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้าก็ได้
ด้วยเหตุผลนี้จึงมีนักวิจัยจำนวนหนึ่งเริ่มเห็นปัญหา “ตัวแปรกวน” ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการตีึความผิดในงานวิจัย และจำเป็นจะต้องออกแบบงานวิจัยให้มีข้อสรุปที่ยอมรับและมีความชัดเจนได้มากกว่านี้
วิธีการหนึ่งก็คือตัดตัวแปรความแตกต่างให้เหลือน้อยที่สุด ก็คือ “เปรียบเทียบในคู่แฝด” ซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน อยู่ครอบครัวเดียวกัน รับประทานอาหารในสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกัน สถานภาพทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาไม่แตกต่างกัน ฯลฯ แม้จะยังเหลือตัวแปรกวนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุดวิธีหนึ่งเท่าที่จะทำได้ในเวลานี้
งานวิจัยชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เรียกว่า Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อปี พ.ศ.2559 ใช้ประชากรทดสอบ “ฝาแฝด” 3,066 คน แบ่งเป็นการทดสอบระดับสติปัญญา 2 รูปแบบ โดยแบ่งเป็นการวัดระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว (I.Q.) 2 ช่วง คือช่วงเวลาก่อนใช้กัญชาระหว่างอายุ 9-12 ปี กับช่วงเวลาที่ใช้กัญชาแล้วระหว่างอายุ 17-20 ปี กลับพบว่ากัญชาไม่ได้ส่งผลทำให้มีนัยยะสำคัญในกลุ่มฝาแฝด แต่สิ่งที่มีผลต่อสติปัญญาลดลงกลับเป็นปัจจัยปัญหาครอบครัว
เช่นเดียวกันกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการเสพติด Addiction เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้ทำการวิจัยประชากรกลุ่มประชากรที่เกิดในอังกฤษและเวลล์ระหว่าง พ.ศ. 2537-2538 เข้าถึงกัญชาและทำการตรวจวัดระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว (I.Q.) สรุปว่า การใช้กัญชาในระยะสั้นของกลุ่มคนหนุ่มสาวไม่ปรากฏว่าเป็นสาเหตุของการลดลงระดับสติปัญญาโดยรวมแม้กระทั่งกลุ่มคนที่พึ่งพา (ติด)กัญชาแล้วด้วย แต่กลับพบปัญหาครอบครัวที่ทำให้ระดับสติปัญญาลดลง
“สอดคล้องไปกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการติดยาและแอลกอฮอล Drug Alcohol Dependence เมื่อปี พ.ศ.2563 พบสาระสำคัญคือ ผู้ใช้กัญชาในกลุ่มฝาแฝดมีผลต่อสติปัญญาไม่มาก แต่สิ่งที่มีผลต่อสติปัญญาความคิดมากกลับเป็นปัญหาเรื่องรหัสพันธุกรรมมากกว่า เมื่อพิจารณาไปพร้อมกับงานวิจัยก่อนหน้านี้จึงมีคำแนะนำว่ากัญชาอาจจะไม่ใช่สาเหตุของการลดลงในความสามารถในกระบวนความคิดและสติปัญญาสำหรับผู้ใช้กัญชาทั่วไป
อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้กัญชาอย่างเด็ดขาด และควรจะมีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้น ควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่เด็กฝ่าฝืนกฎหมายมาใช้กัญชา สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กันไป ด้วยการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว”